ย้อนรอยประเทศไทยสามารถ “ปลดธงแดง” ได้สำเร็จ
จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้มีการประชุม ICAO SSC Committee พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) และด้วยผลจากมติดังกล่าว สถานภาพในเว็บไซต์ของ ICAO ในส่วนของ Safety Audit Results ซึ่งเคยมีรูปธงแดงอยู่ด้านหน้าชื่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้รับการถอดออก ทำให้ประเทศไทยสามารถ “ปลดธงแดง” ได้สำเร็จ
มติดังกล่าวเป็นผลมาจากในช่วงวันที่ 20-27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ICAO ได้ส่งคณะผู้ตรวจสอบ (ICAO Coordinated Validation Missionหรือ ICVM) เข้ามาตรวจสอบยืนยันความก้าวหน้าและความครบถ้วนของการดำเนินงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ในการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยจำนวน 33 ข้อและกรณีต่อเนื่องอีก 35 ข้อ ในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ รวมถึงได้เยี่ยมชมระบบการจัดการความปลอดภัยของสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่แล้ว 2 สายการบิน
การปลดธงแดงดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลของความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นของทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติของภาครัฐ ซึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ ๕ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนและ CAAT สายการบินทุกสาย ทั้งที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ไปแล้ว 11 ราย และส่วนที่ยังรอการตรวจสอบอีก 10 ราย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ที่ CAAT ได้ว่าจ้างและจัดทำความตกลงเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในด้านเทคนิค
ICAO มีกำหนดที่จะส่งรายงานผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการให้ประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้
การปลดธงแดงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการกลับคืนสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ในระดับสากล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและ CAAT ยังคงมีภารกิจที่ต้องปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Safety Oversight Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USOAP-CMA) และด้านการรักษาความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USAP-CMA) เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก
รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่ ICAO ได้ระบุไว้ในการตรวจสอบเมื่อมกราคม 2558 และในการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยเมื่อวันที่ 11 – 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้ครบทุกข้อ
ทั้งนี้ กพท.ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐานของ ICAO มาปฏิบัติในประเทศ (Effective Implementation) ของไทยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศสมาชิกทั้งหมดของ ICAO
อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง?
จากประชาชาติธุรกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง?
อีไอซีมองว่าการปลดธงแดงจะส่งผลดีต่อไทยทั้งในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมการบิน การปลดธงแดงจะช่วยสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานด้านการบินของไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวในการเลือกใช้สายการบินสัญชาติไทย อีกทั้งยังอาจส่งผลให้สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ปรับเพิ่มระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 2 ซึ่งห้ามการเปิดเส้นทางใหม่ในสหรัฐฯ เป็นประเภท 1 ดังเดิมก่อนถูกปักธงแดง สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางในรูปแบบการเช่าเหมาลำ เนื่องจากหลายสายการบินที่ได้ AOC recertification สามารถกลับมาให้บริการได้แล้ว
การแข่งขันระหว่างสายการบินมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่และการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายสายการบินเตรียมเปิดให้บริการในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จากสนามบินหลักอย่าง สุวรรณภูมิและดอนเมืองหรือจากสนามบินรองอื่นๆ เช่น อู่ตะเภา เชียงใหม่ ภูเก็ต นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงบุคลากรด้านการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค เป็นต้น
อีไอซีมองข้อจำกัดจากปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ในขณะเดียวกัน สนามบินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม เช่น นาริตะของญี่ปุ่น และอินชอนของเกาหลีใต้ ก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก
แผนการพัฒนาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้านการบินแล้ว การที่ CAAT สามารถปรับปรุงให้มีมาตรฐานในระดับโลกได้ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นและดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการทั้งสองมากยิ่งขึ้น
กสิกรฯชี้ ICAO ปลดธงแดงไทย หนุนรายได้ธุรกิจสายการบินปี’61 เฉียด 3 แสนล้าน
จากประชาชาติธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า นับว่าเป็นข่าวดีอย่างมากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO หลังจากที่ได้ขึ้นธงแดงตั้งแต่ มิถุนายน ปี 2558 อันส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายอย่าง ต่อเนื่องตามมา ทั้งการปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศจากระดับปกติ (Category1) เป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Category2) ขององค์การบริการการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือFAA) และความคลางแคลงใจในมาตรฐานความปลอดภัยจากนานาประเทศ จนนำไปสู่การที่เครื่องบินของไทยถูกตรวจสอบ ณ ลานจอด (Ramp Inspections) ในท่าอากาศยานต่างประเทศเข้มข้นขึ้น โดยแม้ผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัดเพียงถูกตั้งข้อจำกัดการปฏิบัติการทางการบิน จากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จากกรณีปัญหา ICAO[1] และจากสหรัฐอเมริกากรณีปัญหา FAA[2] เท่านั้น แต่ผลกระทบทางด้านภาพลักษณ์มีซึ่งระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจสายการบินของไทย รวมถึงการที่ภาครัฐได้มุ่งเป้าให้อุตสาหกรรมการบินเป็นกลไกสำคัญในการผลัก ดัน EEC และเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า
จับตาท่าทีของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ FAA ภายหลัง ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย คาดว่า จะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจการบินในไตรมาสสุดท้ายของปีเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 ล้านบาท
สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจสายการบินของไทยที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางการบินนั้น เริ่มตั้งแต่ ICAO ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทยให้แก่ภาคีสมาชิก ทราบ คือ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 7 เดือน คิดเป็นมูลค่าค่าเสียโอกาสของสายการบินของไทยทั้งสิ้นกว่า 11,300 ล้านบาท โดย หลังจากนี้ คาดว่า ภาคีสมาชิกอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้[3] น่าจะมีการยกเลิกการตั้งข้อจำกัดที่มีต่อสายการบินของไทย ส่งผลให้ไทยสามารถขยายตลาดการบินไปยังประเทศทั้งสองได้ภายในช่วงตารางบินฤดู หนาวปีนี้ (ปลายตุลาคม 2560-ปลายมีนาคม 2561) เช่นเดียวกับ FAA ที่น่าจะมีท่าทีต่อการปรับอันดับของสายการบินของไทยให้กลับมาอยู่ระดับปกติ /Category1 (ได้มาตรฐานของ ICAO) ในเร็ววันนี้ ยังผลให้สายการบินของไทยสามารถกลับไปบินยังเส้นทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินการของสายการบินที่ได้กำหนดไว้[4] โดยคาดว่าจะสามารถกลับมาบินได้ภายในช่วงตารางบินฤดูร้อนปีหน้า (ปลายมีนาคม-ปลายตุลาคม 2561)
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 หลังจาก ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยจะเติบโตอย่างคึกคักขึ้น จากเดิมที่ได้ทวีบทบาทอย่างน่าจับตามองในระยะที่ผ่านมา และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดย คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาท ในปี 2561 มากกว่ากรณีที่ ICAO ยังคงติดธงแดง คิดเป็นมูลค่า 1,300 และ 8,400 ล้านบาท ตามลำดับ
ความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทย …รากฐานสำคัญสู่การพัฒนาอู่ตะเภา Aerotropolis
อู่ตะเภา Aerotropolis หรือ เมืองการบิน เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนา EEC ซึ่งถูกตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ หลังจากที่ไทยต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา โดยอู่ตะเภา Aerotropolis จะเป็นการใช้จุดเด่นจากการเชื่อมโยงของท่าอากาศยานอู่ตะเภาดึงดูดการลงทุน ที่จะก่อให้เกิดเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยมีท่าอากาศยานเป็นแกนหลักให้ ธุรกิจและอุตสาหกรรมในรัศมีโดยรอบพึ่งพา โดยความเชื่อมโยงของท่าอากาศยาน นอกจากจะนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบิน นักท่องเที่ยว และสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้ว ยังจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่หวัง พึ่งพาท่าอากาศยานในการเชื่อมโยงไปยังซัพพลายเออร์และตลาดสำคัญต่างๆ ทั่วโลกได้
การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยของ ICAO จะเป็นแรงขับเคลื่อนความเชื่อมั่นต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทย โดย ICAO จะยืนยันถึงการมีการกำกับดูแลที่ดีของรัฐในด้านมาตรฐานทางการบินซึ่งรวมถึง การเดินอากาศ สนามบิน และการบริการภาคพื้นดิน ที่จะสอดรับกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินภูมิภาคของไทย อันจะสะท้อนผลไปยังห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมการบินโดยรวมอย่าง ธุรกิจบริการภาคพื้นดิน ธุรกิจคลังสินค้า อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul: MRO) และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งผลักดันให้อู่ตะเภา Aerotropolis สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันก็ได้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลกทั้งจากจีน ฝรั่งเศส และสวีเดน ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่บ้างแล้ว นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า อู่ตะเภา Aerotropolis จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งส่วน ใหญ่พึ่งพาการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา EEC ต่อไปในอนาคต
โดยสรุป การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยนั้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจสายการบินเท่านั้น แต่ยังจะเป็นส่วนสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการบินโดยรวมของไทย ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเมืองการบินที่จะใช้เป็นแกนหลักเพื่อดึงดูด การลงทุนและนวัตกรรมจากต่างชาติ อันจะปฏิรูปภาคการผลิตไทยไปสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยี นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีมูลค่าอีกมหาศาลที่ยากจะประเมินได้
[1] Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ของญี่ปุ่นและKorea Office of Civil Aviation ของเกาหลีใต้ ห้ามทุกสายการบินของไทยที่ไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่มเที่ยวบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง และขนาดเครื่องบิน
[2] FAA ตั้งข้อจำกัดต่อสายการบินที่ถูกจัดอันดับต่ำกว่ามาตรฐาน (Category 2) โดยห้ามเพิ่มเที่ยวบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง และขนาดเครื่องบิน
ที่ไปยังสหรัฐอเมริกา และห้ามทำ Code Share กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา
[3] ICAO มีบทบาทเพียงแจ้งผลการตรวจสอบให้ภาคีสมาชิกทั้ง 191 ประเทศรับรู้ ซึ่งการมีมาตรการต่อสายการบินของไทยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประเทศนั้นๆ
[4] สหรัฐอเมริกาไม่ได้ห้ามเที่ยวบินของไทยเข้าประเทศ แต่เนื่องจากสายการบินของไทยได้ยกเลิกเส้นทางการบินไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อ เดือนตุลาคม 2558 ก่อนที่ FAA จะประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการขอทำการบินใหม่
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน