จากประชาชาติธุรกิจ
ก่อนหน้านี้ประชาชนชาวไทยเคยได้เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนต่างประเทศ พร้อมกับได้รับรู้ข้อมูลว่าการที่ในหลวงและพระราชินีเสด็จฯเยือนต่างประเทศนั้น เป็นการเสด็จฯเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ เป็นภาพที่ดูยิ่งใหญ่ สวยงาม
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์/นักวิชาการอิสระ กล่าวเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับการเสด็จต่างประเทศ ในงานเสวนาหัวข้อ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม : เบื้องหลังพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 9 ในนานาประเทศ” ว่า การที่ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระราชินีเสด็จประพาสต่างประเทศนั้น ไม่ใช่การเสด็จฯเจริญสัมพันธไมตรีอันสวยหรูอย่างที่เข้าใจกัน แต่มีเบื้องหลังการเสด็จฯเป็นพระราชกรณียกิจทางการทูตที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ยิ่งต่อประเทศไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันกับการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 เสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2440
ในการเสด็จนั้น นอกจากไม่ได้สวยหรูอย่างที่เห็นในภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคร่งเครียดกับพระราชภารกิจอันสำคัญนี้อย่างมาก เพื่อให้พระราชภารกิจสำเร็จลุล่วงวัตถุประสงค์ ทั้งหมดทั้งปวง มิใช่เพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อประเทศชาติ
“ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯเพื่อดำเนินนโยบายรัฐกันชน ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 9เป็นการดำเนินนโยบายกันชนทางลัทธิความเชื่อ ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิเสรีประชาธิปไตย” ไกรฤกษ์บอก ก่อนจะอธิบายต่อว่า เมื่อปี พ.ศ. 2439 อังกฤษและฝรั่งเศสได้เจรจาและมีข้อตกลงกันว่าจะจัดตั้งสยามเป็นรัฐกันชน และขีดพรมแดนของ “สยาม” ให้เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ครอบคลุมแม่น้ำท่าจีนแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และเพชรบุรี
นอกเหนือจากนั้นถูกขีดแบ่งให้เป็นดินแดนในอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงเสด็จประพาสยุโรปเพื่อทรงเจรจาแสดงเจตจำนงว่าสยามไม่ยอมรับในปฏิญญานี้ ในปี พ.ศ. 2440
เส้นทางการเสด็จประพาสยุโรปเริ่มจากประเทศรัสเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกันมาก่อนตั้งแต่เมื่อครั้ง พระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ยังเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จฯเยือนราชสำนักสยาม และผูกมิตรไมตรีกันเรื่อยมา
เมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่ ร.5 เสด็จฯยุโรปนั้น พระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ และรัสเซียเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่มีแสนยานุภาพที่ชาติอื่น ๆ เกรงใจ การที่ราชสำนักรัสเซียต้อนรับราชสำนักสยามอย่างมิตร จึงทำให้ยุโรปเกรงใจสยามซึ่งเป็นมิตรของรัสเซียด้วย ทำให้การเสด็จฯเยือนประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการเจรจาเรื่องรัฐกันชนง่ายขึ้น
วิกฤตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วนในสมัยตอนต้นรัชกาลที่ 9 เป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจล่มสลาย ผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว จักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศสล่มสลาย แต่รัสเซียและจีนซึ่งยังมีเงินได้เผยแพร่ลัทธิการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เข้ามาแทนจักรวรรดินิยม ขณะที่ประเทศในเอเชียที่เพิ่งพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกกำลังพะวงและยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ระบอบการปกครองแบบไหน ทำให้เกิดสงครามครั้งใหม่ คือสงครามเกาหลี ตามมาด้วยสงครามเวียดนาม
ยุคนั้นทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกมีความพยายามป้องกันการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อปี พ.ศ. 2497 มีการทำสนธิสัญญามะนิลา และในสนธิสัญญานั้นมีข้อตกลงข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ สปอ. (SEATO) มีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย โดยตั้งสำนักงานในเมืองไทย
ด้วยสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2502-2503 คอมมิวนิสต์รุกคืบเข้ามาประชิดถึงชายแดนแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลไทยเกรงว่าคอมมิวนิสต์จะเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากก่อนนั้นมีตัวอย่างให้เห็นในประเทศรัสเซีย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา รัฐบาลไทยพยายามทุกวิถีทางป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้ามา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจึงกราบทูลให้ในหลวงเสด็จประพาสต่างประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการทางการทูตส่งจดหมายไปยังนานาประเทศ ให้แต่ละประเทศตอบรับก่อน
“การเสด็จประพาสต่างประเทศเริ่มในปี พ.ศ. 2502 เริ่มต้นที่เวียดนามใต้ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา จากนั้นเสด็จฯอินโดนีเซียที่เคยเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ ประเทศที่สามคือพม่า ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน และเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่กำลังพะว้าพะวงว่าจะเอาลัทธิคอมมิวนิสต์หรือไม่ เป็นการเสด็จไปดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร”
ไกรฤกษ์ว่าพ.ศ. 2503 จึงเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและยุโรป เรียงลำดับเส้นทางการเสด็จฯดังนี้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน
เสด็จฯอเมริกาเป็นประเทศแรก
เหตุผลที่เสด็จฯอเมริกาเป็นประเทศแรกคล้ายกับเหตุผลที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ประพาสรัสเซียก่อนประเทศอื่น เนื่องจาก ณ เวลานั้นสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ที่ประเทศในยุโรปต้องคล้อยตาม อีกทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สยามไม่เคยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา แต่เคยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้นจะเสด็จไปยุโรปก่อนอเมริกาไม่ได้ ต้องเสด็จฯอเมริกาเพื่อให้ได้ใบเบิกทางก่อนไปยุโรป
ที่สหรัฐอเมริกา ในหลวงและสมเด็จพระราชินีได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลสหรัฐ โดยการนำของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และมีแถลงการณ์ร่วมกันลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ใจความตอนหนึ่งว่า
“…ขอทูลเกล้าฯถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion of Merit Chief Commander แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จอมทัพแห่งกองทัพไทย เนื่องจากพระราชกรณียกิจซึ่งทรงบำเพ็ญมาแล้วอย่างประเสริฐได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพที่มั่นคงในโลกเสรี…ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อเสรีภาพ เอกราช และสันติภาพถาวรของโลกใบนี้”
หลังจากพระราชกรณียกิจที่สหรัฐผ่านไปด้วยดีแล้ว ในหลวงและพระราชินีเสด็จประพาสอังกฤษ ซึ่งอังกฤษก็ดำเนินตามสหรัฐ คือให้การต้อนรับประมุขของไทยอย่างสมพระเกียรติ โดย ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขของสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป พระสวามีเสด็จฯต้อนรับ ณ สถานีรถไฟวิกตอเรียด้วยพระองค์เอง และทรงประทับบนรถม้าเข้าสู่พระราชวังบักกิ้งแฮมร่วมกัน
ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ
เมื่อมีภาพการเสด็จฯเยือนสหรัฐและอังกฤษเผยแพร่ออกไป จึงง่ายในการเสด็จฯประเทศอื่นในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเสด็จฯตามเครือข่ายราชวงศ์ยุโรปที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯมาก่อน ที่สำคัญคือการที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษต้อนรับประมุขของไทย ทำให้ประเทศทั้งหลายในฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับสถานะของไทยว่าไม่ใช่ผู้แพ้สงคราม
ไกรฤกษ์เปิดเผยว่า คนที่ให้เบาะแสเรื่องวัตถุประสงค์ในการเสด็จฯต่างประเทศครั้งนั้นคือ ดร.ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นผู้ตามเสด็จในเวลานั้น
“ท่านถนัดบอกว่า ในตอนที่เสด็จฯกระทรวงต่างประเทศ คิดว่าสำนักพระราชวังจะบันทึกพระราชภารกิจไว้ แต่มารู้ตอนหลังว่าสำนักพระราชวังก็ไม่ได้บันทึก เพราะคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศจะบันทึก เรื่องนี้จึงขาดหายไปและคลุมเครือว่าพระองค์ท่านเสด็จฯทำไม ท่านถนัดเล่าว่า ทุกคืนก่อนเข้าบรรทม พระองค์ทรงเรียกไปปรึกษาหารือว่าจะทำอย่างไรต่อ พรุ่งนี้จะเจอใคร จะคุยเรื่องอะไร เป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างเครียด ท่านถนัดบอกอีกว่า การเสด็จฯครั้งนั้นเป็นการเสด็จฯเพื่อทำพระราชภารกิจที่สำคัญเท่ากับสมัยที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเจรจาเรื่องรัฐกันชนเมื่อปี 2440” ไกรฤกษ์ยกคำบอกเล่าของ ดร.ถนัด มาเล่าต่อ
ต่อมา พ.ศ. 2505 ในหลวงเสด็จฯปากีสถาน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก สปอ. ปี 2506 เสด็จฯญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ปี 2507 เสด็จฯประเทศกรีซ เพื่อร่วมงานอภิเษกสมรสพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 ปี 2509 เสด็จฯเยอรมนีตะวันตกและออสเตรีย ปี 2510 เสด็จฯอิหร่าน ซึ่งตอนนั้นยังมีราชวงศ์อยู่ ปี 2510 เสด็จฯสหรัฐอเมริกาและแคนาดา หลังปี 2510 ไม่ได้เสด็จฯต่างประเทศอีกเลย จนกระทั่งปี 2537 เสด็จฯทรงเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นครั้งสุดท้ายในการเสด็จฯต่างประเทศ
ข้อมูลในด้านนี้ทำให้เห็นว่าในหลวง ร.9 ทรงงานหนักอย่างยิ่ง ทั้งทางกายและใจเพื่อประเทศชาติและ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อย่างแท้จริง ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ดังก้องอยู่ในใจคนไทยมานานหลายทศวรรษ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน