จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ศาสตร์ทั้งปวงเกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำ การเก็บกัก การระบาย การควบคุม การทำน้ำเสียให้เป็นน้ำดี ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ย่อมประจักษ์ชัด แล้วว่าพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหาผู้เสมอเหมือนยากยิ่ง
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องน้ำของพระองค์ท่านที่มีอยู่มากมาย ย้อนไปเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมหาศาล เนื่องจากน้ำท่วมในครั้งนั้น คนกรุงเทพฯ ก็ร่วมเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
แทบไม่น่าเชื่อว่าเมื่อระยะเวลาผ่านมาเพียงไม่กี่ปี ในปี 2557-2558 ประเทศไทยก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำอีกระลอก ทว่า ครั้งนี้เป็นปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อพื้นที่เกษตรกรรมและต่อการอุปโภคบริโภค จากสองเหตุการณ์นี้สร้างบทเรียนสำคัญของระบบและแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่จะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดินฟ้าอากาศ สภาพพื้นที่และความต้องการของชุมชน
เพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการน้ำ
ดร.รอยล จิตดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อสร้างความพอเพียงทางทรัพยากรให้แก่ประชาชน เพื่อจะนำไปสู่ความเข้มแข็งที่ประชาชนสามารถเติบโตก้าวหน้าด้วยการพึ่งตนเองตามหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙
โดยยึดหลักสำคัญ คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งควบคู่กัน ด้วยการพัฒนาพื้นที่ในเขตชลประทานให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ การพัฒนาโครงสร้างขนาดเล็กและการจัดการน้ำของชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยยุทธศาสตร์และมาตรการที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่เอื้ออำนวยก็สามารถบูรณาการการพัฒนาทั้งด้านน้ำเกษตรและพลังงานร่วมกันไปอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือ การดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ชุมชนและเครือข่ายท้องถิ่น ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดความสมดุลและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
จากการศึกษาของโครงการฯ พบว่าประเทศไทยควรจะนำแหล่งน้ำขนาดเล็กหรือแก้มลิงที่ตื้นเขิน มาพัฒนาเป็นแหล่งน้ำใหม่ของทั้งประเทศรวมถึงการเพิ่มจำนวนแหล่งน้ำในไร่นา ซึ่งใช้เวลาและงบประมาณน้อยกว่าการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่
ทั้งนี้ การจัดการน้ำควรเน้นให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการและดูแลกันเอง โดยที่ผ่านมาได้ทำโครงการร่วมกับเกษตรกรให้มีแหล่งน้ำของตนเองและประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ของตัวเองได้แล้ว 341 ชุมชนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีชุมชนตัวอย่างด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศที่โดดเด่น
กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2554 และ 2557 คือชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ชาวบ้านกว่า 6,000 คนรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนลิ่มทอง” ยอมสละที่ดินส่วนตัวเพื่อทำแก้มลิงของชุมชน
พร้อมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และยึดถือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “น้ำคือชีวิต”มาใช้ จนสามารถเก็บกักน้ำจากการทำแก้มลิงและคลองส่งน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดปียังประโยชน์ให้กับชาวบ้านกว่า 2,200 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกว่า 52,000 ไร่
กรมชลประทานมุ่งมั่นสานต่อปณิธานของพ่อ
แหล่งต้นทุนน้ำชลประทานในการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง และเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ในภาคกลาง และเพื่อผลประโยชน์ทางอ้อมนานัปการที่อาจจะเกิดขึ้น ในเรื่องนี้มีพระราชกระแสไว้ด้วยความห่วงใย มีใจความหนึ่งว่า
“...หากประวิงเวลาต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย และเราก็จะอพยพไปไหนไม่ได้ โครงการนี้คือ สร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือที่แม่น้ำป่าสัก อีกแห่งหนึ่งคือ ที่แม่น้ำนครนายก 2 แห่งรวมกันจะเก็บน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงในที่ราบลุ่มของประเทศไทย...”
โครงการในพระราชดำริขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการสร้างกว่า 4,000 โครงการ ต้องดูแล บำรุงรักษา สานต่อ โดยนำมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ในส่วนที่เสร็จไปแล้ว 4,000 กว่าโครงการ และส่วนที่เหลือก็ยังมีอีกหลายโครงการพระราชดำริที่เก่าบ้างใหม่บ้างยังคงดำเนินการต่อ
สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ยกตัวอย่างโครงการสำคัญอย่างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ จ.ลพบุรี ว่าทำให้กรมชลประทานจัดการปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2532 ที่เริ่มก่อสร้างจนดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2542 จะเห็นว่าตั้งแต่วันนั้นจวบจนปัจจุบัน 18 ปีแล้ว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีความจุเก็บน้ำ 960 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนที่บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ด้านท้ายน้ำได้เป็นอย่างดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นปัญหาน้ำท่วมน้อยมาก ก็เนื่องจากเราได้เขื่อนป่าสักฯมาบริหารจัดการน้ำ ชะลอน้ำไว้ได้
ยกตัวอย่างปริมาณน้ำที่มากถึง 960 ล้าน ลบ.ม. หากไม่เก็บกักน้ำไว้ก็จะไหลลงมาถึงกรุงเทพมหานคร พร้อมก่อปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ด้วยสายพระเนตรของพระองค์ท่านมองไกลถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ปัจจุบันประชาชนในเขตลุ่มน้ำและคนกรุงเทพฯได้รับประโยชน์โดยตรงจากเขื่อนป่าสักฯ นับตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักฯลงมา สระบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยาจนถึงกรุงเทพมหานคร
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน