จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาในหัวข้อ “พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและหนังสือในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี นักภาษาและวรรณคดี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชนิพนธ์ทรงแปลเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN Called Intrepid” เป็นเรื่องที่เขียนจากชีวิตจริงมีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารหน่วยราชการลับอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีหน้าที่หาความลับจากทหารของฝ่ายเยอรมัน เมื่อได้ข้อมูลจะนำไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานาธิบดีอเมริกา ซึ่งร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของนาซี
โดยประวัติของนายอินทร์ที่เเปลออกมาจะบ่งบอกถึงลักษณะของที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ หากได้อ่านจะเห็นภาพว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลม รู้เท่าทัน ใฝ่รู้ตลอดเวลาและการทำความดีไม่จำเป็นต้องบอกใคร
นอกจากนี้ยังมีพระราชนิพนธ์ทรงแปลอีกหลายเรื่อง ที่ทำให้คนไทยได้เห็นถึงภัยต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ขาดความสามัคคี และได้เห็นแบบอย่างของผู้นำที่ดี อย่างที่เคยมีพระราชกระแสรับสั่งถึงพระราชนิพนธ์ว่า “อยากให้คนไทยเห็นว่าถ้าเราทำดี เราจะไม่เป็นเหมือนเขา”
“พระราชนิพนธ์ต่างๆ ที่พระองค์ทรงแปลขึ้นมานั้น นอกจากจะทำให้เห็นพระอัจฉริยภาพทางวรรณศิลป์ของพระองค์แล้ว ยังทำให้ผู้อ่านชาวไทยได้ประจักษ์ว่า ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนไทยโดยแท้ ทำให้คนไทยได้เห็นโลกกว้างว่า ในโลกใบนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว รู้เท่าทัน และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ยกระดับจิตใจคนอ่าน และเห็นค่าของความหมั่นเพียร ทางสติปัญญา พระองค์ทรงใช้เวลาหลายปีเพื่อแปลให้คนไทยได้ศึกษาอ่าน ทั้งที่ทรงมีภารกิจด้านต่างๆ อยู่มากล้นก็ตาม”ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กุสุมา กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.จุไรรัตน์ ลักษณศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในทุกๆ ปีพระองค์จะพระราชทาน ส.ค.ส. ให้แก่ประชาชนคนไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา
“ส.ค.ส. เป็นพระราชนิพนธ์เล็กๆ เพียงไม่กี่บรรทัด ออกมาเพียงปีละ 1 ครั้ง ทั้งหมด 31 ฉบับ ซึ่งจะเห็นว่าแม้จะเล็กแต่จะรวบรวมทุกอย่าง ทั้งคุณค่า สาระ คติสอนใจ รวมไปถึงทางด้านวรรณศิลป์ครบสมบูรณ์เท่ากับพระราชนิพนธ์เล่มโตๆ ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทำ ส.ค.ส. ออกมาให้ประชาชนคนไทยได้ทุกปี และสามารถเขียนพระราชนิพนธ์เพียงไม่กี่บรรทัดได้อย่างสมบูรณ์จากคอมพิวเตอร์ และทรงใช้ฟอนต์ที่พระองค์ประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยตนเอง”
รองศาสตราจารย์ ดร.จุไรรัตน์ กล่าวต่อว่า ใน ส.ค.ส. ของพระองค์จะมีคติเตือนใจ 6 ประการ คือ 1.ให้คนไทยคิดดีทำดี จะทำให้ชีวิตสงบสุข 2.ความสุขคือการปรารถนาดีต่อกัน การอนุเคราะห์ การเมตตาต่อกัน เอื้อเฟื้อให้แก่กันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน จะนำมาซึ่งความสุข 3.ความเพียร ซึ่งปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. หลายฉบับที่ทรงเน้นเรื่องความเพียร พระองค์ทรงบอกว่า ความเพียรทำให้มีปัญญาที่หลักแหลม ฉลาดรอบรู้ และการไม่เกียจคร้านจะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ
4.ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ไม่ยาก วิธีที่พระองค์ทรงแก้ไว้ให้ คือ ขอให้พูดความจริง พูดตรงไปตรงมา และคิดไตร่ตรองก่อนที่จะทำอะไร หากมีปัญหาอะไรให้หยุดไตร่ตรองก่อนที่จะเผชิญหน้ากัน 5.การพูดดีทำให้ประสบความสำเร็จ 6.การสานประโยชน์ร่วมกัน จะช่วยแก้ไขปัญหาชาติได้
“หนังสือเป็นเสมือนคลังที่รวมรวบเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่านและเพียรพยายามยึดภาษาด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่าและมีประโยชน์ ที่จะประมาณไม่ได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์”
และนี่คือพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและหนังสือที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ให้แก่ปวงชนชาวไทย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน