สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์การจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ยัง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นประธานบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันนี้ (19 ต.ค.) เวลา 09.01 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังสระปทุมไปยัง ลานหน้าอาคารโรงโขน โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงเป็นประธานบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร โดยมี นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยาเลขาธิการพระราชวัง พลอากาศตรีสุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง นางนภาพร เล้าสินวัฒนา ผู้อำนวยการกองศิลปกรรม และนางพัฒนา เกตุกาญจโน ผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เฝ้าฯ รับเสด็จ


จากนั้นเสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงคม เสด็จฯไปทรงเจิมโองการบวงสรวงสังเวยช่างเครื่องสดราชสำนัก เสด็จฯไปยังโต๊ะสังเวย จากนั้นทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย (ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย สังข์ แตร พนักงานภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์) ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงคม จากนั้นประทับพระราชอาสน์

นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นายช่างศิลปกรรม ผู้ประกอบพิธีอ่านโองการบวงสรวงและนำกล่าวบทบูชาครูช่างเครื่องสด จบแล้ว (ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย สังข์ แตร พนักงานภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์) จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯไปทรงสุหร่ายที่เครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำเครื่องสดพระจิตกาธาน และทรงเจิมเทวดาประดับจิตกาธาน (ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย สังข์ แตร พนักงานภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์) เสด็จฯไปทรงคมที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา เสด็จฯไปทรงคมที่หน้าโต๊ะสังเวย และเสด็จฯ กลับในเวลา 09.29 น.


นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นายช่างศิลปกรรม กล่าวภายหลังจบพิธีบวงสรวงว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งถามช่างแทงหยวกจาก 4 ภูมิภาค ด้วยความเป็นห่วงว่า "ยังทำงานอยู่ใช่ไหม ยังทำไมเสร็จใช่ไหม ยังเหลืออีกเยอะหรือเปล่า"

ทั้งนี้ นายบุญชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของการทำเครื่องสดประกอบพระจิตกาธานนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ ซึ่งเมื่อวานนี้จังหวัดจันทบุรีได้เคลื่อนย้ายกล้วยตานี จำนวน 50 ต้นมาถึงยังสำนักพระราชวังแล้ว และต้นกล้วยจากจังหวัดอ่างทอง 9 ต้น จังหวัดนนทบุรี 9 ต้น ก็มาถึงสำนักพนะราชวังแล้วเช่นกัน ส่วนต้นกล้วย 40 ต้นของจังหวัดเพชรบุรีจะนำมาส่งในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นรวมต้นกล้วยตานีทั้งหมด 108 ต้น จนถึงวันนี้งานเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน เหลือเพียงแทงหยวก การทำดอกไม้ประดิษฐ์ที่เป็นดอกปาริชาต16 ดอก ดอกไม้เฟื่อง ดอกไม้ไหว รวม 70 ดอก ในส่วนของ หยวกถม พิมพ์มะละกอ นั้นต้องดำเนินการล่วงหน้าเพียงแค่ 2 วัน หลังเสร็จพิธีบวงสรวงแล้วจะได้มีการแจกจ่ายงานให้ช่างฝีมือ 4 ภูมิภาค และช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาค จำนวน 323 คน ที่มารวมตัวกันอยู่ในที่นี้ โดยช่างทั้งหมดได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีโอกาสได้เข้ามาถวายงานในครั้งนี้ร่วมกับช่างหลวงราชสำนัก


โดยช่างกรองดอกไม้สดมาจากตัวแทนวิทยาลัยอาชีวะศึกษาจาก 4 ภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่ แพร่ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สุราษฎ์ธานี และปัตตานี นอกจากนี้ยังมีนักเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)และวัง(หญิง )มาร่วมทำ ในส่วนเทวดาประดับชั้นเรือนไฟทั้ง 8 องค์ทำเสร็จหมดแล้ว

จากนี้ไปเหลือเวลาเตรียมการอีกเพียง 5 วัน ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยเครื่องสดทั้งหมดจะต้องทำแล้วเสร็จเวลา 05.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. เพื่อนำขึ้นไปประกอบบนพระเมรุมาศให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 16.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. อันเป็นเวลาก่อนบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ

สำหรับความสำคัญของพิธีบวงสรวงสังเวยการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน โดยธรรมเนียมของช่างเครื่องสดราชสำนักเมื่อมีงานสำคัญ ก็จะมีการบวงสรวงเองอยู่แล้วเพื่อเป็นการสร้างขวัญแลกำลังใจให้แก่ช่าง แต่ในครั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯมาเป็นประธานบวงสรวงนับเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจให้แก่ช่างในการปฎิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง เพราะว่าในบทกล่าวโองการ เป็นโองการโบราณของคุณครู วิเชียร เปรมจันทร์ ท่านได้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ให้ตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งตัวของอาจารย์เองเป็นสกุลช่างคนสุดท้าย เป็นลูกศิษย์ของพระครู ธรรมราช วัดระฆังโฆษิตาราม

โดยหลังจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2539 ตอนนั้นช่างราชสำนักไม่มีแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่าให้ถ่ายทอดวิชา จึงได้ครูวิเชียร มาถ่ายทอดให้ และถวายตัวเป็นครูสอนแทงหยวกที่ในโรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย) ตอนนั้นท่านอายุ 70 กว่า ซึ่งขณะนั้นมีลูกศิษย์เพียง 4 คน และก่อนท่านเสียชีวิตได้เขียนบทโองการนี้ เพื่อมอบให้สำนักพระราชวังเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญจะได้เชิญออกมาอ่าน และเมื่อจบงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 แล้วจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต่อไปสำหรับหนังสือโองการเพื่อให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ จึงได้จัดทำปกสมุดขึ้นมาใหม่ หน้าปกประดิษฐ์ด้วยปีกแมลงทับลายรังผึ้งแล้วประดับมุกริมขอบ จัดทำโดยนักเรียนและศิษย์เก่าของโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ระยะเวลาทำกว่า 9 เดือน สมุด เนื้อหาภายในประพันธ์เป็นร่ายประกอบด้วยภาพเขียนด้วยสีฝุ่น


ตัวแทน 1 ใน 4 ช่างแทงหยวกจาก อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา นายสวน หนุดหละ อายุ 54 ปี คณะจัดทำเครื่องสดประดับจิตกาธาน ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้าร่วมจัดทำเครื่องสด รับผิดชอบในส่วนงานแทงหยวกชั้นรัดเอว เปิดเผยด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติว่า ก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสได้ถวายงานแทงหยวกในพระราชพิธีพระราชเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพี่นางเธอฯ และงานสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ มาแล้ว สำรับครั้งนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นช่างแทงหยวกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งตัวเองมีความรักและศรัทธาอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ให้ และไม่ถือพระองค์ ทรงเป็นต้นแบบให้คนหันกลับสนใจฟื้นฟูและร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีโบราณ

“สำหรับงานแทงหยวกเป็นวิถีที่สืบทอดกันมาของแต่ละพื้นที่ของจังหวัดสงขลามีเอกลักษณ์การแทงลวดลายกนกที่รวดเร็วและแม่นยำ แต่ครั้งนี้ไม่ได้นำเอาลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่เข้ามาใช้ เนื่องจากต้องใช้ตามราชสำนัก ซึ่งช่างแทงหยวกที่มาร่วมในครั้งนี้ ได้คัดเลือกจากช่างแทงหยวกผู้ที่มีคุณธรรม และจริยธรรม ส่วนความชำนาญเป็นเพียงส่วนประกอบ ผู้ที่ร่วมงานนี้ต้องมีความรักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยงานแทงหยวกในชั้นรดเอวนี้ที่รับผิดชอบนี้ ต้องมีความละเอียดในเรื่องความกว้าง ยาวและขนาดของลวดลาย ส่วนการทำงานถวายครั้งนี้ ผมมีความตั้งใจและมั่นใจอย่างเต็มร้อยที่จะทำงานถวายอย่างสุดความสามารถ” ตัวแทนช่างแทงหยวกจากสงขลากล่าวด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติ” นายสวน หนุดหละ กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2560 เวลา 09.14 น.จะประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก จากทั่วประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ครั้งสำคัญในครั้งนี้ ณ ลานกลางแจ้ง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง


















สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธาน บวงสรวง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การจัดทำเครื่องสด ประดับพระจิตกาธาน  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙

view