สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สื่อนอกทึ่ง!! พสกนิกรไทยปักหลักสู้สายฝน มุ่งมั่นรอร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พ่อหลวง

สื่อนอกทึ่ง!! พสกนิกรไทยปักหลักสู้สายฝน มุ่งมั่นรอร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พ่อหลวง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

รอยเตอร์ - สื่อต่างประเทศรายงานเหล่าพสกนิกรผู้โศกเศร้าค่อยๆ ทยอยมารวมตัวกันเพื่อถวายความอาลัยครั้งสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ย่อท้อต่อฝนที่เทกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ปักหลักค้างแรมตามเส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

รายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า พระราชพิธีทางศาสนาพุทธมีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในวันพุธ (25 ต.ค.) หลังจากใช้เวลาตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯนานเกือบ 1 ปี

รอยเตอร์ระบุว่า ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาถึงบริเวณงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน ในขณะที่คาดหมายว่าจะมีพสกนิกรชาวไทยเดินทางมาร่วมพระราชพิธีฯมากถึง 250,000 คน ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเต็นท์สภาพง่อนแง่นโดยรอบ เพื่อเป็นหลบฝนแก่พสกนิกรที่มาร่วมงาน


สำนักข่าวแห่งนี้ระบุต่อว่า โรงแรมต่างๆ ในย่านเมืองเก่าแถบนี้ถูกจองเต็มหลายสัปดาห์ล่วงหน้า และรัฐบาลประกาศให้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันหยุดราชการ

รายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า แม้ว่าพระราชพิธีฯยังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่พสกนิกรจำนวนมากต่างมารวมตัวกันจับจองที่ด้วยน้ำตาและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือ เฉลิมพร แพรบุตร หญิงชราวัย 72 ปี จากภาคเหนือ ที่อาศัยหลบฝนจากเต็นท์ชั่วคราวที่ทำจากเศษผ้าและผูกด้วยเชือก แสดงถึงความตั้งใจมาถวายความอาลัยครั้งสุดท้ายแด่กษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของเธอ

“ยายเดินทางมาตั้งแต่ 2 วันก่อนแล้ว เพื่อยายจะได้เลือกจุดดีๆ” เธอบอกกับรอยเตอร์ “เราสู้กับฝนแค่ไม่กี่วัน มันมีค่ามากหากว่าเราได้ใกล้ชิดกับกระองค์เป็นครั้งสุดท้าย”

ตำรวจเปิดเผยในวันอังคาร (24 ต.ค.) ว่า มีประชาชนชาว 1,000 คน ปักหลักค้างคืนท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยบางคนมีแค่เสื้อกันฝนพลาสติกปกป้องตนเองเท่านั้น


ต่างที่มาแต่ใจดวงเดียวกัน กราบหัวใจ ปชช.ฝ่าฝนจับจองนอนริมถนนสนามหลวง 4 วันแล้วที่ปักหลักรอส่งเสด็จพ่อหลวงสู่สวรรคาลัย

ประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางฝ่าฝนมาจับจองที่นั่งที่สนามหลวง ผลัดกันให้กำลังใจ ตะโกนบอก “สู้ๆ นะพวกเรา พ่อหลวงลำบากเพื่อคนไทยมากกว่านี้เยอะ” ด้าน “เขมิกา” ตัวแทนประชาชนที่มาปักหลักในวันที่ 24 ต.ค. ยอมรับว่ามาที่สนามหลวงเป็นเวลา 4 วันแล้ว ถึงแดดจะร้อน ฝนจะตก ไม่มีความคิดที่จะกลับบ้าน ลั่นรักพระองค์มาก แค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะตอบแทน เสียงสั่นใจสลาย จำความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ในวันที่ 13 ต.ค. 59 ได้ไม่ลืม บอกใส่ริสต์แบนด์ผลิตรุ่นแรกติดตัวตลอดและตั้งใจจะใส่ตลอดไป

กราบหัวใจที่จงรักภักดีของประชาชนทุกคน ที่เดินทางมาเฝ้ารอร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บริเวณท้องสนามหลวง บรรยากาศในวันนี้ (24 ตุลาคม) ได้มีประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางมาจับจองที่นั่งกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณริมคลองหลอด ข้างโรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่แน่นเต็มพื้นที่ เพื่ออยากมาอยู่ให้ใกล้มากที่สุด บางคนมากันเป็นกลุ่มหลายสิบคน บางคนมาคนเดียว มีทั้งเด็กและคนชรา มาจากต่างที่ ต่างวัย แต่ทุกคนหัวใจเดียวกัน

แม้ว่าในวันนี้จะมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. และตกหนักนานกว่าครึ่งชั่วโมง แต่ทุกคนก็ไม่ย่อท้อบางคนรีบหอบสัมภาระวิ่งหลบฝนเข้ามาในเต็นท์ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากประชาชนมีจำนวนมาก ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องยืนและนั่งตากฝน ซึ่งทุกคนได้เตรียมตัวมาอย่างดี ทันทีที่ฝนตกเทลงมาต่างพากันนำเสื้อกันฝนมาสวมใส่และกางร่มแบ่งปันคนข้างๆ ได้หลบฝนด้วย แม้จะลำบากแต่ก็เป็นภาพที่งดงามมาก แสดงให้เห็นว่าทุกคนมาด้วยใจที่จงรักภักดีต่อพ่อหลวงของแผ่นดินโดยแท้จริง และที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างมากก็คือหลังจากฝนหยุดตก ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นตะโกนให้กำลังใจกันว่า “สู้ๆ นะพวกเรา พ่อหลวงลำบากเพื่อคนไทยมากกว่านี้เยอะ” และปรากฏรอยยิ้มที่ต่างก็ส่งมอบให้กัน และช่วยกันเช็ดน้ำที่เจิ่งนองแผ่นพลาสติกที่ใช้ปูนอนช่วยกัน เพื่อเตรียมพร้อมในการนอนหลับพักผ่อนในคืนนี้ 

จากการสอบถามบางคนมาจองที่และนอนที่ข้างถนนมาหลายวันแล้ว และก็มีบางกลุ่มที่เพิ่งมานอนคืนนี้เป็นคืนแรกและจะอยู่จนเสร็จสิ้นพิธีส่งเสด็จพ่อหลวงสู่สวรรคาลัย ทีมข่าวบันเทิง MGR Online จึงขอสัมภาษณ์เปิดใจ “เขมิกา เชื้อเมืองพาน” ซึ่งรวมตัวกันมาร่วม 30 คน มาจับจองพื้นที่กันตั้งแต่ 21 ต.ค. ถึงแดดจะออก ฝนจะตก จะไม่ยอมกลับบ้านจนกว่าจะผ่านพ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙”

“มาจากมีนบุรีค่ะ พวกเรามากัน 30 คน มารวมตัวกันที่นี่ มากันตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม ก็ 4 วันแล้วค่ะ ส่วนหนึ่งก็นอนริมถนนข้างคลองหลอด อีกส่วนหนึ่งนอนที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่มาตั้งแต่วันที่ 21 เพราะเราตั้งใจ อยากมาให้ทันส่งเสด็จพระองค์ท่าน เพราะประชาชนที่สามารถเข้าไปในบริเวณสนามหลวง จุคนได้แค่ 45,000 แล้วทุกคนก็คิดเหมือนเรา ต่างคนก็มุ่งมาที่นี่ เราก็เลยมาตั้งแต่ 21 ต.ค. เพื่อมาจับจองที่ไว้ตอนกลางวันแดดร้อนและมีฝนตก แต่เราไม่เคยมีความคิดที่จะกลับบ้านเลยค่ะ เพราะคิดว่าความลำบากแค่นี้มันน้อยนิดมาก ถ้าเปรียบกับพระองค์ท่านที่ทรงงานมา 70 ปี ท่านทรงงานหนักกว่าเรามาก สำหรับพวกเราอดทนแค่นี้เล็กน้อยมากค่ะ จะกลับก็หลังจากถวายพระเพลิงเสร็จ อยู่จนสิ้นสุดพระราชพิธีเลยค่ะ”

“ตอนนี้ก็เตรียมร่างกาย เสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรคมาค่ะ บอกลูกบอกสามีเรียบร้อยค่ะ ว่าไม่ต้องเป็นห่วง ตอนฝนตก อันดับแรกคือวิ่งหลบฝนก่อน ไปฝั่งเต็นท์โรงแรมรัตนโกสินทร์ เพราะจริงๆ เราก็นอนตรงนี้กัน แต่ก็หอบของไปด้วย แต่ก็มีของบางอย่างที่เราคลุมผ้าไว้ตรงนี้ พอฝนหยุดตกก็กลับมานอน แต่จริงๆ ก็ยังนอนไม่ได้ เพราะมันเปียก ต้องเอาผ้ามาเช็ดก่อน เช็ดจนกว่าจะแห้ง ก็อยู่ตามอัตภาพไปก่อน”

บอกเคยนอนข้างถนนมาก่อน ในตอนที่รอรับเสด็จ “ในหลวง ร.๙” ที่วังไกลกังวล ลั่นรักพระองค์มาก แค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะตอบแทน ใส่ริสต์แบนด์ผลิตรุ่นแรกติดตัวตลอดและตั้งใจจะใส่ตลอดไป

“พวกเราเคยมารับเสด็จในปี 2550 เราเลยอยู่แบบนี้ได้ ที่วังไกลกังวลเราก็เคยไปรอรับเสด็จ เราก็เคยนอนข้างถนนมาแล้ว นอนแบบนี้เลยค่ะ เพราะว่ารักท่านค่ะ พระองค์ท่านทำเพื่อเรามามากแล้ว แค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะตอบแทนพระองค์ท่านนะคะ ไม่พอหรอกค่ะ เพื่อนที่มาด้วยกัน เทิดทูนและรักพระองค์ท่านมาก พวกเราจะใส่ริสต์แบนด์ติดตัวตลอดเวลา ใส่ตั้งแต่รุ่นแรกที่ผลิตออกมา (เพื่อนที่มาด้วยกันก็ใส่ริสต์แบนด์คนละเกือบ 10 เส้น) ที่ใส่เพราะว่าเหมือนพระองค์ท่านยังอยู่กับเรา เรามีความรู้สึกเช่นนั้น เราใส่ทุกวัน ใส่ติดตัวตลอด เพลงรอสายโทรศัพท์ก็เป็นเพลง “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป” แล้วจะใช้เพลงนี้ตลอดไป การใส่ริสต์แบนด์ก็เหมือกัน เราตั้งปณิธานไว้ว่าจะใส่ตลอดไป เพราะเราคิดว่ามันเป็นการแสดงออก และเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่จะบอกกับตัวเองรวมถึงคนรอบข้างเรา ว่าพระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป และท่านจะไม่มีวันเลือนหายไปจากชีวิตเราตลอดไป และก็อยากให้ทุกคนคิดเช่นนั้นเหมือนกันค่ะ และจริงๆ ส่วนตัวแล้ว ก็คิดว่าท่านอยู่กับเราตลอดไป”

ใจหาย ไม่อยากให้ถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙”  
“ตอนนี้เหลืออีกแค่หนึ่งวัน ก็จะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ใจจริงๆ ไม่อยากให้ถึงวันนี้นะคะ แต่เราก็รู้ว่าจะต้องมีวันนี้ เราต้องพยายามทำใจให้เข้มแข็ง ทุกคนมีความเศร้าโศกเสียใจ แต่พวกเราก็ต้องเข้มแข็งเพื่อที่จะก้าวเดินต่อไป เพื่อให้ประเทศชาติเรามั่นคงและเจริญ พวกเราก็คุยกันว่าจะอดที่จะไม่ร้องไห้ได้มั้ย ทุกคนก็บอกคงจะอดร้องไม่ได้ แต่เราก็จะร้องไม่ให้ดัง จะไม่ให้ท่านรู้ว่าเราเศร้าเสียใจ เพราะเราอยากให้ท่านได้พักผ่อน เพราะถึงเวลาแล้วที่ท่านควรจะพักผ่อน อยากให้ท่านเห็นว่าเราเข้มแข็ง ไม่อยากให้ท่านห่วง เราอยากให้ท่านเห็นว่าลูกๆ สามารถเดินก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง วันนั้นเราจะอดทนให้ได้มากที่สุด ไม่อยากให้ท่านเห็นเราท้อแท้แล้วขาดสติ”

เสียงสั่นใจสลาย จำความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ในวันที่ 13 ต.ค. 59 ได้ไม่ลืม ย้ำจะรวบรวมเงินทำความดี และเป็นกำลังของประเทศชาติ ยึดมั่นในพระบรมราชาโชวาทของพระองค์

“จำได้ค่ะ(เสียงสั่น) วันนั้นอยู่ที่รพ.ศิริราชค่ะ หลังจากที่ได้ยินข่าว เราเลยไปตั้งแต่ 5 โมงเย็น แต่เราไม่เชื่อ เลยอยากมาเห็น แล้วในตอนนั้นเรายังไม่ได้รับข่าวจากแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ก็เลยอยากมาที่ศิริราชเพื่ออยากรู้ความจริง ช่วงระหว่างรอแถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง ทุกคนก็อยากให้มีปาฏิหาริย์ ทุกคนพยายามสวดมนต์ และรวบรวมพลังจิตของทุกๆ คนถึงพระองค์ท่าน เพื่อขอให้พระองค์ท่านยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เพื่อเป็นมิ่งขวัญของปวงชนสืบต่อไป แต่พอแถลงข่าวออกมา รู้สึกช็อกมากค่ะ คิดว่าตัวเองหูฝาด หูแว่ว มันเหมือนหัวใจสลาย รู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต หลังจากนั้นก็เลยก้มกราบลา และมารอส่งพระองค์ในวันที่ 14 ตุลาคมด้วย”

“ในตอนนั้นได้ระลึกในใจว่าเราจะยึดมั่นในพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน ยึดมั่นในเศรษฐกิจพอเพียง เราจะอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย คืออยู่แบบพอเพียง อยู่พอเพียงตามสถานภาพของตัวเอง ตามสถานภาพของแต่ละคน นี่คือคำว่าพอเพียง เราก็จะมีความสุข ถึงตอนนี้ผ่านมา 1 ปีแล้ว จริงๆ ก็ยังทำใจไม่ได้”

“ชีวิตหลังจากนี้เราก็คิดกันนะคะ ว่าเราจะใช้ชีวิตกันยังไง ก็เลยคิดได้ว่าเราจะรวมตังค์กัน เราจะทำความดี และเป็นกำลังของประเทศชาติ เราต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน หรือสังคมที่ตัวเองอยู่ ถ้าทุกคนคิดดี ทำดี พูดดี และยึดมั่นในเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยไปรอดแน่นอนค่ะ แล้วนี่ก็คงเป็นสิ่งที่พระองค์อยากเห็น”

เผยจุดเทียนหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ร.๙ ซึ่งเตรียมมาถึง 5 ภาพ ระลึกถึงพระองค์ท่าน พร้อมก้าวเดินตามรอยเท้าพระองค์

“วันนี้เราเตรียมพระบรมฉายาลักษณ์มา 5 ภาพ น้องที่มาด้วยกันเป็นคนเตรียมมา ที่จุดเทียนด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพราะเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน อยากบอกพระองค์ท่านว่าพวกเราพร้อมแล้วที่จะเดินตามรอยเท้าที่พระองค์ทรงสอนไว้ทุกอย่างค่ะ”

























พ่อคงไม่อยากเห็น...ด่าให้ขรมพวกเห็นแก่ได้แซงคิวเข้าจุดคัดกรอง ดีเจ้าหน้าที่รู้ทัน

ยังคงหลั่งไหลไปยังบริเวณท้องสนามหลวงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกันอย่างต่อเนื่องสำหรับคนไทยที่มีใจรักต่อองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต่างมาต่อคิวด้วยความอดทน บางคนมารอข้ามวันข้ามคืน เจอทั้งฝน เจอทั้งแดด เพื่อรอเข้าจุดคัดกรองในแต่ละจุด ปรากฏว่ากลับมีคนบางส่วนที่เห็นแก่ได้ เอาแต่ความสบายส่วนตัวไม่ยอมไปเข้าคิว แต่จะคอยอาศัยจังหวะตอนที่คนที่รอคิวอยู่เคลื่อนแถววิ่งเข้ามาแทรกไปก่อนอย่างหน้าด้านๆ

โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา ในแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ Nalisara Tangtrongjaisakun ก็ได้มีการเขียนข้อความบอกเล่าถึงการกระทำของคนกลุ่มนี้ออกมาโดยระบุว่า... 

"5ทุ่มกว่า เจ้าหน้าที่เดินมากระซิบตามแถวคิวให้ค่อยๆ เก็บของ ค่อยๆลุก เพื่อไม่ให้พวกเตรียมแทรกคิวที่นั่งหน้าสลอนกันอยู่ตามแนวกำแพงวัดบุรณศิริรู้ตัว พอเที่ยงคืน จนท. เรียกเคลื่อนแถว แถวที่รอคิวยังไม่ทันขยับ พวกแทรกวิ่ง4×100 ไปก่อนเลยจ้า ดีที่จนท. วิ่งตามและจัดการไม่ให้พวกแทรกเข้ามาปนกับแถวคิว ท่ามกลางเสียงตะโกนด่าว่าของคนในแถวคิว ดูเอาเถิดเยอะแค่ไหน พวกคนที่บอกปาวๆ ว่ารักพ่อ ทำดีตามรอยพ่อ แต่พฤติกรรมกลับสวนทาง สงสารหางคิวหน้ารัตนโกสินทร์อ่ะ"


ใจไม่พิการ! เปิดหัวใจ "เอ๋ รังสินี" จิตอาสาพิการแต่กำเนิด-ไม่มีเงินเดือน ขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งปชช.กราบพระบรมศพ

เปิดหัวใจมอเตอร์ไซค์จิตอาสา เกือบ 1 ปีควักเงินส่วนตัวเติมน้ำมันรถรับส่งปชช. ที่มากราบพระบรมศพ ในหลวง ร.๙ อยากทำความดีตามรอยพระองค์และเชื้อพระวงศ์ ยันถึงจะเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่ท้อ ยิ่งรู้สึกเหมือนมีพลังพิเศษ ภูมิใจได้ทำหน้าที่จิตอาสา เชื่อพ่อหลวงเป็นเทวดาบนสวรรค์แล้ว 

โดยทั่วไปเราคุ้นตากับจิตอาสาใจดีที่มาขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างอยู่ไม่น้อย เพราะ “เอ๋ น.ส.รังสินี เทอดทรัพย์สกุล” อายุ 41 ปี ผู้ซึ่งมีร่างกายพิการ ปัจจุบันไม่มีเงินเดือน แต่กลับควักเงินเก็บส่วนตัวเติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ทำหน้าที่รับส่งประชาชนที่มากราบพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่าเป็นความรู้สึกอิ่มเอมใจ แม้บางครั้งตนจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะประชาชนไม่มั่นใจในรูปร่างที่พิการ 

“มาเป็นมอเตอร์ไซค์จิตอาสาขี่รถรับส่งประชาชนที่มากราบพระบรมศพ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2559 ค่ะ มาทุกวัน แต่จะอยู่ที่ประตูเทวาภิรมย์ แต่ตอนนี้เขาปิดเป็นบางช่วง ก็เลยมาช่วยรับส่งคนที่ข้างโรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่มาทำจิตอาสาเพราะอยากตอบแทนพ่อหลวงเล็กๆ น้อยๆ ในสิ่งที่เราสามารถทำได้ และเราก็มีรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเองอยู่แล้ว เลยอยากเอามารับใช้ประชาชนที่มากราบพ่อหลวงทุกคน ในแต่ละวันหลังจากเสร็จงานแล้ว ก็จะมาที่นี่เลยถ้าเลิกงานแล้วก็จะมาเลย อย่างเฉลี่ยก็ประมาณ 1 ทุ่ม อยู่ถึง 5 ทุ่ม บางวันที่คนเยอะๆ อยู่ถึงตี 3 ก็มี และไปช่วยเขาแจกกาแฟ บ้านอยู่แถวท่าพระ พอเราทำเสร็จก็จะขับรถกลับบ้าน ในแต่ละวันก็จะมาคนเดียว”

“ปกติทำงานประจำเป็นจิตอาสาดูแลคนพิการอีกทีหนึ่งค่ะ ซึ่งเป็นของหน่วยงานของรัฐบาล ไม่ได้มีเงินเดือน รายได้หลักทุกวันนี้เป็นเงินเก็บส่วนตัวที่เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เงินที่นำมาเติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ส่งคน เป็นเงินเก็บส่วนตัว แต่ก็มีผู้โดยสารบางคนที่ให้เงินเพราะเขาอยากช่วย แต่เราขอไม่รับ เพราะเราอยากทำถวายพ่อหลวง เพราะเราอยากจะตอบแทนท่านบ้าง ที่ท่านทำงานเหนื่อยเพื่อประชาชนมาเยอะแล้ว”

บรรยายถึงความรักไม่หมด บอกอยากตอบแทนพระองค์ ถึงจะพิการแต่กำเนิดแต่ช่วยเหลือตัวเองได้ ขับรถมอเตอร์ไซค์ได้ 

“มันบรรยายออกมาไม่หมด เราเห็นมาตั้งแต่เด็กว่าท่านทรงงานเยอะมาก และท่านก็อุปถัมภ์และดูแลคนพิการด้วย ก็เลยอยากจะตอบแทนท่าน เราพิการมาตั้งแต่กำเนิดค่ะ แต่ก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ขับมอเตอร์ไซค์ได้ และทำมาหากินได้ ก็มีคนมาจ้างทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ บ้างประปราย”

นอกจากนี้เจ้าตัวยังเผยอีกว่าถึงแม้จะช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็ภูมิใจที่ได้มาทำหน้าที่จิตอาสา คิดเสมอว่าพรุ่งนี้อาจเป็นวันสุดท้าย 

“ทุกวันนี้ภูมิใจค่ะ ทุกวันเราจะทำเต็มที่ที่ร่างกายเราทำได้ จะคิดเสมอว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของเรา ในขณะที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ เลยอยากที่จะทำ ถ้ามีคนมาขอความช่วยเหลือ ถ้าเราช่วยได้ก็ยินดีช่วย แต่ถ้าเราช่วยไม่ได้ ก็ช่วยนิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี เราดูต้นแบบความเสียสละมาจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ เห็นท่านทำเพื่อคนอื่นมาตลอด สมเด็จพระเทพฯ และเชื้อพระวงศ์ทุกๆพระองค์ ทุกพระองค์ทำมาตลอด ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำดี”

ไม่เหนื่อยแต่กลับรู้สึกมีพลังพิเศษ แม้บางวันกลับบ้านตี 3 แถมตอนกลางวันต้องไปทำงานอีก
“ไม่เลยค่ะ ไม่เหนื่อยค่ะ รู้สึกมีพลังมาก (ทำมือชูกำปั้น) เหมือนมีพลังพิเศษ ตากฝนมา 10 วันแล้ว ปกติต้องเป็นหวัด ต้องนอนซมแล้ว แต่นี่ไม่เป็นไรเลย”

“เวลาเราไปส่งประชาชน ทุกคนก็จะขอบคุณ แต่ก็มีเหมือนกันบางคนที่เขากลัวว่าเราจะพารถล้ม เพราะว่าเวลาขี่รถมันจะส่ายๆ เพราะว่ามี 3 ล้อ ล้อต่อพิเศษขึ้นมา ด้านหน้า 1 ล้อ ด้านหลัง 2 ล้อ ส่วนแฮนด์รถด้านซ้าย ก็ประกอบพิเศษเหมือนกัน ใช้อุปกรณ์เสริม เพราะแขนข้างซ้ายสั้นกว่า จึงต้องต่อใหม่เพื่อให้สามารถจับถนัดขึ้น ถามว่ามีน้อยใจบ้างมั้ยเราก็ต้องปล่อยให้เป็นความคิดของเขาไป เราก็เข้าใจประชาชนว่าเขาต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง เราเป็นตัวเลือกสุดท้าย เรายอมรับ(ยิ้ม)”

“หลังรถที่เป็นถัง ข้างในก็จะใส่ของใช้ของเรา และมีพิมเสนที่เราทำร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน พวกเราใช้ทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนๆ ทำมา เพราะว่าอากาศตอนกลางวันร้อน เผื่อมีคนเป็นลม เราก็นำไปแจก ก็ตั้งใจไว้ว่าจะมาขี่มอเตอร์ไซค์รับส่ง จนถึงวันที่เขาให้เข้าได้ ถ้าวันไหนเขาไม่ให้เข้าแล้ว ก็จะไปอยู่บริเวณรอบนอก”

ใจหาย ไม่อยากให้ถึงวันที่ 26 ต.ค. เชื่อพระองค์ท่านไปเป็นเทวดาบนสวรรค์แล้ว 
“ใจหาย เศร้าค่ะ ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราก็เข้าใจว่ามันต้องเป็นไปตามวิถีมนุษย์ มันเศร้า แต่เรารู้ว่ามันก็ต้องเกิด วันที่ 26 เขาปิดถนน เราอาจจะอยู่บริเวณรอบนอก แล้วคอยแจกข้าวแจกน้ำ อยากทำจนวินาทีสุดท้าย ด้วยกฎระเบียบของทางการ เราก็เข้าใจ เราเป็นประชาชนตัวเล็กๆ ก็อยากจะช่วยเท่าที่เราทำได้”

“ถามว่าอยากบอกอะไรพระองค์ท่าน พระองค์ท่านไปเป็นเทวดาบนสวรรค์แล้ว ท่านก็คงคอยมองประชาชนอยู่เบื้องบน ก็ยังคิดถึงคนบนฟ้าอยู่ แต่สุขภาพร่างกายของท่านก็ไม่ไหวแล้ว ถึงเวลาให้ท่านได้พักผ่อน ยิ่งได้เห็นประชาชนมาตากแดดตากฝน นอนบนพื้นแฉะๆ ก็รู้สึกตื้นตันใจ ว่าเขาสู้กันมาก พวกเรารักในหลวงมาก ทุกคนคงอยากเข้าใกล้ในหลวงให้มากที่สุด เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่มาก”




“มหรสพสมโภช” งดงามยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติในหลวง ร.๙

อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นก็คือ “การแสดงมหรสพสมโภช” ที่เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงเพื่อถวายพระเกียรติในวันออกพระเมรุได้ถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ โดยการแสดงนี้ถือเป็นแบบแผนประเพณีที่สืบปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

การแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ อาจเรียกว่า “มหรสพหน้าไฟ” ถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์หรือการออกพระเมรุ ซึ่งตามประเพณโบราณนั้นการออกพระเมรุไม่ใช่การโศกเศร้า แต่เป็นสิ่งที่ควรยินดี เหมือนได้ส่งเสด็จดวงพระวิญญาณกลับสู่สวรรคาลัย ทำให้ต้องมีการฉลองหรือสมโภช นับเป็นสิ่งสุดท้ายที่ข้าแผ่นดินจะสามารถสนองพระมหากรุณาธิคุณ เทิดทูนพระเกียรติต่อพระเจ้าแผ่นดิน

บรรยากาศในวันซ้อม
บรรยากาศในวันซ้อม


“การแสดงมหรสพสมโภช” ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมัยอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้มีการจัดแสดงมหรสพในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดา ต่อมาในสมัยธนบุรีมีการจัดแสดงมหรสพและการละเล่น เวลากลางวันคือ งิ้ว หุ่นญวน หุ่นลาว กายกรรม ส่วนเวลากลางคืนคือ เล่นหนัง โดยถือว่าการแสดงที่พบในสมัยนี้เป็นการแสดงที่สืบสานวัฒนธรรมไทยของเดิมสมัยอยุธยาไว้ และเชื่อมส่งต่อไปสู่สมัยรัตนโกสินทร์

ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จัดให้มีการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงมหรสพสมโภช 3 วัน 3 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดสมโภชพระบรมธาตุ 1 วัน 1 คืน และมีความพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เนื่องจากมีการมหรสพในน้ำด้วย

นักเรียนจากสถาบันต่างๆ กำลังตั้งใจซ้อม
นักเรียนจากสถาบันต่างๆ กำลังตั้งใจซ้อม


ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสมโภช 3 วัน 3 คืน ในงานพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการแสดงมหรสพสมโภชเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้ทรงมีพระราโชบายให้ลดความสิ้นเปลืองในการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์เองลง โดยการเปลี่ยนแปลงขนาดพระเมรุมาศให้เล็กลงและยกเลิกการแสดงมหรสพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงและได้เริ่มรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาด้วย

จนกระทั่ง พ.ศ.2539 ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้ง เพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงาเหมือนครั้งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และเป็นการรักษาประเพณีโบราณไว้ด้วย จึงจัดให้มีมหรสพ 4 ชนิด คือ หนังใหญ่ โขน ละคร และหุ่นกระบอก

นักศึกษากำลังซ้อมเชิดหุ่น
นักศึกษากำลังซ้อมเชิดหุ่น


สำหรับในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดการแสดงมหรสพสมโภชขึ้น โดยกรมศิลปากรจัดเตรียมนักแสดงจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นับพันคน เพื่อการแสดงในวันที่ 26 ต.ค. 60 ณ เวทีกลางแจ้งบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือทั้งหมด 3 เวที ประกอบด้วย

การแสดงหนังใหญ่
การแสดงหนังใหญ่


เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงโขนรามเกียรติ์ ใช้ผู้แสดงจำนวน 1,420 คน
การแสดงหนังใหญ่ ถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่รวมนาฏศิลป์ชั้นสูงหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ต้องใช้ความชำนาญในการแกะแผ่นหนังให้เป็นลวดลายฉากและตัวละคร และใช้คนเชิดควบคุมเงาที่จะทอดลงบนฉากอีกด้วย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน 

ส่วนที่ 1 การแสดงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ 
ส่วนที่ 2 การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร 

ส่วนที่ 3 การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ

การซ้อมโขน เรื่องรามเกียรติ์
การซ้อมโขน เรื่องรามเกียรติ์


การซ้อมละคร
การซ้อมละคร


เวทีที่ 2 การแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ใช้ผู้แสดง 422 คน
สำหรับการแสดงหุ่นหลวงเป็นเรื่อง พระมหาชนก จากบทประพันธ์ของในหลวง ร.๙ โดยหุ่นหลวงเป็นหุ่นในราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2559 โดยกรมศิลปากร ส่วนการแสดงหุ่นกระบอก จะเป็นเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก 

นอกจากนั้นยังมีรำกิ่งไม้เงินทอง เป็นการรำเบิกโรงละครในชุดหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ โดยผู้ร่ายรำจะต้องถือกิ่งไม้เงินและกิ่งไม้ทองไว้ในมือ 

ในส่วนของละครในเสนอเรื่อง อิเหนา ตอนบุษบาชมศาล อิเหนาตัดดอกไม้ ฉายกริช ท้าวดาหาบวงสรวง และละครเรื่อง มโนห์รา เป็นการแสดงรูปแบบใหม่ที่ทางกรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ.2498 โดยปรับปรุงจากการแสดงโนราและละครชาตรี ซึ่งเป็นต้นแบบของละครรำของไทยมาประยุกต์รวมกัน

หุ่นหลวง
หุ่นหลวง


การเชิดหุ่นต้องใช้ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหุ่น
การเชิดหุ่นต้องใช้ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหุ่น


การซ้อมบรรเลงดนตรีสากล
การซ้อมบรรเลงดนตรีสากล


เวทีที่ 3 การบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ใช้ผู้แสดง 942 คน
สำหรับการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ประกอบด้วยการแสดงทั้งหมด 7 องก์ โดยคัดเลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทเพลงเทิดพระเกียรติ และบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายความอาลัย โดยผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลป์ยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เข้าร่วมด้วย

การแสดงบัลเลต์เรื่องมโนราห์
การแสดงบัลเลต์เรื่องมโนราห์


โดย 1 ในการแสดงทั้งหมด 7 องก์ ได้แก่ “การแสดงบัลเลต์เรื่องมโนราห์” ถือเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีของในหลวง ร.๙ ที่ทรงคิดค้นและสร้างสรรค์บัลเลต์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดยนำความงามของบัลเลต์มาผูกโยงกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ กลายเป็นบัลเลต์มโนราห์ ที่ผสมผสานระหว่างความอ่อนหวานแบบไทยและความคลาสสิกของบัลเลต์ โดยในครั้งแรกที่มีการแสดงนั้นพระองค์ทรงฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง นับเป็นคุณูปการต่อวงการนาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างมาก

บัลเลต์เรื่องมโนราห์ผสมผสานศาสตร์การแสดงได้อย่างลงตัว
บัลเลต์เรื่องมโนราห์ผสมผสานศาสตร์การแสดงได้อย่างลงตัว


“การแสดงมหรสพสมโภช” ทั้ง 3 เวทีจะเริ่มแสดงตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 26 ต.ค.60 จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 27 ต.ค. 60 และการแสดงทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีบนพระเมรุมาศ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สื่อนอกทึ่ง พสกนิกรไทย ปักหลัก สู้สายฝน มุ่งมั่น รอร่วม พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  พ่อหลวง

view