จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ นายศรไกร แน่นศรีนิล หรือ ช่างไก่ ได้ซ่อมฉลองพระบาท “พระเจ้าอยู่หัว” ถึง 5 คู่ รวมถึงมีโอกาสได้ตัดฉลองพระบาททูลเกล้าฯ อีก 15 คู่ แม้จะไม่ครบ 19 คู่ดั่งตั้งใจ ทว่า 4 คู่ที่ถวายในหลวง ร.๙ ไม่ทันนั้นได้ถวายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็นับเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิตเกินจะบรรยายของช่างซ่อมนอกราชสำนักผู้นี้
ชายวัย 70 ปี เจ้าของร้านซ่อมรองเท้า ก. เปรมศิลป์ บริเวณสี่แยกพิชัย และสี่แยกซังฮี้ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ผู้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาทให้ในหลวง ร.๙ มากว่า 10 ปี เผยความรู้สึกนับตั้งแต่วันที่ได้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาทคู่แรกราวปลายปี 2545 ที่ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงชัดเจนเสมือนเพิ่งจะเกิดขึ้นมาไม่นานได้อย่างแม่นยำว่า
เช้าวันนั้นช่างไก่นั่งทำงานซ่อมรองเท้าอยู่หน้าร้านปกติเหมือนเช่นทุกวัน แต่ที่แปลกไปกว่าทุกวันคือ สังเกตเห็นมีรถตู้คันหนึ่งขับมาจอดที่หน้าร้าน จากนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งลงมาพร้อมกับประคองของบางสิ่งที่อยู่บนรถลงมาด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจว่าชายผู้นั้นประคองอะไรไว้ แต่ที่มั่นใจคือชายผู้นี้ต้องมาที่ร้านของตนแน่นอน
“ชายคนนั้นเข้ามาภายในร้าน ซึ่งภายหลังผมถึงได้รู้ว่าเขาคือ มหาดเล็ก พร้อมกับนำของที่ประคองมาวางไว้บนโต๊ะ แล้วถามผมว่า ไม่ทราบว่าทำได้หรือเปล่า ผมเลยถามกลับไปว่าคืออะไร มหาดเล็กตอบว่า นี่คือ “ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พอผมได้ยินผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นของในหลวง จึงได้ถามซ้ำอีกรอบ แต่คำตอบก็เหมือนเดิมคือ “ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
เมื่อได้ยินครั้งที่สองจึงมั่นใจว่าฟังไม่ผิดแน่ พร้อมกับที่มหาดเล็กถามผมว่า ซ่อมได้ไหม? ผมรีบตอบทันทีแบบไม่คิดว่า “ซ่อมได้” แต่คงต้องใช้เวลานานหน่อย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผมใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวก็สามารถซ่อมเสร็จ แต่ด้วยความที่อยากให้ฉลองพระบาทคู่นี้อยู่ที่ร้านนานๆ จึงได้ตอบไปเช่นนั้น” ช่างไก่กล่าว
โดยฉลองพระบาทคู่แรกของในหลวง ร.๙ ที่ช่างไก่ ได้มีโอกาสซ่อมเป็นรองเท้าหนังสีดำ ทรงคัทชู แบรนด์ไทย สภาพชำรุดทรุดโทรมจากการใช้งานมาหลายสิบปี ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดลอกหลายแห่ง ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไป ก็อาจจะทิ้งไปแล้ว แต่พระองค์ท่านกลับให้เจ้าหน้าที่นำมาซ่อมเพื่อใช้งานต่อ และมารู้ในภายหลังว่า ฉลองพระบาทหนังสีดำคู่นั้น คือ ฉลองพระบาทคู่โปรดที่พระองค์ท่านใช้ทรงดนตรี
“ผมทำสุดความสามารถ และเก็บชิ้นส่วนวัสดุของฉลองพระบาทไว้ทุกชิ้น แม้แต่เศษธุลี ด้วยตระหนักว่านับเป็นความโชคดีอย่างหาที่สุดมิได้ ถึงแม้จะไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ แต่สามารถนำวิชาชีพช่างทำรองเท้ามารับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ พอซ่อมรองเท้าเสร็จ ผมก็คิดว่าผมจะนำรองเท้าคู่นี้ไปวางไว้ตรงไหนดี เพราะรองเท้าคู่นี้ไม่เหมือนกับรองเท้าคู่อื่นๆ เพราะนี่เป็นรองเท้าของในหลวง จะนำไปวางปนกับของลูกค้าคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะดูจะไม่เหมาะไม่ควร จึงได้สั่งให้ลูกน้องในร้านให้ไปซื้อพานมาหนึ่งใบ พร้อมกับผ้าสีเหลืองมารอง แล้วนำไปวางไว้ที่สูงที่สุดในร้าน”
ช่างไก่ ยังบอกอีกว่า เขาเก็บเศษวัสดุทุกชิ้นเก็บไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เวลาดูข่าวที่ในหลวง ร.๙ เสด็จพระราชดำเนินจะมีพสกนิกรเอาผ้าเช็ดหน้ามาให้พระองค์ท่านทรงเหยียบ แต่ตนเองนั้นมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมากกว่านั้น จึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และเก็บรักษาทุกอย่างไว้อย่างดี
นับจากได้มีโอกาสซ่อมฉลองพระบาทในหลวง ร.๙ ช่างไก่ยังได้มีโอกาสถวายงานซ่อมฉลองพระบาทแก่พระองค์ท่านอีกหลายคู่ ทั้งฉลองพระบาทที่ใช้ในงานพระราชพิธี ฉลองพระบาทที่คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงกัด รวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 6 คู่ แต่ที่ทำให้ช่างไก่ ปราบปลื้มยิ่งไปกว่านั้นคือ การได้ตัดฉลองพระบาทถวาย
“ในชีวิตนี้ผมไม่เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลยสักครั้ง ดังนั้นเวลาที่ผมจะตัดฉลองพระบาทให้พระองค์ท่าน ผมใช้วิธีตัดโดยวัดรอยพระบาทจากฉลองพระบาทที่ส่งมาซ่อมก่อนหน้านี้ ซึ่งคู่แรกที่ตัดถวายไปนั้น ทรงจะคล้ายๆ กับคู่แรกที่มหาดเล็กนำมาให้ซ่อม โดยตัดเบอร์ 42 แต่ด้วยความไม่แน่ใจว่าไซส์นั้นจะพอดีกับพระบาทของพระองค์ท่านหรือไม่ จึงได้ตัดเบอร์ 43 อีกคู่
ผ่านไป 2-3 เดือน มหาดเล็กได้นำรองเท้าที่ตัดถวายกลับมาที่ร้าน ตอนนั้นผมตกใจมากเลยว่า มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าพระองค์ท่านให้นำกลับมาติดกันลื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมดีใจว่า พระองค์ทรงใช้งานรองเท้าที่ผมตัดถวายจริง”
ช่างนอกราชสำนักผู้นี้ ยังบอกต่ออีกว่า ที่ผ่านมาเขาได้ตัดฉลองพระบาทถวายในหลวง ร.๙ ไปแล้วจำนวน 15 คู่ เหลืออีก 4 คู่ที่ถวายไม่ทันโดยฉลองพระบาทที่ตัดถวายในระยะหลังจะเน้นเพื่อสุขภาพ
“ผมตั้งใจจะตัดถวายพระองค์ท่าน 19 คู่ โดยก่อนหน้านี้ถวายไปแล้ว 15 คู่ เหลืออีก 4 คู่ตัดเสร็จแล้วแต่ถวายไม่ทัน จึงถวายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านแทน แม้วันนี้พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต แต่ผมไม่เสียใจที่จากนี้จะไม่มีโอกาสได้ซ่อมฉลองพระบาทถวายพระองค์ท่านอีกแล้ว รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสตรงนี้
นอกจากนี้ที่ร้านยังได้เก็บรอยพระบาทของพระองค์ท่านเอาไว้ เพราะถึงแม้ตนเองจะไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน แต่ก็กราบ “รอยพระบาท” ของพรองค์ท่านอยู่ทุกวัน พร้อมกับนำคำสอนของพระองค์ท่านมาใช้ในชีวิตประจำวัน และเชื่อว่าทุกคนในประเทศก็สามารถนำคำสอนของพระองค์ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้เช่นกัน” ช่างไก่กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่ง ร้าน ก.เปรมศิลป์ เป็นร้านรับซ่อมรองเท้า และตัดรองเท้า เปิดให้บริการมานานเกือบ 40 ปี เน้นตัดรองเท้าเครื่องแบบ รองเท้าที่ข้าราชการต้องใส่เข้าพิธี รวมถึงรองเท้าใส่ทำงาน และรองเท้าลำลองทั่วไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน