จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เนื่องจากเป็นช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและน้อมรำลึกถึง เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ฉบับนี้ ขอนำเสนอราชยานยนต์ในรัชกาลที่ ๙ โดยนายแพทย์ สมคะนึง ตันฑ์วรกุล กรรมการบริหารสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย เก็บข้อมูลเรื่องราวทั้งหมดมาเล่าให้ฟัง ทั้งนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของพระองค์ท่านที่ทรงมีความสนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถนับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือ เรื่องราวเกี่ยวกับ”ยานยนต์”
ช่วงทรงพระเยาว์ตอนอยู่ในประเทศไทย ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงประทับอยู่ที่วังสระปทุมของ สมเด็จย่าของพระองค์คือสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ ห้วงเวลานั้นราชสำนักสยามมีรถยนต์ชั้นยอดของโลกอยู่มากมายในวัง พระประสบการณ์ช่วงแรกหนังสือบันทึกว่ารถองค์ (คัน) ที่สนองงาน หลักคือ เดมเลอร์ (Daimler) ชื่อรุ่น “เดมเลอร์ 25/45 แรงม้า” ” (Daimler 25/45hp) ซึ่งเคยเป็นราชรถในประบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖ มาก่อน
ทั้งนี้ในช่วงนั้นยังมีรถอีกหลายๆองค์ ที่ท่านทรงใช้เช่น เกรแฮม เพจ (Graham-Paige ), เดมเลอร์ (Daimler), วันเดอเรอร์ (Wanderer) และ เฟียต (Fiat) หลังจากนั้นเมื่อเจริญพระมายุ 7-8 พระชันษา ได้ย้ายไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ตอนประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลก็ถวายรถชั้นดีองค์หนึ่งให้คือรถ เมอเซเดส-เบนซ์ 500 เนอร์เบิร์ก (Mercedes-Benz Nurburg 500) ผลิตไม่กี่ร้อยคันตัวถังเป็นแบบลีมูซีน แต่ด้วยรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นรถเยอรมันซึ่งเป็นฝ่ายรุกรานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงดูไม่เหมาะสม สมเด็จย่าจึงเปลี่ยนมาเลือกใช้รถเดอลาเฮย์ (Delahaye) รถฝรั่งเศส อีกองค์ถัดมาเป็นรถพระที่นั่งแบรนด์ฝรั่งเศส เช่นกัน ซาล์มซง เอส 4 (Salmson S4 ) เป็นรถที่เล็กลงมา แต่เป็นเครื่องรถแข่ง รถองค์นี้รัชกาลที่ ๙ โปรดเดินทางไปกลับครูส่วนพระองค์ เวลาที่ต้องการไปแบบส่วนพระองค์มีตำรวจสวิตเซอร์แลนด์ ติดตามท่านก็จะให้ครูเร่งความเร็วสูงจนตำรวจตามไม่ทัน
ในช่วงประทับที่โลซาน ทุกวันอาทิตย์จะมีกิจกรรมของ 3 พระองค์ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ , รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙) และสมเด็จย่าจะเดินทางไปเจนีวาบ่อยครั้งเพื่อไปเสวยพระอาหารจีน เพราะมีกุ๊กของวังหลวงจีนมาเปิด และหลายๆครั้งขับเลยไปถึงฝรั่งเศส การเดินทางจะใช้รถยนต์ในการเดินทางระหว่างประเทศซึ่ง 2 ข้างทางมีวิวทิวทัศน์ที่ สวยงาม จึงเชื่อว่าในช่วงนี้เองที่ทำให้เกิดแรงบันดาลในการรักรถยนต์และรักการเดินทางโดยรถยนต์
เดอลาเฮย์ (Delahaye) เป็นรถชั้นสูง ของฝรั่งเศสผลิตที่กรุงปารีส ในช่วงเวลานั้นการซื้อรถยนต์จะเป็นการซื้อเครื่อง, โครง, แชสซี แล้วไปให้บริษัทที่รับออกแบบตามความต้องการของผู้ซื้อ เดอลาเฮย์ มีหลายเจ้าที่ทำเช่น อองรี ชาปรอง, เอส ฟิลาชี และมีตัวถังของปอตู ยุคสมัยนั้นรถยนต์ต้องมีตัวถังทรงหยดน้ำ เพราะชาวฝรั่งเศสเชื่อว่าแอโร่ไดนามิกที่ดีต้องเป็นทรงหยดน้ำและบังโคลนหน้าถึงบังโคลนหลังยาวสวยงาม
ขณะเดียวกันในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชนิยมชอบรถแข่งเหมือนเด็กทั่วไป ในยุค1930 เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง เมื่อพระชนมพรรษา 9 พรรษา ทรงไปดูการแข่งขันรถยนต์กรังด์ปรีซ์ ชื่องานกรังด์ปรีซ์เดอเบิร์น 1936 โดยในปีนั้น พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช ลงแข่งขันชิงรางวัลใหญ่ ด้วย
ซึ่งพระองค์เจ้าพีระนำเสด็จ รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ไปที่พิทสต็อปของทีมออโต้ยูเนียน (Auto Union ปัจจุบันคือ ออดี้) ซึ่งเป็นทีมเยอรมันที่แข่งขันกับ ทีมซิลเวอร์ แอร์โรว์ เมอร์เซเดส(Silver Arrow Mercedes) รถที่โด่งดังคือ ออโต้ ยูเนียน ไทป์ซี (Auto Union Type C ) เครื่อง 16 สูบวางกลางลำ ที่ขึ้นชื่อว่าแรงและเร็วที่สุดรุ่นหนึ่งในเวลานั้น นักแข่งของทีมออโต้ยูเนียนผู้โด่งดัง ชื่อ ฮันส์ ชตุ๊ค มาต้อนรับและประคอง รัชกาลที่ ๙ ขึ้นยืนบนล้อ ออโต้ ยูเนียน ไทป์ ซี เบอร์ 8 (Auto Union Type C ) และกลายเป็นภาพสำคัญที่ทรงพระสำราญ ทำให้เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์นี้คือจุดที่ทำให้มีพระราชนิยมในเรื่องรถแข่งด้วย
ในบันทึกบอกว่าพระองค์เจ้าพีระหรือนักแข่งดาราทองเป็นผู้ถวายคำแนะนำหรือในช่วงที่ทรงหัดขับรถ องค์พีระเป็นคนถวายหัดให้รัชกาลที่ ๙ หลังจากนั้นจะเห็นรัชกาลที่ ๙ ทรงเรือเร็วในแม่น้ำเจ้าพระยากับองค์พีระและติดตามไปดูการแข่งขันหลายครั้ง ดังนั้นการที่ท่านชอบรถฝรั่งเศสและรถแข่งที่มีความเร็วสูง รถที่ทรงมากสมรรถนะน่าจะ ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระองค์เจ้าพีระ นั่นเอง
หลังสงครามโลกจบเยอรมันกลายเป็นผู้แพ้และกลายเป็นผู้ร้ายของโลก และรถยนต์เยอรมันสูญหายไปจากการรับทราบของสังคมรถ โรงงานโดนทำลายพังหมด... เมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จชมการสวนสนาม เพื่อเป็นการทำให้เห็นว่าเมืองไทยไม่ได้แพ้สงคราม รัชกาลที่ ๘ จึงทรงโรลส์-รอยซ์ แฟนทอม 3 (Rolls-Royce Phantom 3 ) เป็นรถอังกฤษ และทำให้ราชสำนักสยามอยู่ในวงของรถอังกฤษเป็นหลัก
ช่วงหลังสงคราม ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงบรรลุนิติภาวะท่านทรงขอนุญาตสมเด็จย่าซื้อรถองค์หนึ่ง รถยนต์องค์นี้ท่านบอกเล็กน่ารักคือ เฟียตโทโปลิโน (Fiat Topolino) หรือที่รู้จักในชื่อ เฟียตหน้าหนู โดยที่ยุดนั้นดาราการ์ตูนที่โด่งดังเป็นหนูหน้าแหลมจะไม่เหมือนมิกกี้เมาส์ปัจจุบัน
สำหรับเฟียตโทโปลิโน เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ 500 cc โดยรถองค์นี้เป็นรถสีเขียว แล้วต่อมาในช่วงที่ท่านขึ้นครองราชย์แล้ว ท่านยังมีเฟียต 500 อีก 2 ลำดับ เป็น เฟียต 500 C คันเล็ก ท่านทรงเลือกรถคันเล็กๆ ไม่ได้ใช้รถที่มีความหรูหรา แม้เป็นพระราชาแต่ก็ยังชอบรถคันเล็กๆ ตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระชนมพรรษา 19 พรรษา ก็ยึดหลักความพอเพียงแล้ว
เข้าสู่ช่วงต้นรัชกาล ตอนที่ท่านอยู่เมืองไทย มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญก่อนท่านจะเสด็จกลับไปเรียนต่อที่ เจนีวา นั่งรถคันหนึ่งผ่านราชดำเนินคนล้อมรอบมีตัวแทนถวายตะโกนว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" คันนั้นคือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 340 คาร์บิโอเล็ต ไทป์ ซี (Mercedes-benz 340 cabriolet type c) ซึ่งจริงๆแล้วมี 7 ที่นั่งพับได้ ตามแค็ตตาล็อกจะเป็น คาร์บิโอเล็ต ไทป์เอฟ โดยรถองค์นี้เป็นรถของสำนักผู้สำเร็จราชการ เจ้าพระยายมราชเคยใช้ และในครั้งนั้นท่านเปิดประทุนเพื่อความใกล้ชิดกับพสกนิกร
นอกจากนั้น ท่านสั่งรถเข้ามา 4 องค์ด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นรถยนต์เดอลาเฮย์ ทั้งชุด เนื่องจาก เดอลาเฮย์กำลังจะเลิกผลิตในปี 2494 เป็นช่วงสุดท้ายของบริษัทฯ ประกอบไปด้วย องค์แรกปัจจุบันเป็นสีแดงแต่เดิมเป็นสีน้ำเงิน รถยนต์คันนี้ชื่อ เดอลาเฮย์ 135 เอ็ม , ส่วนเดอลาเฮย์ 178 สั่งมา 2 องค์ เครื่องเล็ก และเครื่องใหญ่ เพื่อใช้ส่วนพระองค์ และทรงโปรดให้บริษัทไทยประดิษฐ์ ต่อจากรถ 4 ประตูกลายเป็นวากอน 5 ประตู และใส่ช่องซันรูฟ ท่านเชื่อว่าคนไทยทำได้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยมีฝีมือในการสร้างสรรค์รถยนต์ได้ไม่แพ้ใครในโลก และอีกองค์ เดอลาเฮย์ 180 ลีมูซีน คือฐานล้อยาว มีกระจกกันระหว่างคนขับและผู้โดยสาร กระจกเลือนขึ้น-ลง ได้รอบคันควบคุมด้วยแรงดันไฮโดรลิก
นอกจากเดอลาเฮย์ ที่เป็นรถยนต์นั่งแล้วจะมีเป็นรถจิ๊ป (JEEP) อีกองค์หนึ่ง ปกติแล้วรถจิ๊ปจะเป็นรถอเมริกัน แต่องค์นี้เป็นรถฝรั่งเศส จะเป็นรุ่น VLR เครื่องยนต์เบนซินขับเคลื่อน 4 ล้อ ท่านสั่งมาเพื่อใช้ไปเยี่ยมพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร ถนนไม่ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านสั่งรถเข้ามามีจุดประสงค์เพื่อราชประสงค์อยู่แล้วและในตอนหลังกลายเป็นท่านพระปรีชาชาญในการขับรถโฟร์วิลไปเลย
อีกเหตุการณ์ ครั้งหนึ่งเกิดไฟไหม้ใหญ่ที่ตลาดบ้านโป่ง ท่านสดับข่าวทางวิทยุ ท่านกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงทรงรถ เดอลาเฮย์ คาร์บิโอเลต (Delahaye Cabriolet) ขับไปที่บ้านโป่งเอง ข้าราชการบริพารตามไปแต่ไม่ทัน เนื่องจากรถมีกำลังเครื่องแรงมาก กว่าที่ข้าราชบริพารจะตามไปทันก็ตอนที่ท่านหยุดเสวยพระสุธารสที่พระราชวังสนามจันทร์ ท่านไปเยี่ยมพสกนิกรที่ไฟไหม้และพระราชทานเงินช่วยเหลือ ถือเป็นครั้งแรกที่ทรงไปเยี่ยม ไปสัมผัส ปัญหาเดือดร้อนของพสกนิกรด้วยตนเอง
การออกเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาค นอกจากเดอลาเฮย์ รุ่น VLR ขับเคลื่อน 4 ล้อ ในการเยี่ยมพสกนิกร แล้วท่านยังใช้อีกองค์หนึ่ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ 300 (Mercedes-Benz 300) ซึ่งทรงใช้งานอยู่นานจนเป็นสัญลักษณ์ของรถหลวงโดยมีทั้งรุ่น 300 E กระจกหลังแคบ , รุ่น 300 C กระจกหลังกว้าง และมีเหตุการณ์ระหว่างทางไปภาคเหนือช่วงอำเภอวังทอง พิษณุโลก กันดารมาก ท่อไอเสียหักท่านหยุดอยู่กลางป่าเพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ซ่อมแซม อีกคันเมอร์เซเดส-เบนซ์ 300 D คันนี้สามารถเดินทางไกลมากถึงสุไหงไกลก
การใช้รถเก๋งทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทุกที่ตามพระประสงค์ได้ จึงเป็นที่มาของการนำรถขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4WD เข้ามาประจำการในราชยานยนต์ โดยเป็นรถอเมริกันยี่ห้อ จี๊ป และ รถอังกฤษยี่ห้อ แลนด์โรเวอร์ (Land Rover) ซึ่งเราจะเห็นบ่อยๆกับการขับลุยน้ำครึ่งคัน ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์อันเป็นที่จดจำของคนไทยทั่วประเทศ
พ.ศ. 2524 ที่บ้านปอเยาะ ภาพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงนั่งพิงรถ บนสะพานไม้ นั่นคือเหตุการณ์ที่ท่านทรงรถมาแล้วสอบถามว่า หมู่บ้านแห่งนี้ทำไมไม่มีในแผนที่ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อพสกนิกร ปัจจุบันสะพานนี้ได้รับการเก็บรักษาซ่อมแซมให้เหมือนเดิม ส่วนรถแลนด์โรเวอร์ซีรี่ส์ 3 คันดังกล่าวถูกเก็บอยู่ในวังสวนจิตร
นอกจากรถขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ว ในปี 2497 รัฐบาลถวายเมอร์เซเดส เบนซ์ 300 SL กัลล์วิง (Mercedes-Benz 300SL Gullwing ) สุดยอดของรถสปอร์ตในยุคนั้น และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อเบนซ์ 190 SL (Mercedes-Benz 190SL) เพื่อนำกลับมาใช้ในราชการ แล้วก็มีรถเอมิลคาร์ 1200 cc (Amilcar 1200 cc) เป็นรถที่ผลิตในปีที่พระองค์ทรงพระราชสมภพ นำกลับมาจากสวิตเซอร์แลนด์ ปรับตัวถังใหม่ เปลี่ยนเครื่องเป็นเครื่องรถแข่ง
สำหรับรถในพระราชพิธีคือ เดมเลอร์ DE 36 (Daimler DE36) ซึ่งรัฐบาลซื้อถวาย เป็นรถอังกฤษที่สืบทอดพระราชนิยม เนื่องจากรถองค์หลักจะเป็นรถอังกฤษเกือบตลอด เครื่องยนต์ 8 สูบเรียง ผลิตโดยฮูปเปอร์ เป็นรถสำหรับผู้นำเท่านั้น ปัจจุบันทั่วโลกมีราว 10 กว่าคัน รถเดมเลอร์องค์นี้เป็นลีมูซีน ตัวถังยาวมีกระจกกั้นระหว่างคนขับ เป็นหลังคาผ้าใบที่เปิดเวลาทรงในพระบรมหาราชวังจะเปิดหลังคาด้านหลัง รถในขบวนมีรถที่เครื่องแรงเป็นรถแข่งอีก 2 คันได้แก่ จากัวร์ มาร์ค 7 เอ็ม (Jaguar Mark VII M)และ อาร์มสตรอง ซิดเดลีย์ แซฟไฟร์ (Armstrong Siddeley Sapphire)
รวมถึง เมอร์เซเดส-เบนซ์ 600 (Mercedes-Benz 600) เป็นรถยนต์ที่ใหญ่สุดของ เมอร์เซเดส-เบนซ์เคยทำมาในเวลานั้น ช่วงล่างถุงลม ระบบกระจก การปิดประตู ปิดฝาท้ายใช้น้ำมันไฮโดรลิก ท่านมี 2 องค์เป็นลีมูซีน Landaulet ยาวเป็นพิเศษชื่อพูลแมน และตัวยาวธรรมดาอีกองค์หนึ่ง และหลังจากนั้นจะเป็นโรลส์-รอยซ์ แฟนทอม 6 (Rolls-Royce Phantom VI) เป็นรถที่ราชสำนักอังกฤษใช้
สืบเนื่องจากหลังจากท่านเสด็จเยือนยุโรปครั้งใหญ่ 5 ประเทศ และสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2503 ตอนนั้นมีการต้อนรับด้วยยานยนต์มอเตอร์เคต ใช้รถเปิดประทุนต้อนรับมีการปาข้าวตอกดอกไม้ ใส่รถ และในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลไทยลงมติ ให้มีการสวนสนามรักษาพระองค์และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยใช้รถ แคดิแลค เอลโดราโด เบียร์ริตซ์ (Cadillac Eldorado Biarritz) เปิดประทุนถวายงานอยู่หลายปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นโรลส์รอยซ์ คอร์นิส คอนเวอร์ติเบิล (Rolls-Royce Corniche Convertible ) และองค์หลังสุด แคดิแคล ดีทีเอส (Cadillac DTS ) ทรงสั่งทำพิเศษ เปิดหลังคา เกียร์ทดรอบช้าเป็นพิเศษเพื่อการตรวจพล
ในระยะหลัง ทรงรถยนต์ที่เล็กลง ช่วงที่ท่านสอนเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนั้นเราจะเห็นทรงรถยนต์โตโยต้า โซลูน่า (Toyota Soluna) อักษรไทย และ โตโยต้า พรีอุส(Toyota Prius) รุ่นแรก เป็นรถไฟฟ้า ตอนนั้นคนทั่วไปยังไม่มีใครรู้จักรถไฟฟ้า รวมถึงการสั่งซื้อรถ อีซูซุ มิว 7 จำนวน 10 คัน ด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ทรงงาน ตอนหลังรถถวายงานกลับเป็นโฟล์ก คาราเวล (Volkswagen Caravelle VR6) เพราะอำนวยความสะดวกได้ดีกว่า และมีมายบัค 62 (Maybach 62) ด้วย
ด้วยการที่ทรงติดตามมอเตอร์สปอร์ตในช่วงปลายรัชกาลเมื่อเทียบกับตอนต้นรัชกาลที่ทรงไปดูรถแข่ง ทีมไทยของพระองค์เจ้าพีระ เทียบได้กับทีมไทยของ เรดบูลล์ เรซซิ่ง ที่มีความเป็น ทีมไทย ดังนั้นเมื่อเรดบูลล์ เรซซิ่งได้รับชัยชนะมาติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของทีมนำ มาร์ค เวบเบอร์ เดินทางมาถวายรายงานและนำรถแข่งที่เป็นแชมป์ฟอร์มูล่าวัน ของทีมเรดบูลล์ เรซซิ่ง มานำแสดงท่านที่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมขับแข่งโชว์ที่ถนนราชดำเนิน ภายใต้ชื่องาน Street of King
นับเป็นเวลาถึง 74 ปีที่ห่างกัน ตั้งแต่ตอนที่ท่านพระชนมพรรษา 9 พรรษา ท่านได้พบนักแข่งฟอร์มูล่าวันคนดังคือ ฮันส์ ชตุ้ค จนกระทั่งเมื่อมาพบแชมป์อีกคนคือ มาร์ค เวบเบอร์ ทำให้เห็นว่าทรงมีพระราชนิยมในเรื่องรถยนต์และติดตามมอเตอร์สปอร์ตมาโดยตลอด
เรื่องราวของราชยานยนต์ในรัชกาลที่ ๙ ยังคงมีอีกมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุมควรค่าแก่การบันทึกและจดจำไว้อย่างยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก - รายการ Autoworldthailand และ นายแพทย์ สมคนึง ตัณฑ์วรกุล
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน