จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย นครินทร์ ชาลปติ Box Hill Institute, Australia
ปัจจัยเรื่องแรงงานเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันดีว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีคุณภาพ นั่นคือขาดทักษะและความสามารถที่ตลาดต้องการ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากสาเหตุสำคัญ คือ หนึ่ง-การจัดการการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น การใช้ภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ, ญี่ปุ่น, จีน) ความรู้ทางด้านไอที และการคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหา เป็นต้น
โลกในยุคปัจจุบันพัฒนาไปรวดเร็วมาก มีอุตสาหกรรมประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวะและอุดมศึกษามีความยืดหยุ่นและปรับตัวระดับไหนในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่
สาเหตุหลักอีกประการ คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มเปลี่ยนไป จากอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมโรงงานที่พึ่งแรงงานไร้ฝีมือเป็นหลัก ไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เน้นการบริการและเทคโนโลยีระดับสูง เช่น การบริการทางการเงิน หรืออุตสาหกรรมไอโอทีและคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่นในอุตสาหกรรมระดับล่างได้อีกต่อไป ทางออกก็คืออุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีและความรู้ระดับสูง เพื่อรักษาความสามารถแข่งขันในตลาดโลกเอาไว้ แต่เนื่องจากทักษะและความรู้ของแรงงานไทยยังต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากภาคเอกชน และจากต่างประเทศให้มาลงทุนอุตสาหกรรมระดับสูงได้
นอกจากนี้ บางสาขาอุตสาหกรรมก็มีการขาดแคลนทางด้านปริมาณอีกด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ประมง ธุรกิจร้านอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก เพราะคนไทยขาดความสนใจที่จะทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้
ยิ่งกว่านั้น อัตราการเกิดในประเทศลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ที่เห็นได้ชัดเจนคือการลดลงของจำนวนประชากร จะทำให้ปริมาณของแรงงานในประเทศลดลง และจะส่งผลให้กำลังซื้อของตลาดภายในประเทศลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้น การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้ โดยเฉพาะทางด้านคุณภาพ ซึ่งการศึกษาจะช่วยได้ในการสร้างและพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ การศึกษาทุกระดับต้องเป็นตัวจักรกลในการเตรียมความพร้อมของแรงงานในอนาคต
เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพื่อสร้างความพร้อมของเด็กเล็กในการเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับประถม จะต้องสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ บวกลบเลขคณิตขั้นพื้นฐาน เพื่อจะได้มีพื้นฐานที่ดีสำหรับความรู้ที่สูงขึ้นในระดับมัธยม ซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อมอีกเช่นกัน รวมถึงในระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ
สอง-รัฐบาลและสถาบันการศึกษามีความพร้อมระดับไหนในการใช้การศึกษาเพื่อสร้างแรงงาน เป็นแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น หลักสูตรที่ทันสมัย, ครู-อาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในการสอน และอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม เป็นต้น
สาม-เราต้องการแรงงานที่มีทักษะและความสามารถแบบไหน หรือมีคุณวุฒิระดับไหน คือ ตลาดแรงงานของไทยต้องการแรงงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวะกันแน่ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราได้ผลิตแรงงานจำนวนมากที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท แต่ทำงานในตำแหน่งไม่ตรงกับคุณวุฒิของตน นับเป็นการสูญเสียเงินทองและเวลาโดยใช่เหตุ
รัฐบาลควรสำรวจหาความต้องการที่แท้จริงของตลาด หากตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานในระดับอาชีวะมากกว่า รัฐบาลก็ควรจะส่งเสริมการพัฒนาวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะและความสามารถตรงกับที่ตลาดต้องการให้ได้ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติในทางลบของสังคมที่มีต่อนักเรียนอาชีวะ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี การใช้การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยปกติแล้วการเตรียมความพร้อมสำหรับคนหนึ่งคน ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีทักษะและความรู้ตามที่ตลาดต้องการ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 18-23 ปี เราอาจต้องคิดถึงทางเลือกอื่น ที่ใช้เวลาสั้นกว่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
โดยทางเลือกแรก-การใช้นโยบายคนเข้าเมือง (migration policy) เป็นนโยบายหลักที่มีส่วนช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดใหม่ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการสร้างแรงจูงใจให้พลเมืองของประเทศอื่น ๆ ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศของตน ส่วนดีของนโยบายนี้ คือ ช่วยเพิ่มจำนวนประชากร ส่งผลให้เกิดกำลังซื้อที่มากขึ้นกับตลาดภายในประเทศ และยังช่วยสร้างแรงงานที่มีทักษะและความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในระยะเวลาอันสั้น และใช้งบประมาณน้อยกว่านโยบายการศึกษาเป็นอันมาก ส่วนผลเสียคงเป็นเรื่องความมั่นคงและอาชญากรรมข้ามชาติทั้งหลาย
มาตรการหลักๆ ในเรื่องนโยบายคนเข้าเมืองที่มีการใช้อย่างกว้างขวาง คือ การชักชวนพลเมืองของประเทศอื่นให้ย้ายถิ่นฐาน และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพลเมืองของตัวที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ให้ย้ายกลับมาประเทศแม่อย่างถาวร หรือการอนุญาตให้มีสองสัญชาติ ตามแนวคิด “สมองหมุนเวียน” (brain circulation) แนวคิดนี้มีความเชื่อว่าโลกยุคใหม่นี้ มนุษย์มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตลอดเวลา ในช่วงชีวิตหนึ่งของเราอาจจะไม่ได้อาศัยในประเทศหนึ่งประเทศเดียวอีกต่อไป โอกาสในการเดินทางไปและอาศัยในประเทศอื่น ๆ มีมากขึ้น และความรู้ก็มีมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้สามารถที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ที่ตัวเองมีให้กับประเทศแม่ของตัว ซึ่งรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ต้องมีมาตรการในการดึงดูดพลเมืองนอกประเทศเหล่านี้ให้กลับมาถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้กับเพื่อนร่วมชาติ หรือนำการลงทุนจากต่างประเทศมาสู่ประเทศแม่ของตัว
ทางเลือกที่สอง-แรงงานทดแทน (substitute workforces) ได้แก่ แรงงานผู้หญิง, แรงงานสูงอายุ และแรงงานผู้พิการ เหล่านี้เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบหรือนอกตลาดแรงงานปกติ แต่ยังมีความสามารถในการทำงานได้ รัฐบาลควรกระตุ้นและเปิดโอกาสให้นำแรงงานเหล่านี้เข้ามาสู่ตลาดแรงงานปกติ ทั้งนี้ รัฐควรจะส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมเรื่องทักษะและความรู้ใหม่แก่แรงงานเหล่านี้ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีมาตรการที่ประนีประนอมในการจัดการทรัพยากรบุคคล เช่น ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว, การจ้างงานแบบพาร์ตไทม์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (ห้องน้ำ, ลิฟต์ หรือทางเดิน) เป็นต้น
ในกรณีของประเทศไทย ยังมีแรงงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก คือแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงคนไร้สัญชาติ เช่น ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดนต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานต่างชาติเหล่านี้มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะดิ้นรนแสวงหาการดำรงชีวิตที่ดีกว่า อาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อแรงงานต่างชาติเหล่านี้เสียใหม่ มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน มีลูกหลานเรียนหนังสือในโรงเรียนไทย เด็ก ๆ เหล่านี้พูดภาษาไทย ดูหนังและละครไทย ซึมซับแนวคิดและวัฒนธรรมไทยมาตลอดชีวิต แม้เด็กเหล่านี้จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียน มีความสามารถในการอ่านออกและเขียนภาษาไทยได้
แต่ที่น่าเสียดายว่าไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป หมดโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะและความสามารถที่เพิ่มพูนขึ้น นับเป็นการสูญเสียโอกาสสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาและใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต รัฐบาลควรส่งเสริมให้ลูกหลานแรงงานต่างชาติได้รับการสอนและฝึกอบรมทักษะวิชาชีพและความสามารถอื่น ๆ ที่ตลาดแรงงานต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต
กล่าวโดยสรุป ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์นั้น รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบาย และต้องมีความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย โดยมีนโยบายการศึกษาเป็นตัวกำหนดประเภทของการศึกษาที่เหมาะสมในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องการ และควรนำนโยบายประเภทอื่น ๆ เช่น นโยบายคนเข้าเมือง มาช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนด้วย
ที่สำคัญรัฐบาลควรปรับวิธีการคิดเสียใหม่ โดยนำแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจมานำแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน