จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก
โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง
ภาพเศรษฐกิจไทยดูเหมือนว่าจะเริ่มสดใสขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายนที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโดยรวม และประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 น่าจะสูง และอาจจะถึงร้อยละ 4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 3.2 ในไตรมาส 1 และร้อยละ 3.7 ในไตรมาส 2 (4 พฤศจิกายน 2560)
ต้องยอมรับว่า การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมานั้น ตัวขับเคลื่อนหลักคือ การส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์นั้นขยายตัวร้อยละ 11-12 ซึ่งเกินความคาดหมายอย่างมาก ทำให้การขยายตัวของการส่งออกใน 9 เดือนแรกสูงถึงร้อยละ 9 เทียบกับที่ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ทั้งปีจะขยายตัวที่ร้อยละ 4-5 ทั้งนี้เป็นผลจากการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกจึงได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวนี้ นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญ โดยปีนี้การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญในปลายปีที่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาเที่ยวเมืองไทยนับแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
แต่อานิสงส์ของการขยายตัวจากการส่งออกและท่องเที่ยวก็ยังไม่กระจายตัวให้กับภาคส่วนอื่นมากนัก ดังจะเห็นว่าการบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัวในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างก็ตาม ทั้งนี้ หลายฝ่ายก็ให้ความหวังว่า หากการขยายตัวดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็จะส่งผลให้ภาคส่วนอื่น ๆ ได้ฟื้นตัวตามได้
ข่าวดี คือล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปีนี้ ซึ่งหมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะดำเนินได้ต่อเนื่องในปีหน้า และการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศน่าจะต่อเนื่องในระดับร้อยละ 4 ในปีหน้าด้วย ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอลงบ้างจากปีนี้
ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่สนับสนุน ทำให้มีการปรับมุมมองและการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งคาดการณ์เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย การขยายตัวในระดับใกล้ร้อยละ 4 ต่อเนื่อง 2 ปี เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่า การคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นมาจาก
1.การขยายตัวของการส่งออก โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 ในปี 2561 ชะลอลงจากปี 2560 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 7-8
2.ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-8 ในปี 2561 เทียบกับปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 9-10
3.การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10-11 ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4-5 ในปีนี้
ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่า ทั้ง 2 หน่วยงานยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใน โดยทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0-3.4 เท่านั้น ต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจภายในน่าจะยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
โดยสรุป การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2561 น่าจะมีความต่อเนื่องจากปี 2560 โดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะชะลอลงบ้าง แต่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะเร่งตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้มีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้ามากขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่ำกว่าคาด และความล่าช้าในการผลักดันการลงทุนของภาครัฐนั่นเอง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน