จากประชาชาติธุรกิจ
ปลุกมู้ดจับจ่าย กระตุ้นจีดีพี ขาช้อบปลายปีใจเต้นกันระนาว หลังวันนี้ ครม.ประกาศไฟเขียว “ช้อปช่วยชาติ 2017” จัดเต็มยาวนานกว่าทุกปีถึง 23 วัน ตั้งเเต่วันที่ 11 พ.ย. จนถึง 3 ธ.ค. นี้
หลายคนคงสงสัย จะมีสินค้าหรือบริการอะไรบ้างที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ และวิธีการขอลดหย่อนภาษีเขาทำกันอย่างไร ใครบ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” นำสิ่ง “ต้องรู้” กับมาตรการช้อปช่วยชาติ มาฝากกันเเบบทันใจ
โดย “ช้อปช่วยชาติ” เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
แม้กระทรวงการคลัง ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้มีภาษีที่ต้องสูญเสียประมาณ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท สูญเสียรายได้ภาษีราว 1,800 ล้านบาทแต่ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.05% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า “ช้อปช่วยชาติ” ตลอด 23 วัน มีคนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีราว 2.25 หมื่นล้านบาท
จากข้อมูลระบุว่า มาตรการช้อปช่วยชาติปลายปี 2559 ที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บภาษี VAT เดือน ม.ค. 2560 อยู่ที่ 245,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 2559 รวม 3,688 ล้านบาท หรือ 1.5% ขณะที่เดือน ธ.ค. 2559 เก็บภาษี VAT ได้ 61,589 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ธ.ค. 2558 ราว 644 ล้านบาท หรือ 1%
โดยรัฐบาลใช้มาตรการช็อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้ว 2 ครั้ง มีการดำเนินการครั้งแรกช่วงปลายปี 2558 เป็นเวลารวม 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค.2558 และต่อมาในปี 2559 มีการเพิ่มระยะเวลาเป็น 18 วัน ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค.2559 และครั้งนี้ปี 2560 คือครั้งที่ 3 เพิ่มระยะเวลาเป็น 23 วัน ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560
ใครใช้ได้บ้าง?
ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยต้องนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ได้จากห้างร้านที่จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ที่มีเงินได้ต่อปีรวมไม่ถึง 150,000 บาท ไม่ต้องไปรอคิวให้เสียเวลา เพราะอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
เงื่อนไขการใช้สิทธิ “ช้อปช่วยชาติ”
คุณต้องซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2560 โดยต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว ไม่เป็นสินค้าหรือบริการที่ต้องห้ามไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน โดยซื้อกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมต้องได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ไม่สามารถใช้สลิปใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อได้
สินค้าและบริการที่สามารถลดหย่อนภาษีได้…มีอะไรบ้าง?
-ค่าซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า
-ค่าซื้อสินค้าจากร้านค้า duty free
-ค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารและโรงแรมที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
-ค่าศัลยกรรมกับสถานเสริมความงามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
-ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ อะไหล่รถยนต์
-ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
-ค่าบริการทำสปา นวดหน้า
-ค่าตั๋วหนัง
-ค่าซ่อมรถ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560
-ค่าบริการเทรดหุ้น ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560
-ค่าตั๋วเครื่องบินที่บินในประเทศ ของสายการบินที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560โดยต้องซื้อและบินภายในช่วงเวลามาตรการเท่านั้น
สินค้าและบริการ…อะไรที่ใช้ไม่ได้บ้าง?
สินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว เช่น ผักสด ของสด หนังสือ ทองคำแท่ง สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าที่พักและโรงแรม ค่านำเที่ยว มัคคุเทศก์ การรับบริการจากสถานพยาบาลและซื้อบัตรของขวัญห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ การซื้อทองรูปพรรณ สามารถนํามาหักลดหย่อนภาษีได้เฉพาะค่ากำเหน็จหรือค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ส่วนทองคำแท่ง ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้
ขอใบกำกับภาษีอย่างไร ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ใช้ยื่นภาษีได้ถึงเมื่อไหร่?
เบื้องต้นต้องสอบถามทางร้านและผู้ประกอบการ ว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยผู้ซื้อสินค้าสามารถแจ้งกับพนักงานที่เราไปใช้บริการได้ โดยระบุว่า “ขอใบกำกับภาษีในนามบุคคล” พร้อมยื่นบัตรประชาชนเพื่อให้พนักงานกรอกข้อมูล
ส่วนการขอลดหย่อนภาษีจากมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ต้องใช้ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
-ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” อย่างชัดเจน
-ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้า
-ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อ
-หมายเลขของใบกำกับภาษี (ถ้ามี)
-ต้องมีชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
-ต้องมีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
-ต้องมีวัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
-ข้อความอื่นๆ (ถ้ามี)
โดยเราจะใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ได้ มาทำการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 ซึ่งสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2561
สำหรับใบกำกับภาษีที่ไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการเเก้ไข จะสามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้หรือไม่ กรมสรรพกร ระบุว่า หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เเม้จะมีการเขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการเเก้ไขข้อความก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้
ขณะที่ในกรณีใบกำกับภาษี มีทั้งรายการสินค้าเเละบริการ ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเเละไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไรนั้น ผู้ซื้อสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาลดหย่อนได้ โดยจะให้เฉพาะค่าสินค้าเเละบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
รู้ขั้นตอน-ข้อมูลครบถ้วนเเบบนี้ ก็ถึงเวลาเตรียมพร้อมเงินในประเป๋า เเล้วก้าวไปช้อปกันเลย…
“กรมสรรพากร”ชี้แจงมาตรการช้อปช่วยชาติซื้อสินค้า-บริการอะไรได้บ้าง พร้อมตอบ10คำถามถูกถามบ่อย
จากประชาชาติธุรกิจ
“กรมสรรพากร” ชี้แจงมาตรการช้อปช่วยชาติใช้ซื้อสินค้า-บริการอะไรได้บ้าง พร้อมตอบ 10 คำถามถูกถามบ่อย คลิกอ่านรายละเอียด
สรรพากรยืนยัน อาบอบนวด-คาราโอเกะ-สปา ใช้สิทธิโครงการช้อปช่วยชาติได้ หากมีใบกำกับภาษีถูกต้อง!
จากประชาชาติธุรกิจ
นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สินค้าและบริการในมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่จะนำมาเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะต้องเป็นสินค้าและบริการที่มีการใช้จ่ายจริงในช่วงวันที่ 11 พ.ย.– 3 ธ.ค.2560 เท่านั้น โดยต้องเป็นสินค้าและบริการเพื่อใช้ในประเทศ และสินค้านั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% มีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตร 86/4 ซึ่งไม่รวมรายจ่ายสินค้าประเภทสุรา เบียร์ ไวน์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมพาหนะ ส่วนรายจ่ายบริการไม่รวมถึง รายจ่ายจากการท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม เป็นต้น
นอกจากนี้ รายจ่ายที่ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้อีก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม ค่าซื้อทองคำแท่ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ค่าซื้อเนื้อหมู ไก่ ปลา ค่าซื้อหนังสือ นิตยสาร ตำราเรียน เป็นต้น ซึ่งบางรายการเป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มยกเว้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การใช้บริการสปา อาบอบนวด คาราโอเกะ หากมีการออกใบกำกับภาษีถูกต้องก็สามารถลดหย่อนได้ ส่วนค่าสมัครฟิตเนสหากทำสัญญารายปีจะใช้หักลดหย่อนไม่ได้ แต่หากซื้อสินค้าและผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตเป็นรายเดือนจะใช้หักลดหย่อนได้
ขณะที่ตั๋วเครื่องบินจะหักภาษีได้เฉพาะสายการบินที่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องเป็นเที่ยวบินในประเทศพร้อมกับซื้อและบินในช่วงดังกล่าว โดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษี กรมจะยึดรายจ่ายตามใบกำกับภาษีเท่านั้น ทั้งนี้ สรรพากรประเมินว่าจะมีผู้มาหักลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปช่วยชาติประมาณ 22,500 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่หักลดหย่อน 15,000 ล้านบาท โดยรัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายที่นำมาหักลดหย่อนได้จะต้องมีการซื้อจริง และใช้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 11 พ.ย.– 3 ธ.ค.60 เท่านั้น
ที่มา ข่าวสดออนไลน์
ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ช้อปช่วยชาติกระตุ้นใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกราว 1 หมื่นล้านบาท
จากประชาชาติธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ช้อปช่วยชาติกระตุ้นใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกราว 1 หมื่นล้านบาท แนะผู้ประกอบการเตรียมสต๊อกสินค้า-โปรโมชั่น-ใบกำกับภาษี
จากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 เป็นวงเงิน 15,000 บาท ระยะเวลารวม 23 วัน โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 ได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการช็อปช่วยชาติดังกล่าว น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยให้กับธุรกิจค้าปลีกได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ และน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตสินค้า (Supplier) เกษตรกร รวมถึงการจ้างงานของธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่ของธุรกิจค้าปลีก
จากที่ก่อนหน้านี้ ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มฐานราก ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของประเทศ โดยสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ยอดขายของสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน และครอบคลุมหลายๆ พื้นที่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
ที่มา: BOT และ KResearch
ทั้งนี้ จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการช็อปช่วยชาติ 15,000 บาท ปีนี้ จะมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
• จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการช็อปช่วยชาติ ปี’60 คนที่มีฐานรายได้สุทธิมากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป ยังคงวางแผนใช้สิทธิใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีฐานรายได้สุทธิ 2 ล้านบาทขึ้นไป วางแผนที่จะใช้สิทธิเต็มจำนวน แต่คนที่มีฐานรายได้สุทธิไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี วางแผนที่จะใช้สิทธิลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก ยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงส่งของมาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกใกล้เคียงกับที่ภาครัฐได้ประเมินไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่จากการสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 40 ของผู้ที่จะใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าว มีแผนที่จะใช้จ่ายอยู่แล้วในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพียงแต่อาจวางแผนเลื่อนวันในการซื้อสินค้าให้เร็วขึ้นในช่วงที่ออกมาตรการ เพื่อต้องการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าต่อชิ้นสูง
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปีนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อม ทั้งในเรื่องของสต็อกสินค้า การจัดการเรื่องของใบกำกับภาษี และเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขายให้เร็วขึ้นกว่าปีก่อน เพื่อหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค และส่งผลให้คาดว่า บรรยากาศโดยรวมในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีนี้ น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ 2 รอบ คือ ช่วงมาตรการช็อปช่วยชาติและช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งต่างจากปีก่อนที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน