จากประชาชาติธุรกิจ
สรรพากรย้ำไม่ได้ออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซเฉพาะ แต่เป็นกฎใหม่คุม e-Business รีด VAT จากการให้บริการดิจิทัลข้ามชาติที่ลูกค้าอยู่ในไทยเพื่อแฟร์เกม โดยให้แพลตฟอร์มเป็นผู้นำส่งภาษี คาดเปิดประชาพิจารณ์อีกรอบได้ ม.ค.นี้ ด้าน สพธอ.เตรียมเปิดบริการอีมาร์เก็ตเพลส “ทุเรียน” เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทยไม่เกินกลางปี 61 หวังลดปัญหาผูกขาดโดยยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ
นางแพตริเชีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ว่า กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงหลังจากได้รับฟังความเห็นในรอบแรก คาดว่าจะนำร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงเปิดรับฟังความเห็นได้อีกครั้งภายในราวเดือนม.ค. ปี 2561 ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งก็จะพยายามทำให้ได้เร็วที่สุด ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ย้ำในเรื่องนี้อยู่ตลอด แต่ด้วยแต่ละขั้นตอนมีกรอบเวลาที่กำหนดไว้อยู่แล้ว อาทิ การเปิดประชาพิจารณ์ต้องอย่างน้อย 15 วัน
“ย้ำว่า ไม่ใช่การเก็บภาษีคอมเมิร์ซ แต่เป็นการเก็บภาษี e-Businessเพื่อเติมเต็มกฎหมายเดิมที่ยังขาด เพื่อให้แน่ใจว่ามีการเสียภาษีในทุกที่มีกิจกรรมทางธุรกิจเกิดขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรไม่มีตัวเลขภาษีที่รั่วไหลออกไป แต่เรื่องภาษียังมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งภาษีระหว่างประเทศ อนุสัญญาภาษีซ้อน ในการเก็บภาษีจึงมีหลายองคาพยพที่จะต้องดูให้ครบถ้วน กรมฯ ต้องการเห็นความเป็นธรรมความยุติธรรมระหว่างผู้ประกอบการทั้งอีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการที่ค้าขายปกติในประเทศ และผู้ประกอบการในประเทศกับต่างประเทศก็ต้องเป็นแฟร์เกม”
ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการในประเทศก็ใช้ประมวลรัษฎากรปกติ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับใหม่เนื่องจากครอบคลุมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะค้าขายออนไลน์หรือออฟไลน์ โดยแยกการจัดเก็บออกเป็นรูปแบบของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล แต่ที่ต้องแก้คือ การจะกำหนดวิธีจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อให้การเก็บภาษีครอบคลุมถึงการทำธุรกิจบางอย่างที่อาจจะก่อให้เกิดลักษณะที่เรียกว่าสถานประกอบการในไทยหรือบริการบางอย่างที่ให้บริการจากต่างประเทศ แต่ใช้บริการในไทยจะต้องมีนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยหลักๆ คือให้แพลตฟอร์มเป็นคนนำส่งภาษี เพราะเป็นการใช้บริการในไทย จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย แต่ไม่ได้กำหนดให้ต้องมาตั้งสำนักงานในไทย ซึ่งในการเปิดประชาพิจารณ์ครั้งแรกก็มีความเห็นจากต่างประเทศที่แจ้งข้อกังวล
“ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศ และเริ่มมีหลายโมเดลที่ถูกนำมาแก้ปัญหา แต่โมเดลการกำหนดให้แพลตฟอร์มเป็นคนนำส่งภาษีเริ่มใช้ในหลายประเทศแล้ว อย่างในประเทศอินเดียจะแจ้งลูกค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มว่า ถ้ามีการขายบริการดิจิทัลไปให้ลูกค้าในอินเดีย คนขายจะต้องนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรอินเดีย อาทิ การขายสติ๊กเกอร์แชทที่ผู้ดาวน์โหลดอยู่ในอินเดีย เพราะปกติผู้ให้บริการจะรู้อยู่แล้วว่าผู้ใช้ปลายทางอยู่ที่ประเทศไหน ซึ่งข้อกำหนดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) ได้ให้คำแนะนำว่า การเรียกเก็บภาษีด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด”
ด้านสินค้าที่บรรดาอีมาร์เก็ตเพลสของต่างประเทศนำเข้ามาขายในไทย จะแยกเป็นอีกประเด็น เพราะเวลานำเข้าจะมีกฎหมายของกรมศุลากรที่จะยกเว้นอากรรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มให้สำหรับการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งกำลังเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกในส่วนนี้ แต่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ก็มีข้อท้วงติงในประเด็นนี้อย่างมาก
คำแนะนำสำหรับผู้ค้าขายออนไลน์ว่าจะเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลนั้น ด้วยข้อแตกต่างในรายละเอียดแล้วแต่รายจึงไม่สามารถจำเพาะจงเจาะได้ หากผู้ประกอบการรายใดต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อได้ที่สรรพากรพื้นที่
โดยหลักคือ ถ้ายื่นภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา ก็คือรายได้หักรายจ่ายหักค่าใช้จ่าย ถ้าไม่มีหลักฐานเอกสารจะใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายเหมา60% แต่ถ้าจะหักตามจริงก็ต้องมีเอกสารรายจ่ายให้ครบ แล้วก็เข้าคิดค่าลดหย่อน กำไรสุทธิเสียภาษีในอัตรา 0 – 35% แล้วแต่เกณฑ์ แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลจะต้องมีเอกสารรับรายจ่ายให้ครบ กำไรในส่วน 3แสนบาทแรกได้รับการยกเว้นภาษี
“จะเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีมาตรการจูงใจให้เปลี่ยนมาจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้นในหลายรูปแบบ ถ้าอยากจะเป็นนิติบุคคลเพื่อการเติบโตที่ง่ายขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะสำหรับการทำธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ นี่คือโอกาสทองจนถึงสิ้นปีนี้ ที่จะแปลงจากบุคคลเป็นนิติบุคคล ส่วนคนที่ยังไม่เข้าระบบภาษีเลยตอนนี้ก็มีกระบวนการตรวจสอบและติดตามอยู่”
นางสาวสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. กล่าวว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 6 ปีแล้ว เฉลี่ยปีละ 10% และการค้าแบบ B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) ของไทยยังสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยคาดว่าในปีนี้มูลค่าอีคอมเมิร์ซรวมในไทยจะสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า2.5 ล้านล้านบาท
ขณะที่การเข้ามาในตลาดไทยของผู้ประกอบการข้ามชาติรายใหญ่ เป็นผลดีในแง่ของการกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัวและเติบโต แต่มีข้อกังวลเรื่องการผูกขาดตลาด และการอยู่รอดของผู้ประกอบการท้องถิ่น ทางสพธอ.จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส “ทุเรียน” เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมความแกร่งให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทย โดยวางแผนจะเปิดให้บริการไม่เกินกลางปี2561
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน