สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศุภวุฒิ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง เงินเฟ้อต่ำ-บาทแข็ง เศรษฐกิจฝืด

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจของรัฐ ทั้งก.พาณิชย์-คลัง คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาสที่ 3/2560 ขยายตัว4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายศุภวุฒิ สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ในมุมมองสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจเอกชน เจาะลึกไส้ในและดัชนีเศรษฐกิจมหภาคที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561″ศุภวุฒิ” วิเคราะห์ปัจจัยลบ-เสี่ยงใหม่ คือ เงินเฟ้อต่ำ บาทแข็ง การเมืองไม่แน่นอน ฉุดธุรกิจ-ผู้มั่งคั่งกอดเงินไม่ลงทุนเพิ่ม NPL พุ่ง-พีกรอบใหม่บวกหนี้ผิดนัดชำระตัวเลขทะยาน 6%ชี้ทางออกเดียว ลุ้นปลดล็อกวงจรอันตราย ผ่อนคลายนโยบายการเงิน

เงินเฟ้อต่ำ-บาทแข็ง ศก.หนืด

นายศุภวุฒิ มองภาพรวมแศรษฐกิจในไตรมาส 4/ 2560 คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จากไตรมาส 3 หรือเติบโตใกล้เคียงกัน เนื่องจากโมเมนตัมเศรษฐกิจยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันไตรมาส 3 โดยมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปต่อ คือการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจฟื้นตัวได้ แต่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ หนืด ๆ เช่นการลงทุน การบริโภคต่าง ๆ เพราะ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังสูง เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ธนาคารพาณิชย์ยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวประมาณ 3.7-3.8%

“ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจออกมาดี แต่ไม่กระจายตัว เป็นการเติบโตจากการส่งออก แต่ไม่ได้ส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ไม่ได้ทำให้การจ้างงานมากขึ้น ไม่ได้ทำให้การลงทุนมากขึ้น จึงเกิดคำถามว่า ส่งออกขยายตัวมากขนาดนี้ แต่เหตุใด NPL เพิ่มขึ้น ทำไมรัฐบาลยังคงออกมาตรการอัดเงินเข้าสู่ท้องถิ่น แปลว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้ส่งผลกับคนทั่วไปในเชิงโครงสร้าง ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ เศรษฐกิจฝืด หนืดมาก เมื่อรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 4% ฟังแล้วไม่อยากเชื่อ” นายศุภวุฒิกล่าว

การเมืองไม่นิ่ง-ธุรกิจไม่ลงทุน

นายศุภวุฒิตั้งประเด็นว่า ขณะนี้ดัชนีเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า อยู่ที่ราว 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่เฉลี่ย 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เงินไม่ได้เสื่อมค่าลง กลับเพิ่มค่าขึ้น เพราะหากมีเงินบาทแล้วไปแลกเป็นดอลลาร์จะมีมูลค่า เพิ่มขึ้น 8% ดังนั้น ทิ้งเงินไว้เฉย ๆ ก็ไม่มีปัญหา ค่าของเงินงอกเงยด้วยตัวเอง ประกอบกับภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมือง ธุรกิจก็ยังไม่กล้าลงทุน

“ซึ่งต่างจากอดีต ที่เงินเฟ้อเคยสูงถึง 5% ค่าเงินบาทอ่อน หากไม่รีบใช้เงิน เงินก็จะเสื่อมค่า แต่สมัยนี้ค่าเงินบาทไม่เสื่อมค่าลง เงินเฟ้อก็ต่ำ เป็นเหตุผลที่เศรษฐกิจเติบโตแบบไม่กระจายตัวนี่คือความเสี่ยง ทำให้เศรษฐกิจไทยหมุนเวียนช้าขึ้น”

NPL+หนี้ผิดนัดพุ่งแตะ 6%

นายศุภวุฒิกล่าวด้วยว่า ภาพเศรษฐกิจปัจจุบันต่างจากอดีต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ คือตัวเลข NPL เพิ่มขึ้นมาตลอด และตัวเลข NPL ในปัจจุบันยังไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์ ที่บอกว่าถึงจุดพีกแล้ว ก็ยังไม่ไปถึงจุดที่พีกที่สุด เพราะว่าบางทีธนาคารก็ตัดหนี้สูญ (ไรท์ออฟ) โดยการเอาทุนสำรองที่ตั้งไว้ มาโละตัดยอด NPL ทิ้ง หากไม่โละทิ้งตัวเลข NPL จะสูงกว่านี้

ขณะนี้ตัวเลข NPL ใกล้เคียง 3% จากสินเชื่อทั้งระบบอาจจะดูว่าน้อย เพราะมีการนำตัวเลขการปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร มารวมเป็นฐานด้วย แต่หากตัดตัวเลขการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารออกจากฐานคำนวณ NPL ก็จะน่าจะสูงขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่ 3% เท่านั้น อีกดัชนีที่เกิดขึ้นใหม่คือ ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้แต่ไม่เกิน 1-3 เดือน หรือ special mention loan ปัจจุบันอยู่ในระดับ 3% ดังนั้นเมื่อบวกกับตัวเลข NPL แปลว่ามีตัวเลขหนี้ที่ร่อแร่เข้าโรงพยาบาลแล้วถึง 6% และมีทิศทางเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้เป็นการฟื้นตัวที่แปลก เพราะกำลังซื้อภายในอ่อนแอมาก ธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม หรือ SME ไม่มีศักยภาพ ภาพรวมยอดขายแย่ โตช้า ทั้งประเทศ รัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้น แต่ SME อยากปั๊มยอดขาย ไม่ได้อยากกระตุ้น เพราะมาตรการกระตุ้นทำให้เขาเป็นหนี้เพิ่ม ประกอบกับเงินเฟ้อที่ต่ำ ยิ่งทำให้มูลค่าหนี้ไม่ได้ลดลง แต่ลูกหนี้จะมีภาระหนี้สูงเกินกว่าที่คาดเอาไว้ ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ได้เอื้อให้กับเศรษฐกิจฟื้นตัว

คนไม่ใช้เงิน-ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

สำหรับอัตราการส่งออก และท่องเที่ยวที่เติบโต ทำให้มีเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ดังนั้น การที่เศรษฐกิจฟื้นแบบให้ตัวเลขส่งออกโตขึ้น จะยิ่งกดเงินเฟ้อให้ต่ำลงไปอีก ดัชนีเหล่านี้มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ

“ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยิ่งเกินดุล จึงเป็นเหตุผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อผิดหมด ปีก่อน ธปท.ก็บอกว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบที่ 1% ทุกค่ายคาดการณ์ผิดหมด การที่วิเคราะห์ผิดบ่อย ๆ แปลว่า ต้องมีอะไรในกอไผ่แปลว่าคนไม่ใช้เงิน แต่มีเงินไหลเข้ามาตลอด ข้อเสียคือจะไม่เกิดการลงทุนใหม่ ๆ” นายศุภวุฒิกล่าว

นายศุภวุฒิ ตอบคำถามเรื่องโจทย์เศรษฐกิจอยู่ที่เครื่องมือทางการเงินหรือไม่ ว่า ดัชนีตัวเดียวที่จะปรับได้คือ “ค่าเงิน” เพราะดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ยอมลด ดังนั้นค่าเงินก็แข็งค่าไปเรื่อย ๆ

คำถามกลับไปคือ ค่าเงินต้องแข็งไปอีกเท่าไหร่ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงลดลง ซึ่งแนวโน้มบาทจะแข็งค่าอีกมาก แต่ยังไม่น่ากลัวเท่ากับคนรวยที่กอดเงินไว้ ไม่ทำธุรกิจ”

ทั้งนี้ หากจะหวัง ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เชื่อว่าภาวะนั้นจะไม่เกิด เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่า ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยในสิ้นปีนี้ของสหรัฐ ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่าเงินได้

ลุ้นปลดล็อกวงจรอันตราย

นายศุภวุฒิกล่าวว่า หากมองในแง่ดี ก็คาดหวังว่า หากภาคส่งออก การท่องเที่ยวเติบโตขึ้น จะส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ หรือไหลไปสู่คนทั่วไปได้ในที่สุด และจะทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้น ทำให้นำเข้าเพิ่มขึ้น และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง ในระยะยาวจะมีการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น แต่ยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ฉุดกำลังซื้อในประเทศ ฉุดเศรษฐกิจภาพรวมในประเทศ

“วงจรนี้อันตรายต่อคนที่เป็นลูกหนี้ ธุรกิจ SME มนุษย์เงินเดือน แต่จะดีต่อผู้มีเงินเก็บ คนรวย ข้าราชการที่เงินเดือนขึ้นปีละขั้น ทำให้เศรษฐกิจไม่กระจาย และฟื้นตัวช้า มีแรงหนืด การที่เงินเฟ้อต่ำ NPL สูง ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ ตัวเลข NPL จะเข้าสู่จุดพีกอีกรอบ”

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2561 นั้น นายศุภวุฒิคาดว่า จีดีพีจะขยายตัวไม่ต่างจากปีนี้ คือประมาณ 3.7-3.8% ค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่า เงินเฟ้อยังต่ำ คนไม่ลงทุน ที่เป็นตัวฉุด ดังนั้น การฟื้นตัวภายในประเทศไม่ง่ายอย่างที่คิด หลายปัจจัยจะยังเหมือนเดิม

“การปลดล็อกปัญหาวงจรเศรษฐกิจ ที่ค่าบาทแข็ง เงินเฟ้อต่ำ เศรษฐกิจโตจากการส่งออกและท่องเที่ยว ไม่กระจายตัว เป็นการปลดล็อกที่ยากมาก ดึงออกยาก ทางออกถูกปิดไปเรื่อย ๆ เพราะทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าทำทุกอย่างแล้ว ทำมากที่สุดแล้ว อาจจะต้องพลิกเศรษฐกิจแบบประเทศญี่ปุ่นที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหาถึง 20 ปี ดังนั้นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แล้วตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมา การคลายปัญหาจึงจะเป็นไปได้”

ส่วนการออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ของรัฐบาลในปีนี้ จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น บีบให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2 รอบ เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/2560 ขยายตัวมากขึ้น แต่ในทางกลับกันจะทำให้ประชาชนเป็นหนี้บัตรเครดิตเพิ่ม ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2561 เศรษฐกิจอาจจะ “แป้ก” เพราะเป็นไตรมาสแห่งการชำระหนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศุภวุฒิ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง เงินเฟ้อต่ำ บาทแข็ง เศรษฐกิจฝืด

view