จากประชาชาติธุรกิจ
15 นาฬิกา ของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 อาเซียนได้สูญเสียบุคลากรอันทรงคุณค่า-ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน คนที่ 12 ทิ้งไว้เพียงคุณงาม ความดี และประโยชน์ที่ทำไว้ให้กับประชาชน-ประชาคมโลก
จากปอเนาะสู่ “พหุวัฒนธรรม”
บทบาทอันโดดเด่นของ “ดร.สุรินทร์” บนเวทีอาเซียน-ประชาคมโลก เกิดจากการหลอมรวม-เรียนรู้จาก “ชีวิตจริง” จากสังคมพหุวัฒนธรรม
เขามีชีวิตในหลายมิติมาตั้งแต่เด็ก ช่วงเวลากลางคืนเป็นชีวิตเด็กมุสลิมอยู่ในปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนาที่ค่อนข้างจะอนุรักษนิยม วันรุ่งขึ้นต้องไปเรียนหนังสืออยู่ในบริบทของโรงเรียนวัด ที่โรงเรียนวัดบ้านตาล ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และการได้เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หล่อหลอม-ขัดเกลาปรัชญาการเมือง-สังคมตลอด 2 ภาคการศึกษา
ดร.สุรินทร์ตั้งคำถามใหญ่ ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก “เขาถามกันว่า พระเจ้าสร้างและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ด้วยการพูด แต่การที่ดอกไม้บานทุกวัน ผลิใบทุกวัน รากงอกทุกวัน กิ่งงอกทุกวันนี่ แปลว่า พระเจ้าพูดให้มันเป็นอย่างนั้นทุกครั้งเลยหรือ หรือว่าพระเจ้าเพียงแค่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา แล้วให้สิ่งต่าง ๆ มันไหลไปของมันเอง”
เขาเชื่อมปรัชญาในสังคมไทยกับปรัชญาโลกตะวันตกจากการศึกษาต่อระดับปริญญาโท และสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดินแดน “ตักศิลาของโลก”
“เมื่อเราเตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ไม่เคยหยุดที่จะดิ้นรนเรียนรู้และมองหาสิ่งที่ดีกว่า เมื่อนั้นโอกาสที่บินสูงลิบลับจะร่อนลงมาเกาะที่บ่าเอง”
เส้นทางชีวิตบนถนนการเมือง
จุดเริ่มต้นของ “ดร.สุรินทร์” บนถนนการเมือง ถูกทาบทามจาก “ผู้หลักผู้ใหญ่” ของพรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ “สัมพันธ์ ทองสมัคร” “มาโนชญ์ วิชัยกุล” และ “คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์” เวลาบ่ายขณะที่เขาเลกเชอร์อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ ภายหลังรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภา ในปี 2529
ผูกพันกันแน่นแฟ้น กับ “ชวน หลีกภัย” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ผ่านการฟังปราศรัย
เขาตัดสินใจลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช และได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวอย่างเต็มที่ และด้วยเพราะการเติบโตขึ้นมาในบริบท “พหุวัฒนธรรม” จึงถูกเคี่ยวกรำ-ฝึกฝนให้ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
เขาได้ทำงานในตำแหน่งเลขานุการนายชวน-ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาล พล.อ.เปรม เป็นการใช้ประสบการณ์-ความรู้จากการรับเชิญเป็นนักวิจัยพิเศษในรัฐสภาอเมริกัน ให้การทำงานของ ส.ส.เป็นมืออาชีพมากขึ้น
ความคาดหวังที่จะเห็น “ดร.สุรินทร์” ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี อาจจะเลือนลาง-ไม่แจ่มชัดมากนัก
ทว่าความฝัน สุดท้าย ? ของ “ดร.สุรินทร์” ที่แจ่มแจ้ง-ชัดเจนความเป็นจริง คือ การลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“ถ้าปฏิรูปกรุงเทพฯไม่ได้ อย่าหวังว่าจะปฏิรูปประเทศได้” เป็นปณิธานสุดท้ายของ ดร.สุรินทร์ ก่อนจะลาลับจากโลกนี้ไป
บทบาทอาเซียน-ประชาคมโลก
“ดร.สุรินทร์” เริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีระดับโลกด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายชวน 1-2 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจากสังคมมุสลิม-บูรณาการตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
“แม้ไม่ได้กลับไปสร้างสะพานให้ชาวบ้าน แต่ทำให้ผมช่วยสร้างสะพานทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับโลกภายนอกได้”
ในสมัยรัฐบาลชวน 2 ปี 2542 ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียเกิดปัญหารุนแรง จากความขัดแย้งระหว่างติมอร์ตะวันออกกับอินโดนีเซีย ไทยเป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่ยื่นมือช่วยเหลือและส่งกองกำลังเข้าไปช่วยรักษาสันติภาพ
นอกจากนี้เขายังเป็น “ควอร์เตอร์แบ็ก” อยู่เบื้องหลังการผลักดัน “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ให้ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO)
ก้าวครั้งสำคัญ-ก้าวใหญ่ของ “ดร.สุรินทร์” คือ ช่วงที่รับตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในโควตาของพรรคการเมืองหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 จากการร้องขอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
เขาได้รับการทาบทามจากกรรมการสรรหาให้รับตำแหน่ง ด้วยเหตุผล “ต้องช่วยอาเซียน การเมืองภายในคงจะวุ่นวายต่อไปอีกนาน ควรออกไปช่วยผลักดันประชาคมอาเซียนข้างนอกดีกว่า”
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ยังได้โทรศัพท์ทาบทามด้วยตัวเอง “อยากจะให้ช่วยรับตำแหน่ง สัญญาว่าจะสนับสนุนทั้งทางส่วนตัวและในนามของรัฐบาล”
“ดร.สุรินทร์” ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน คนที่ 12 และเป็นคนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก่อนที่จะหมดวาระในปี 2555
โลกสดุดี “ดร.สุรินทร์”
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เผยแพร่ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ ต่อการถึงแก่อนิจกรรมของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ โดยยกเป็นปูชนียบุคคลและรัฐบุรุษ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลบุคคลหนึ่งของโลก
นายออง เค็ง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้แสดงความรู้สึกเสียใจต่อการถึงแก่อนิจกรรมกะทันหันของ ดร.สุรินทร์
นอกจากนี้ นายไบรอัน จอห์น เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย โพสต์ทวิตเตอร์ว่า รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของ ดร.สุรินทร์ และยกย่องให้เป็นหนึ่งรัฐบุรุษผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้โลกได้อีกมากมาย และถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทยและภูมิภาค
รัฐบาลญี่ปุ่น โพสต์แสดงความเสียใจระบุว่า “We are tomodachi” หรือ “พวกเราคือเพื่อนกัน” ดร.สุรินทร์ถือว่าเป็นบุคคลคุณภาพที่สร้างคุณประโยชน์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นอย่างมาก
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน