สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จดหมายแห่งอนาคต (25) รวม 10 ไอเดียเตรียมสู่อนาคต

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

ถึงลูกพ่อ

หากลูกทนอ่านจดหมายของพ่อจนถึงฉบับนี้ พ่อคงดีใจมาก พ่อได้เริ่มเขียนจดหมายมาตั้งแต่ลูกคนหนึ่งมีอายุขวบกว่า ๆ ส่วนอีกคนหนึ่งเพิ่งจะเกิด ไป ๆ มา ๆ เราคุยกันมาถึงกว่ายี่สิบฉบับแล้ว ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี จนลูกอาจจะลืมไปบ้างแล้ว ว่ามีไอเดียอะไรที่พ่อได้เขียนถึงบ้าง พ่อจึงจะสรุปให้ฟังในจดหมายฉบับนี้ภายใน 10 ข้อ

โลกาภิวัตน์ที่คุ้นเคยกำลังถดถอย

แม้ว่าการค้าโลกจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ก็คงไม่กลับไปรุ่งเรืองเหมือนดังแต่ก่อน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม ด้วยสองสาเหตุ คือ หนึ่ง-เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้เราไม่มีความจำเป็นต้องกระจายห่วงโซ่ การผลิตสินค้าแต่ละชิ้นไปหลายประเทศ การใช้แรงงานในการผลิตแต่ละกระบวนการน้อยลง โดยการผลิตจะหันไปตั้งอยู่ในประเทศที่มีตลาดใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย

สอง-กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในโลกตะวันตกจะไม่หายไป เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สะสมมานาน การเปิดเสรีทางการค้าใหม่ ๆ จะทำได้ยากขึ้น การกีดกัน การค้าอาจสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกกำลังขาดผู้นำ และภาวะสุญญากาศนี้อาจทำให้การค้าโลกต้องถดถอยหนักไปกว่านี้ได้

พัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมยากขึ้น

ด้วยเหตุปัจจัยจากการที่กระแสโลกาภิวัตน์กำลังถดถอย ทำให้การพัฒนาประเทศโดยใช้ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวนำอย่างที่ประเทศต่าง ๆ เคยใช้ รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น จะทำได้ยากมากขึ้น ทุกประเทศอยากและมียุทธศาสตร์ (“made in…”) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและส่วนแบ่งตลาดในการค้าโลกที่อาจโตช้าลง แต่ทุกประเทศจะเป็นผู้ชนะไม่ได้

ในวันนี้พ่อว่า เวียดนาม เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านการค้าอุตสาหกรรมดีที่สุดในเอเชีย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายพอควร จากการที่ค่าแรงไม่ถูก และขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูง

โลกาภิวัตน์ลายมังกรกำลังก่อกำเนิด

ภาพโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่ภาพเดิม กำลังถูกวาดขึ้นโดยประเทศจีน นำโดยเส้นทางสายไหมสามประเภท แบบแรก คือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง (belt and road initiative) ซึ่งมียุทธศาสตร์การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐของจีนเป็นตัวนำ

สอง คือ เส้นทางเชื่อมคน ซึ่งก็คือนักท่องเที่ยวจีนที่ออกสู่โลกมากขึ้น และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

และ สาม คือ “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” ถนนที่ปูด้วย data นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่าง Tencent และ Alibaba ที่ลงทุนกว้านซื้อบริษัทต่าง ๆ และขยายกิจการ e-Commerce รุกเข้ามาในตลาดภูมิภาคเอเชียได้อย่างรวดเร็ว

พ่อมองว่าเส้นทางสายไหมดิจิทัลนี้ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย ส่วนแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งทางคงต้องเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ต่างจะจับมือกันเพื่อคานอำนาจของจีน

โดยญี่ปุ่นและอินเดียเพิ่งจะร่วมกันประกาศ Asia Africa Growth Corridor เพื่อตอบโต้ BRI ของจีน หรือในประเทศเจ้าภาพเองก็ต้องดูว่าโครงการที่จีนอยากผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศของตนนั้น ตรงกับความต้องการทางเศรษฐกิจของตนหรือไม่

ยิ่งถ้ามีประเทศญี่ปุ่นพร้อมเข้ามาแข่งขันลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ด้วยแล้ว ประเทศเล็กยิ่งต้องใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับคนและประเทศของตนให้ได้มากที่สุด

เงินหยวนผงาด แต่ยังไม่อาจแทนที่ดอลลาร์

การผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของจีนก็เป็นการปูให้เงินหยวนก้าวสู่บัลลังก์การเงินโลกด้วย แต่พ่อคิดว่า “ทาง” สายนี้ยาวและคดเคี้ยวมาก ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ในสมัยที่สหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจแทนสหราชอาณาจักร ยังต้องใช้เวลากว่า 50 ปี บวกกับการเกิดสงครามโลกด้วย กว่าที่เงินดอลลาร์จะก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แทนที่เงินปอนด์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่จะเป็นเงิน reserve currency ของโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

จีนอาจต้องเสียสละความสามารถในการควบคุมเงินตราในประเทศระดับหนึ่ง ต้องเปิดเสรีและพัฒนาตลาดการเงินขึ้นอีกมาก และต้องพร้อมสื่อสารนโยบายการเงินที่ชัดเจนให้กับโลกทั้งใบ

ทั้งนี้ พ่อคิดว่าจีนต้องการให้เงินหยวน “internationalize” หรือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น เช่น อาจใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และมีการกู้ยืมเป็นเงินหยวนมากขึ้น

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจีนจะเร่งรีบในการให้เงินหยวนก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แทนที่ดอลลาร์สหรัฐ พ่อจึงมองว่าหยวนคงมีความสำคัญขึ้นในระยะยาว เป็นเงินทางเลือกในระดับโลกอีกหนึ่งสกุลเช่นเดียวกับเยนญี่ปุ่นและยูโร แต่คงยังจะไม่มาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในเร็ววันนี้

โลกาภิวัตน์แห่ง data เปลี่ยนขั้วอำนาจมหาศาล

โลกาภิวัตน์ไม่ได้เปลี่ยนไปแค่เจ้าภาพ แต่หน้าตาก็เปลี่ยนไปด้วย ดูได้จากโลกแห่งการค้าสินค้าที่เคยเป็นหลัก กลายมาเป็นโลกแห่งการเชื่อมโยงของข้อมูล ที่เส้นแบ่งระหว่างของที่จับต้องได้กับของที่จับต้องไม่ได้ (ดิจิทัล) นั้นบางลง และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ก็นำมาซึ่งการพลิกขั้วอำนาจที่สำคัญ เพราะข้อมูลคือน้ำมันดิบของยุคนี้ (data is the new oil) ผู้ที่มีข้อมูลและเทคโนโลยีที่จะวิเคราะห์ big data จะเป็นผู้ชนะ เปรียบเสมือนบริษัทที่มีทั้งบ่อน้ำมันและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาแปรรูปและใช้ได้เอง บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจจึงเปลี่ยนจากบริษัทน้ำมัน หรือการเงิน ไปเป็นบริษัทเทคโนโลยี platform ซึ่งอาจแทบไม่มีสินทรัพย์ที่จับต้องได้ของตัวเองเลย เช่น Facebook, Airbnb และ Uber เป็นต้น

การแข่งขันเพื่อการล่า data ก็จะเกิดขึ้น เสมือนการล่าน้ำมันดิบที่คนรุ่นพ่อคุ้นเคยดี เพียงแต่การ “ขุด” หาข้อมูลนี้อาจถูกซ่อนอยู่ใต้ภาพการแข่งขันทางธุรกิจทั่วไป ดูเผิน ๆ แล้วอาจเหมือนบริษัทเรียกรถแข่งกัน แย่งส่วนแบ่งตลาดกันให้จัดโปรโมชั่น เหมือนบริษัท e-Commerce ลดแลกแจกแถมแข่งกันดึงลูกค้าเข้าร้านค้ากันเป็นปกติ แต่จุดประสงค์ที่แท้จริง

คือ การพยายามให้ได้มาซึ่งข้อมูลฐานลูกค้าขนาดใหญ่ เพื่อนำไปสู่การให้บริการอื่น ๆ เช่น การเงินแบบเดียวกันกับที่ Alibaba และ Tencent ทำในจีน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่ภาคการค้าที่จะถูกกระทบ แต่ภาคการเงินก็ต้องเหลียวดูบริษัทดิจิทัลรายใหญ่ให้ดีเช่นกัน

รัฐบาลจะโต้กลับในยุคของ data

การล่า data และการผงาดขึ้นมาของบริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ที่กำไรมหาศาล กำลังโผล่ขึ้นมาอยู่ในจอเรดาร์ของรัฐบาลต่าง ๆ มากขึ้นทุกวัน และรัฐจะไม่อยู่เฉยอย่างแน่นอน พ่อคิดว่ามีสามวิธีที่รัฐจะตอบโต้เทรนด์นี้

หนึ่ง คือหาทางให้บริษัทเหล่านี้เข้าสู่ระบบภาษีและจ่ายภาษีมากขึ้น เช่นที่เป็นประเด็นในยุโรปอยู่ในเวลาที่พ่อเขียนจดหมายนี้

สอง คือการออกกฎหมายมากำกับเพื่อให้ผู้บริโภค หรือ “เจ้าของข้อมูล” มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทุกวันนี้เราเซ็นยินยอมให้บริษัทดิจิทัลใช้ข้อมูลของเราได้เต็มที่อย่างไม่รู้ตัว ขอสิทธิ์คืนยาก และไม่รู้ว่าผลตอบแทนที่เราได้จากการขายข้อมูล “ฟรี” นั้น คุ้มหรือไม่ ภาครัฐจึงอาจจำเป็นต้องออกนโยบายและกฎหมายมาคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ในทางกลับกัน บางรัฐบาลก็อาจเข้าครอบครองและใช้ data เสียเอง บางรัฐบาลพูดถึงแม้กระทั่งการสร้าง social credit score โดยประชาชนแต่ละคนจะมีคะแนนทางสังคมตามพฤติกรรมทั้งในและนอกโลกออนไลน์ ซึ่งอาจมีผลต่อการขอสินเชื่อ จนไปถึงการหาคู่ออนไลน์ คำถามที่ตามมาก็คือ เราเชื่อมั่นรัฐ

ถึงขนาดที่จะให้มีอำนาจมากขนาดนั้นได้หรือ ? พ่อคิดว่าหากรัฐบาลอยากใช้ข้อมูลของประชาชนตรงนี้ ก็ต้องมาควบคู่กับการเปิดข้อมูลของรัฐให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้นเช่นกัน เป็นการ “เปิดเขาเปิดเรา” เพื่อใช้ data คานอำนาจและตรวจสอบรัฐบาลได้

Cryptocurrrency จะไม่หายไปไหนง่าย ๆ

อาจฟังดูเหมือนเป็นคนละประเด็น แต่แท้จริงแล้ว ความเชื่อถือหรือความไม่เชื่อถือในภาครัฐ คือ หัวใจของการเกิดขึ้นและการมีอยู่ของ cryptocurrency คือ ผู้ให้กำเนิด Bitcoin ได้สร้างระบบที่ไม่มีธนาคารกลางใดเป็นผู้ควบคุมเงิน ซึ่งวิธีการเช่นนี้สะท้อนถึงความไม่เชื่อถือในรัฐบาล และปรัชญาของ “การกระจายอำนาจ” (decentralized) ที่ฝังรากลึกอยู่

โดยปริมาณเงินที่อยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์จะขึ้นอยู่กับความต้องการเงินตราของคน และความสามารถที่ “นักขุด” บิตคอยน์ จะผลิตขึ้นมาได้เร็วแค่ไหน และเงินในระบบนี้จะยังมีจำนวนจำกัด เพื่อให้พ้องกับในยุคสมัยที่เงินตรายังผูกติดกับการขุดทองคำในอดีต จนบางครั้งมีคนเรียก Bitcoin ว่า “ทองดิจิทัล”

แม้วันนี้ราคา Bitcoin จะสูงมากจนผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่าเป็นฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่พ่อมองว่าต่อให้สิ่งนี้เป็นฟองสบู่และจะแตกได้

แต่ตราบใดที่ความไม่เชื่อมั่นในเงินที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ผลิตออกมาใช้ยังคงมีอยู่ ความต้องการเงิน crypto ก็น่าจะยังเป็นทางเลือก และจะยังคงอยู่ต่อไปในยุคสมัยของลูก แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเหมือนในยุคปัจจุบันนี้ของพ่อ หรืออยู่ในสกุลที่คนในยุคของพ่อรู้จักก็ตาม

ในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าโชคชะตาอาจเล่นตลก เพราะว่าธนาคารกลางหลายแห่งได้เข้ามาศึกษาเทคโนโลยี blockchain และระบบของ cryptocurrency เพื่อที่อาจจะใช้เสริมสร้างและพัฒนาเงินดิจิทัลที่ตนเองเป็นผู้ผลิตออกใช้ (คือธนาคารกลางออก cryptocurrency เอง) ซึ่งหากทำสำเร็จ เงิน crypto ของแบงก์ชาติต่าง ๆ นั้น อาจจะเพิ่มอำนาจให้กับธนาคารกลางมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่เงินดิจิทัลที่ถูกเสริมพลังโดยเทคโนโลยีเช่น blockchain คงจะยังอยู่ต่อไปและจะถูกพัฒนาไปอีกมากกว่าที่เห็นอยู่ในวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จดหมายแห่งอนาคต  ไอเดียเตรียมสู่อนาคต

view