จากประชาชาติธุรกิจ
แม้ตัวเลขอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2560 อาจจะปิดไม่สวยนัก ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มาจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอการเติบโตลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหากมองถึงแนวโน้มอุตฯโฆษณาปี 2561 ก็เรียกว่ามีลุ้น ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายก็คาดการณ์ว่า แนวโน้มงบฯโฆษณาปี 2561 จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์จีดีพี (GDP) ปี 2561 ว่าจะเติบโตร้อยละ 3.6-4.6 ทั้งนี้ ปัจจัยบวกหลัก ๆ มาจากตัวเลขการส่งออกที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขยับตัวมากขึ้น
อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทั้งหมดจะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะส่งให้ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจปี 2561 เติบโตตามไปด้วย นั่นหมายถึงสินค้าก็จะต้องเร่งกลับมาใช้งบฯโฆษณาอีกครั้ง เพื่อสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นยอดขายให้เติบโตในมุมมองของมีเดียเอเยนซี่นั้น
“ไตรลุจน์ นวะมะรัตน์” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2561 คาดอุตฯโฆษณาจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เพราะสินค้าหลาย ๆ กลุ่มที่ลดการใช้งบฯโฆษณาลงเมื่อปีก่อนก็ต้องกลับมาทุ่มงบฯโฆษณาผ่านสื่อ ส่วนจะใช้มากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่าสินค้าจะต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ ตัวแปรหลัก ๆ อยู่ที่ว่าจะออกแคมเปญและสินค้าใหม่มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าแบรนด์มีความเคลื่อนไหวทางการตลาดก็ต้องใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อ
สอดรับกับ “ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด มีเดียเอเยนซี่ กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า แนวโน้มอุตฯโฆษณาปี 2561 จะฟื้นกลับมาอย่างแน่นอน คาดว่าจะโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก หรือประมาณ 10% จากปี 2560 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาใช้งบฯตั้งแต่ปลายปี 2560 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงปี 2561 โดย 3 กลุ่มสินค้าหลักที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุตฯ คือ รถยนต์ เทคโนโลยีสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เพราะกลุ่มรถยนต์ก็มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรศัพท์มือถือก็มีการแข่งขันดุเดือดมากขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ ทำให้สินค้าเหล่านี้ทุ่มงบฯโฆษณามากขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มไดเร็กต์มาร์เก็ตติ้ง เช่น ทีวีโฮมช็อปปิ้ง ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีสูงขึ้น เพราะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง และราคาโฆษณาผ่านสื่อทีวีขณะนี้ก็ไม่ได้สูงมาก
หากแยกย่อยตามการเติบโตของแต่ละสื่อในปี 2561 นั้น “ภวัต” บอกว่า สื่อทีวียังเป็นสื่อหลัก ๆ ที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากและมีสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วน 55-60% ของงบฯโฆษณารวม ขณะที่สื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้านกลับมีการเติบโตสูงขึ้น แซงหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ที่เติบโตลดลง ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมการใช้สื่อของผู้บริโภคในปัจจุบัน
“อิษณาติ วุฒิธนากุล” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มการใช้สื่อว่า สื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้านจะกลายเป็นสื่อที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปี 2561 ซึ่งต่อเนื่องมาจากปี 2560 ที่สื่อดิจิทัลมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 12.9% ของงบฯโฆษณารวมหรือมีมูลค่าประมาณ 11,780 ล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 2 แทนที่หนังสือพิมพ์ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้สื่อดิจิทัลโต คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้กว่า 75% ของประชากรไทยทั่วประเทศ และมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 2 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน จากปี 2558 ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 2 ชั่วโมงต่อวัน
จากแรงหนุนที่มาจากภาคการส่งออก ท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น ประกอบกับสินค้ากลุ่มรถยนต์ ค่ายมือถือ ที่จะกลับมาใช้งบฯโฆษณาอีกรอบ จากนี้ไปภาพรวมการแข่งขันของภาคธุรกิจก็น่าจะคึกคักและมีสีสันขึ้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน