จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
มองผิวเผินเศรษฐกิจไทยอาจดูดี โดยเฉพาะไตรมาส 3/60 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายสำนักพากันปรับประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีนี้เป็นบวกเพิ่มขึ้น อย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า GDP ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ส่งผลให้ GDP ปี 2560 ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 3.9% จากเดิม 3.5-4.0%
เนื่องจากดัชนีชี้วัดหลายตัวปรับสูงขึ้น โดยการบริโภคภาคครัวเรือนกระเตื้องขึ้น 3.1% การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้น 2.8% การส่งออกขยายตัว 7.4% การลงทุนรวมขยายตัว 1.2% ส่วนการท่องเที่ยวติดลมบน รายรับรวมขยับเพิ่มขึ้น 9.5% มีแค่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเท่านั้นที่ปรับลดลง 12.9% เป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลตลอดศักราชใหม่ปีจอ 2561
โจทย์ใหญ่อยู่ที่ทำอย่างไรให้เกษตรกรยากจนและมีรายได้น้อย 3.9 ล้านคน ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลังลืมตาอ้าปากได้ ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมรวม 3.3 ล้านคน ที่เหลืออีกกว่า 6 แสนรายเป็นผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในแรงงานภาคการเกษตร
ปีหน้ามาตรการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรกับผู้มีรายได้น้อยจึงต้องเดินหน้าต่อ ควบคู่กับนำแนวทางใหม่การพัฒนาในรูปแบบ personal life plan หรือแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้หลุดพ้นจากความยากจน ตามโมเดลต้นแบบการช่วยเหลือเกษตรกรยากจนในประเทศจีนมาใช้ ส่วนจะได้ผลมากน้อยเพียงใดเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
ที่อาจแก้ยากและเป็นที่มาของปัญหาจนแบบถาวร คือ เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกิน หรือมีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ
ข้อมูลจากรายงานการปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปี 2558 ระบุว่า จากจำนวนที่ดินทั้งประเทศ 320 ล้านไร่ ซึ่งมีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิรวม 127 ล้านไร่ หรือ 40% ของเนื้อที่ประเทศ ประชากรส่วนใหญ่ 90% ถือครองที่ดินเฉลี่ยไม่ถึง 1 ไร่/คน มีเพียง 10% เท่านั้น ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่/คน
ในจำนวนนี้เป็นที่ดินถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ 70% ซึ่งมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทยประเมินไว้เมื่อปี 2544 ว่า ก่อให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.27 แสนล้านบาท/ปี
เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม จนทำให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก นำมาซึ่งข้อพิพาทขัดแย้งทางสังคม รวมทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมือง
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันประกาศบังคับใช้ คือหนึ่งในเครื่องมือที่จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลง แต่หากจะให้สัมฤทธิผลคงต้องใช้หลายมาตรการประกอบกัน
ตั้งแต่จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรกับผู้มีรายได้น้อยมีที่ดินทำกิน การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยใช้การตลาดเป็นธงส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายในการผลิตสินค้าเกษตร การแปรรูป การทำแพ็กเกจจิ้ง นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือทำการตลาด อาทิ อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น พร้อมเชื่อมโยงทุกผลิตภัณฑ์กับการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น นโยบายหลักที่รัฐกำลังเร่งดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเยียวยาสารพัดที่หลายหน่วยงานหยิบยื่นให้ คงไม่สามารถแก้จนได้แบบถาวร หากเกษตรกับผู้มีรายได้น้อยไม่ดิ้นรนพึ่งพาตนเองหวังแค่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
เพราะตำรับยาแก้จนไม่ว่าจะเฟสหนึ่ง สอง หรือเฟสสาม คงไม่สามารถแก้จนให้หายขาด สลัดความจนให้หลุดพ้นไป กลายเป็นคนมีกินมีเก็บแบบถาวรได้ ถ้าไม่ทุ่มเทหรือลงแรงเองบ้าง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน