จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) เพื่อป้องกันการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่พึงเสีย
กำหนดให้บริษัท ฯ ที่มีความสัมพันธ์กันจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และ มูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นรายการภายในกำหนดเวลา
กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัท ฯ ที่มีความสัมพันธ์กัน ให้ได้จำนวนรายได้ที่พึงได้รับและรายจ่ายที่พึงได้จ่าย เสมือนว่าบริษัท ฯ ดังกล่าวได้รับได้จ่ายตามนั้น เพื่อใช้คำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี หรือเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี
กำหนดให้บริษัท ฯ ที่มีรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ฯ ที่มีความสัมพันธ์กัน และมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
โดยกำหนดโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันมิได้จัดทำ หรือ ยื่นรายงาน หรือเอกสาร-หลักฐาน โดยแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันควร กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ของบริษัท ฯ ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีจะเริ่มเมื่อไรนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ไม่ควรบังคับย้อนหลัง … จึงให้กระทรวงการคลัง กับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับไปหารือกันอีกครั้ง เรื่องวันเริ่มบังคับใช้มาตรการ
ทั้งนี้กระทรวงการคลังอธิบายถึงความจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของกลุ่มกิจการข้ามชาติ ว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการลงทุนจากกลุ่มกิจการข้ามชาติเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มกิจการข้ามชาติหลายรายมีการวางแผนภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีที่พึงต้องเสีย เป็นการกัดกร่อนฐานภาษีของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งปัญหาการถ่ายโอนกำไรระหว่างกลุ่มนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันด้วยการใช้การกำหนดราคาโอนระหว่างกัน (Transfer Pricing) นั้น ถือเป็นปัญหาหลักที่ถูกใช้เพื่อการหลีกเลี่ยงภาษี
“ในอดีตมาบริษัทขนาดใหญ่ หรือ บริษัทข้ามชาติมีบริษัทลูกหลายแห่งและมีความพยายามโอนกำไรไปสู่บริษัทที่อยู่ภายในประเทศที่เก็บภาษีต่ำ เช่น tax haven เพื่อหลบเลี่ยงภาษี แต่เนื่องจากประเทศไทยอัตราภาษีไม่ได้ต่ำขนาดนั้น บริษัทเหล่านี้จึงใช้วิธีสร้างค่าใช้จ่ายให้เกิดขึ้นในประเทศเยอะ ๆ และสร้างกำไรน้อย ๆ เสร็จแล้วจึงโอนกำไรไปนอกประเทศ ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้” นายณัฐพรกล่าว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน