สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พอร์ต 100 ล้าน กับความสุข

จากประชาชาติธุรกิจ

 

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน

โดย ภาคย์ภูมิ ศิริหงษ์ทอง

“พอร์ตใหญ่แค่ไหนถึงจะพอ ?” เป็นคำถามที่ผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนมากน่าจะเคยถามตัวเอง เพราะในเส้นทางของการเป็นนักลงทุน ทุกคนก็คงอยากรู้เป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพอร์ตให้เติบโต แน่นอนว่าคำว่า “พอ” ของแต่ละคนมีนิยามไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราดูจาก “ความจำเป็น” ในการใช้เงินของแต่ละครอบครัว เราก็น่าจะสามารถคำนวณได้ว่าขนาดพอร์ตแค่ไหนควรจะเป็นเป้าหมายของเรา

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากจะมีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท (ปีละ 600,000 บาท) และคาดว่าจะสามารถหาผลตอบแทนได้จากการซื้อกองทุนรวม กองทุนอสังหาฯ หรือ REIT ปีละ 3% เท่ากับว่าเป้าหมายของพอร์ตเราคือ 20 ล้านบาท และถ้าใครอยากได้รายได้เดือนละ 100,000 บาท เป้าหมายก็จะเป็น 40 ล้านบาท ถึงแม้จะเป็นการคำนวณแบบเบื้องต้น โดยยังไม่ได้คิดอัตราเงินเฟ้อ ระยะเวลาที่จะใช้เงินก้อนนี้ รวมถึงความผันผวนของผลตอบแทน แต่การคำนวณนี้ค่อนข้างอนุรักษนิยม และสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับนักลงทุนทั่วไปได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยีนของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา “ความพอ” ของเราก็จะเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ถ้าสมมุติเรามีพอร์ตตามเป้าหมายแล้ว เราก็อาจจะอยากมีบ้านหลังใหญ่ขึ้น ขับรถที่หรูขึ้น ใช้นาฬิกาหรือกระเป๋าที่แพงขึ้น ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่ดีกว่าเดิม กลไกทางธรรมชาติของมนุษย์แบบนี้มีเพื่อความอยู่รอด แต่ในทางกลับกันก็เป็น “กับดักสกัดความสุข” ของหลาย ๆ คนเช่นกัน

“มีพอร์ต 100 ล้านบาท แล้วมีความสุขมากขึ้นจริงหรือ ?” คำถามนี้ตอบยากกว่าคำถามแรกมากนัก เพราะความสุขไม่มีตัววัดที่ชัดเจน แถมยังขึ้น ๆ ลง ๆ ได้รวดเร็วกว่าขนาดของพอร์ตเสียอีก วันนี้เราอาจรู้สึกมีความสุขเต็ม 10 แต่พอมีเรื่องร้าย ๆ เข้ามากระทบระดับความสุขก็อาจจะกลายเป็น -10 ในทันทีเลย

จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Angus Deaton และ Daniel Kahneman ที่สำรวจคนอเมริกัน 450,000 คน พบว่า รายได้ที่มากขึ้นทำให้คนเรามีความสุขมากขึ้น เพราะเงินทำให้ชีวิตเราสะดวกสบาย ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้ารายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า $75,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ความสุขกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่มากขึ้น (ถ้าเทียบตามค่าครองชีพในประเทศไทยก็จะประมาณ 56,000 บาทต่อเดือน)

เพราะฉะนั้น ถ้าคำนวณจากสูตรข้างต้นการมีพอร์ต 100 ล้าน ก็จะเทียบได้กับการมีรายได้ 250,000 บาทต่อเดือน แบบที่ไม่ต้องทำงานไปอีกตลอดชีวิต แบบนี้น่าจะเกินพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแล้วไม่ใช่หรือ ?

การมีเงินมากขึ้น ไม่ได้การันตีความสุขในชีวิต ในมุมกลับกัน การจะมีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ต ความมั่งคั่งและความสุข มีหลักการของมันเอง อยากรวย ก็ต้องใช้เงินน้อยกว่าที่หามาได้ ไม่สร้างหนี้อุปโภคบริโภค เพิ่มคุณค่าและรายได้ให้ตัวเองตลอดเวลา และที่สำคัญ คือ รู้จักให้เงินทำงานแทนเรา อยากจะมีความสุขก็ต้องทำตัวเป็นคนดี รู้จักให้ฝึกเจริญสติ รู้จักธรรมชาติของชีวิต มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ซาบซึ้งขอบคุณกับสิ่งรอบตัว และที่สำคัญที่สุด คือ รู้จักคำว่า “พอ” ซึ่งเราสามารถนำหลักคิดของพุทธศาสนามาใช้ได้

การลงทุนสอนให้เราสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิต ทำเงินให้งอกเงย สร้าง supply ให้กับชีวิต แต่ธรรมะสอนให้เราควบคุม demand ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน “ความอยาก” ของตัวเราเอง เราก็จะกลายเป็นทาสของมัน ไม่ว่าจะมีพอร์ตใหญ่แค่ไหนก็จะไม่สามารถตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาได้ทัน

สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่ฝึกฝนจิตใจให้ดี ไม่ว่าจะมีพอร์ต 100 ล้าน หรือ 1,000 ล้าน ก็อาจจะไม่ได้การันตีความสุขในชีวิต แต่ข่าวดี คือ เราสามารถมีความสุขได้เลยในตอนนี้ เวลานี้ ไม่ว่าพอร์ตเราจะแค่หลักแสน หรือว่ายังเป็นหนี้อยู่ ไม่ว่าตอนนี้เราใกล้หรือไกลจากเป้าหมายแค่ไหน เราก็สามารถสนุกกับมันได้ ใครจะไปรู้ บางครั้งการเดินขึ้นเขาอาจจะสนุกกว่าการไปถึงยอดเขาก็เป็นได้

 

 


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พอร์ต 100 ล้าน ความสุข

view