สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Abilene Paradox

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป

“Jerry B. Harvey” เขียนบทความหนึ่งชื่อ “Abilene Paradox-The Management of Agreement” ที่โด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อปี 2517 หรือเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว จนกลายมาเป็นทฤษฎีการบริหารที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก จวบจนถึงทุกวันนี้

“Jerry” เล่าว่าในเมืองโคลแมน (Coleman) มลรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีครอบครัวหนึ่งที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว และลูกเขย กำลังนั่งเล่นเกมโดมิโนอยู่ที่ระเบียงบ้านในวันที่อากาศร้อนมาก ๆ อยู่ดี ๆ พ่อก็พูดขึ้นมาว่า…เราขับรถไปกินข้าวเย็นที่ Abilene กันดีมั้ย (Abilene เป็นเมืองที่สวยงามแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากใจกลางเมืองเทกซัสไปทางทิศตะวันตกประมาณ 250 กิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากบ้านที่ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ ไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงเศษ)

ภรรยาบอกว่า…เป็นไอเดียที่ดี

ส่วนลูกเขยที่ในใจลังเลเพราะคิดว่าสุดท้ายคงไม่พ้นตัวเองที่ต้องเป็นคนขับรถ ระยะทางก็ไกล อากาศก็ร้อนมากเสียด้วย แต่เห็นว่าพ่อตากับแม่ยายอยากไป เลยบอกว่า…ก็ดีเหมือนกัน เราไม่ได้ไป Abilene ด้วยกันมานานมากแล้ว

ส่วนลูกสาวที่คิดในใจว่าไปทำไมกัน ร้อนก็ร้อน ไกลก็ไกล แต่เห็นว่าทุกคนอยากไป ตนเองไม่ติดขัดอะไร จึงตอบว่า… ก็ดีเหมือนกัน จะได้นั่งรถเที่ยว

จากนั้นจึงแยกย้ายกันไปแต่งตัวและออกเดินทาง

ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนรถ ทุกคนรู้สึกร้อน แถมฝุ่นเยอะอีกต่างหาก ดูช่างเป็นการเดินทางที่ยาวนานเสียเหลือเกิน พอไปถึงภัตตาคารที่จองไว้ อาหารกลับไม่อร่อยอย่างที่คาดหวัง เรียกได้ว่าแย่พอ ๆ กัน ทั้งความทุลักทุเลในการเดินทาง และรสชาติของอาหาร แต่ไม่มีใครกล้าบ่นอะไร เพราะเห็นว่าคนอื่น ๆ

ดูหงุดหงิดพอแล้ว จึงไม่อยากทำให้บรรยากาศเลวร้ายลงไปอีก

ทานเสร็จจึงเดินทางกลับ สิริรวมเวลาแห่งความเหนื่อยล้าประมาณ 4 ชั่วโมงเต็ม พอถึงบ้านแม่ก็เอ่ยขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ตัวเองรู้สึกตรงกันข้ามว่า…เป็นทริปที่ดีมาก ๆ เลยเนอะ (แต่จริง ๆ ในใจคิดว่าน่าจะอยู่บ้านซะดีกว่า)

จากนั้นพ่อก็พูดขึ้นมาว่า…จริง ๆ ฉันไม่ได้อยากไปหรอกนะ แต่ยอมไปเพราะตามใจทุกคน

แม่เลยพูดว่า…อ้าว ! ฉันก็ไปเพราะอยากให้ทุกคนรู้สึกแฮปปี้ ฉันต้องเป็นบ้าแน่ ๆ ถ้าเป็นต้นคิดที่อยากจะออกไปข้างนอกในวันที่อากาศร้อนอย่างนี้

ส่วนลูกสาวกับลูกเขย บอกคล้าย ๆ กันว่า…ที่จริงงง และสงสัยว่าจะออกไปทำไมไกล ๆ ในวันที่อากาศไม่เป็นใจเช่นนี้ แต่เห็นว่าพ่อกับแม่อยากไป เลยเอออวยไปด้วยเพราะไม่อยากขัดใจ

หลังจากถกกันได้สักพัก ทุกคนก็ชี้นิ้วมาที่พ่อว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ พ่อบอกว่าที่เสนอความคิดขึ้นมาเพราะคิดว่าทุกคนอาจจะเบื่อที่นั่งอยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว อันที่จริงไม่ได้คิดว่าทุกคนจะไปหรอก แค่เปรย ๆ ขึ้นมาเฉย ๆ ตอนนั้นยังรู้สึกประหลาดใจเลยว่า…เฮ้ย จะไปกันจริง ๆ เหรอ นี่แค่คิดเล่น ๆ นะ

ทั้งหมดระเบิดเสียงหัวเราะออกมาด้วยความงุนงง แล้วก็กลับมานั่งคิดร่วมกันว่าทำไมจึงไป Abilene ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครอยากไปจริง ๆ สักคน อันที่จริงทุกคนอยากอยู่บ้านเฉย ๆ ด้วยซ้ำ แต่พูดไปคนละทางกับสิ่งที่ตนเองคิด เพราะไม่อยากขัดใจคนอื่น

ความคิดที่ย้อนแย้งกับการกระทำ (Paradox) เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในครอบครัวอย่างที่เล่าให้ฟังเท่านั้น ในสังคม ในที่ทำงาน ในรัฐบาล หรือเวทีการประชุมระดับนานาชาติ ก็มีให้เห็นทั่วไป

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมนั่งประชุมคณะกรรมการของบริษัทแห่งหนึ่งในฐานะกรรมการอิสระ หนึ่งในวาระการประชุมเป็นการทบทวนแผนกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งมีตัวเลข และอัตราส่วนทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

กรรมการหลายท่านเห็นความผิดปกติบางอย่างในตัวเลขเหล่านั้น แต่ไม่มีใครซักถาม หรือคัดค้านใด ๆ ต่างคนต่างบอกว่าเป็นแผนที่ดี วาระนั้นจึงผ่านฉลุย หลังจากที่ฝ่ายบริหารนำเสนอ หลายเดือนให้หลัง เมื่อมีการลงมือปฏิบัติจริงพบว่าข้อมูลบางอย่างคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ส่งผลกระทบถึงผลประกอบการขององค์กร

กรรมการนำแผนกลับมาทบทวนอีกครั้ง ทุกคนพูดตรงกันว่าในวันที่พิจารณาครั้งแรก เห็นความผิดปกตินั้นแล้ว แต่เพราะกรรมการท่านอื่น ๆ ดูเหมือนไม่คัดค้านอะไร ในทางกลับกันยังแสดงท่าทีสนับสนุนอีกด้วย ตนเองจึงเออออตามไป

ในคณะกรรมการมีผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี และการเงินอยู่ 2 ท่าน คณะกรรมการท่านอื่น ๆ เห็นว่าทั้ง 2 ท่านนี้ไม่แสดงความคิดเห็นคัดค้าน จึงคิดว่าข้อมูลน่าจะถูกต้อง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน รู้สึกว่าตนเองยังใหม่กับธุรกิจลักษณะนี้ ที่สำคัญคณะกรรมการท่านอื่นที่มีประสบการณ์โดยตรง และเข้าใจธุรกิจมากกว่า ไม่ได้แสดงความเห็นแย้ง อีกทั้งยังแสดงท่าทีสนับสนุนด้วย จึงคิดว่าตนเองอาจไม่รู้รายละเอียดของบริบทในการทำธุรกิจเท่ากับกรรมการท่านอื่น ๆ จึงสนับสนุนแผนงานนั้นไปแบบแอบสงสัยนิด ๆ

ผลกลายเป็นว่ากรรมการทั้งคณะลงมติเห็นชอบ และอนุมัติแผน ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ ยังไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าตนเองรู้น้อย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เลยไม่อยากทำให้คนอื่นเสียเวลา และเสียความรู้สึก รวมทั้งไม่อยากทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่คนเดียว

Abilene Paradox จึงเป็นสิ่งเตือนใจว่าในการบริหาร และการทำงานเป็นทีม ความท้าทายไม่ได้อยู่แค่จะจัดการกับความเห็นต่าง (disagreement) ได้อย่างไร แต่การที่คนในทีมมีความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด (agreement) ก็เป็นประเด็นที่ทำให้ต้องฉุกคิดด้วยเช่นกัน


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Abilene Paradox

view