สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ รับมือเจรจาการค้ายุค 4IR

จากประชาชาติธุรกิจ

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การเจรจาเพื่อการค้า การส่งออก จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง มีความทันสมัย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือมากกว่าการเจรจาเปิดเสรีหรือไม่เปิดเสรี

ยึด 5 หลักเจรจาการค้ายุคดิจิทัล

ล่าสุด ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้จัดบรรยายเรื่อง “4IR กับการเจรจาการค้ายุคใหม่” เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และความท้าทายต่อการเจรจาการค้าของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าในต่างประเทศใน อนาคต โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR : 4 Industrial Revolution) ซึ่งจะรวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงดิจิทัลที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญยิ่ง

ดังนั้น ประเทศไทยต้องให้ความสนใจ เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถดึงประเทศนั้น ๆ เข้ามาลงทุน เข้ามาแบ่งปันทักษะด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับไทย โดยผ่านการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าจึงเป็นด่านสำคัญที่จะดึงนักลงทุนเข้ามา ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านการเจรจา จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เพื่อให้สอดคล้องกับหลายสิ่งที่ก้าวหน้าไปให้ทัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี

สิ่งสำคัญในการเจรจา คือ 1.ควรมุ่งเน้นการเจรจาเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น (Collaboration) ดังเช่น นโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (strategic partnership) 2.บูรณาการเจรจาสินค้าและบริการให้มากขึ้น แทนที่จะเน้นการเจรจาเรื่องการลดภาษีรายสินค้าอย่างที่ผ่านมา 3.มุ่งเน้นการเจรจา เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยอาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเคลื่อนย้ายบุคลากร เพราะอนาคตการออกไปเจรจาแต่ละประเทศ ต้องพิจารณาแล้วว่าประเทศคู่ค้านั้น ๆ มีเทคโนโลยีอะไร นวัตกรรมอะไรดี และสามารถนำบุคลากร เทคโนโลยีเหล่านั้นเข้ามาพัฒนาประเทศไทยหรือถ่ายทอดความรู้ใดให้ไทยได้ 4.การเจรจาเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive negotiation) เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ลืมประเด็นทางสังคม และเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และ 5.การจัดหารหัสสินค้าที่รองรับสินค้า บริการใหม่ ๆ ด้วย

นอกจากในยุค ดิจิทัลการเจรจาเพื่อสนับสนุนการค้าออนไลน์และการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่าง ประเทศ ควรให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการค้า ควบคู่กับการคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และป้องกันปัญหาภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตด้วย

ท้ายที่สุด นักเจรจาการค้ารุ่นใหม่ต้องตื่นตัว หูตากว้างไกล ก้าวทันโลก ก้าวทันเทคโนโลยี รวมถึงสามารถประสานความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นด้วย และต่อยอดในสิ่งที่มี เพิ่มสร้างความเข้มแข็งให้กับการเจรจา และดึงเอาประโยชน์เข้าสู่ประเทศไทยให้ได้มากที่สุด

เน้นร่วมมือเทคโนฯ-นวัตกรรม

ขณะที่ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวในหัวข้อ “ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ว่า ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการนำเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้การผลิต รวมถึงการค้า การบริการ การลงทุน ต้องปรับรูปแบบใหม่เพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไป หากประเทศไทย ก้าวตามไม่ทันและปรับรูปแบบการเจรจาการค้าใหม่ จะเกิดผลกระทบต่อไทยได้ จะเห็นว่าได้มีการผลิต รถอัจฉริยะ ตู้เย็นอัจฉริยะ เครื่องพรินต์ที่สามารถทำอวัยวะเทียมได้ และกำลังศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ได้จริง และมีการพัฒนาวัตถุดิบที่แข็งกว่าเหล็ก ทำให้เหล็กหมดความสำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และนวัตกรรมสร้างขึ้นมา และเริ่มออกมาสู่สังคมจริง ๆ แล้ว

นอกจากนี้ กำลังสร้างบิ๊กดาต้าขนาดใหญ่ ที่เข้าใจผู้บริโภคจากการค้าขายออนไลน์ที่กำลังขยายตัวด้วย มีฟินเทค ที่จะพลิกโฉมระบบการเงิน มีบล็อกเชน ที่เป็นระบบอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่ ที่จะทำให้การทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มีความปลอดภัยมากขึ้น และคนกลาง เช่นธนาคารจะถูกลดความสำคัญลง การมีเทคโนโลยีไบโอโลจิคอลจะพลิกโฉมการเพาะปลูกสินค้าเกษตร หลาย ๆ ประเทศเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น จีน อินเดีย และจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตร เช่น ไทย ที่ยังใช้ระบบดั้งเดิมในการผลิต ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือบริการที่เกี่ยวข้องในอนาคตทั้งสิ้น

โดยหน่วยงานด้านการเจรจาอย่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญ อาจจะต้องนำประเด็นเกี่ยวข้องเหล่านี้ไปคิด และปรับโฉมรูปแบบการเจรจาให้ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพราะจะยึดรูปแบบการเจรจาแบบเดิมที่เน้นการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุนไม่ได้

การเจรจาจะต้องเน้นการเพิ่มความร่วม มือกับประเทศที่มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม เน้นการเจรจาเป็นรายคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่การค้าสินค้า บริการ การลงทุน และนวัตกรรม ก่อนการเจรจา ผู้เจรจาต้องรู้นโยบายของประเทศกำลังมุ่งไปทางไหน ตอนนี้ไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ และส่งเสริมผลักดันการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การไปเจรจากับประเทศคู่ค้าต้องดูปัจจัยภายในประเทศนั้น ๆ ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และหาทางเจรจาเพื่อเพิ่มความร่วมมือกับเป้าหมายให้ได้ จะมาเจรจาเปิดสินค้า บริการ ปิดห้ามสินค้าหรือบริการนั้น ไม่ได้อีกแล้ว !

ส่วนภายใน ประเทศต้องให้ความสำคัญ โดยยกระดับการให้บริการ ลดขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการออกใบรับรองนิติบุคคล โดยนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ตรวจสอบ และมีความปลอดภัยสูงด้วย การขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การขอจดทะเบียนคุ้มครองงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือผลงาน ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะงานด้านเจรจาแต่งานภายในประเทศก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องก้าวทัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปด้วย

เร่งรัฐวางระบบกันข้อมูลรั่วไหล

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ยังเคยได้กล่าวถึงการนำระบบอินเทอร์เน็ต อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล เข้ามามีส่วนสำคัญ ด้านการค้า การส่งออก พร้อมทั้งนำระบบไอที เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้นำเข้า ผู้ส่งออก เพื่อให้ขั้นตอนการทำงานง่ายและสะดวกมากขึ้น และสิ่งที่น่าสนใจ คือ ระบบป้องกันไอที เพื่อไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล เสียหาย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ผู้ขายด้วย

ทั้งนี้ ระบบความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญและสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งไทยพร้อมแล้วหรือยัง


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ รับมือ เจรจาการค้า ยุค 4IR

view