สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คณิตศาสตร์ประกันภัย สำหรับผลประโยชน์พนักงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน

โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

กฎหมายแรงงานตัวใหม่ในตอนนี้ได้กำหนดว่า “การเกษียณ” เท่ากับเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย พร้อมกำหนดอายุเกษียณเป็น 60 ปี

ดังนั้น อัตราค่าชดเชยตามอายุงานเมื่อทำงานจนถึงอายุเกษียณ คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน

ทำให้นายจ้างอาจต้องจัดจ้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณตั้งเงินสำรองเป็นเงินกองทุนของบริษัท เพื่อเอาไว้จ่ายลูกจ้างในอนาคต โดยค่าชดเชยเหล่านี้ ถือเป็นการการันตีผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตอนที่ทำงานจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งหลักการก็คล้ายกับการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ การตั้งเงินสำรองจึงสามารถตั้งแบบคณิตศาสตร์ประกันภัยได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมุติว่าเรารู้ว่าบริษัทจะต้องจ่ายหนี้ก้อนโตมูลค่า 12 ล้านบาทที่ต้องจ่ายชดเชยพนักงานในอีก 1 ปีข้างหน้า เราอาจจะทยอยตั้งสำรอง เดือนละ 1 ล้านบาท พอเวลาผ่านไปครบ 12 เดือน บริษัทก็จะมีเงินสำรองครบ 12 ล้านบาท เอาไว้พอจ่ายหนี้ครบจำนวนพอดี

ถ้าระยะเวลาเป็นแค่ระยะสั้น ๆ แค่ 1 ปี การตั้งสำรองต่าง ๆ ก็คงจะไม่ยาก แต่ลองคิดตามกันดูครับว่า ถ้าเราเปลี่ยนระยะเวลาจาก 1 ปี ไปเป็นระยะเวลา 20 ปี แล้วจะทำอย่างไร

สมมุติตัวอย่างเดิม ที่มีหนี้ต้องจ่ายชดเชยพนักงานเป็นจำนวน 12 ล้านบาท แต่ทีนี้เรารู้ว่าจะต้องจ่ายในอีก 12 ปีข้างหน้า เราก็สามารถทำได้เหมือนเดิม คือ ทยอยตั้งเงินสำรองปีละ 1 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนด 12 ปี หนี้สินที่บริษัทตั้งสำรองเอาไว้ก็ครบ 12 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ได้พอดี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับก็ไม่ใช่ 100% และเรายังสามารถนำเงินไปลงทุนก่อนได้ จึงทำให้เราไม่ต้องทยอยตั้งสำรองปีละ 1 ล้านบาทก็ได้ อาจจะตั้งแค่ปีละ 3 แสนบาท ก็น่าจะเพียงพอ

หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือการหาโอกาสความน่าจะเป็นที่จะจ่ายในแต่ละคน รวมถึงการหาอัตราดอกเบี้ยจากเงินกองทุนที่จะทำให้เงินทำงานได้ เพราะโอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับเงินชดเชย ก็ไม่ใช่ 100% และเรายังสามารถนำเงินไปลงทุนก่อนได้ จึงทำให้เราไม่ต้องทยอยตั้งสำรองเต็มจำนวน ซึ่งเงินที่ต้องเตรียมไว้จ่ายค่าชดเชยของแต่ละคนในยามเกษียณนั้น แทนที่จะต้องตั้งสำรองจ่ายเต็ม ๆ เราก็คำนวณโดยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย แล้วลดทอนด้วยหลักความน่าจะเป็น (ที่มีโอกาสไม่จ่าย) และหลักการลงทุนดอกเบี้ยทบต้น (ที่มีโอกาสให้เงินทำงานงอกเงยดอกเบี้ย)

หนี้ก้อนที่คิดว่าจะต้องตั้งสำรองเต็ม ๆ จึงถูกลดทอนด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยประมาณไปในอนาคตระยะยาว ทำให้ไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม บริษัทจึงสามารถตั้งหนี้สินได้น้อยลงไปเยอะ

…ถึงจะซับซ้อนแต่ก็มีประโยชน์มากนะครับ…ซึ่งการคำนวณผลประโยชน์พนักงานดังกล่าว เราสามารถจัดจ้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณให้ได้

ดังนั้น กิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสาธารณะ (PAE) จึงควรใช้การประมาณการโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อที่จะได้เปิดเผยข้อมูลลักษณะธรรมชาติของภาระผูกพันอย่างละเอียดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น ส่งผลต่อสถานภาพทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการสอบใบคุณวุฒิเพื่อรับรองความสามารถ และให้มั่นใจว่าตัวเลขดังกล่าวสามารถเชื่อถือได้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ จึงเป็นคนที่มีคุณวุฒิในการประกอบวิชาชีพนี้โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (The Societies of Actuaries of Thailand) www.soat.or.th


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คณิตศาสตร์ประกันภัย ผลประโยชน์พนักงาน

view