จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
สุภาษิตพ่อค้าไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วในเมืองไทย สำหรับเป็นคติในการดำรงชีวิตก็คือ “ตายไม่กลัว กลัวขาดทุน” ขาดทุนในที่นี้
ก็คือขาดทุนทางการเงิน คงจะไม่นับผลประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ รวมทั้งผลประโยชน์ระยะยาวถ้าเป็นการทำธุรกิจ แต่ถ้าจะผลิตเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้กับวงศ์สกุลก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่นำมา
ปนกัน หรือจะสร้างบุญกุศลเอาไว้ใช้ในชาติหน้า หรือสร้างสุสานใหญ่โตเพื่ออนาคตความมั่งคั่งและหน้าตาของลูกหลาน เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่นิยมการเผาแต่จะบรรจุศพไว้ในสุสาน ราคาที่ดินถ้าคิดต่อตารางวาแล้วแพงกว่าราคาที่ดินของผู้คนที่ยังมีชีวิตใช้เป็นที่อยู่อาศัยมากมายนัก
แต่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ สิ่งที่พ่อแม่สั่งสอนก็คือ ให้กลัวขาดทุนยิ่งกว่ากลัวเสียชีวิต เพราะการขาดทุนจนล้มละลายนั้น นอกจากสร้างความย่อยยับให้กับตัวเองและลูกหลานแล้ว ยังสร้างความอัปยศอย่างใหญ่หลวงให้กับวงศ์ตระกูล ตายไปจะไปมองหน้าบรรพบุรุษได้อย่างไร คตินี้คงจะถ่ายทอดมาจากคำสอนของขงจื๊อ เพราะเคยดูภาพยนตร์ที่อิงประวัติศาสตร์จีน เป็นคำสอนที่ฮ่องเต้และหัวหน้าตระกูลใหญ่ ๆ ในเมืองจีนพูดอยู่เสมอ ตายไม่กลัว กลัวพ่ายแพ้ การทำมาค้าขายขาดทุนก็คือความพ่ายแพ้ของเวทีการค้า
โครงสร้างขององค์กรธุรกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรใหญ่ ๆ ในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ธนาคาร โรงงานอุตสาหกรรม โรงสี บริษัทที่ผลิตเพื่อการส่งออกหรือที่ยึดตลาดภายในประเทศ จะเป็นบริษัทที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว หรือไม่ก็ฮกเกี้ยนสำหรับจังหวัดภาคใต้ ส่วนจีนไหหลำที่มาทำกิจการป่าไม้แล้วพัฒนามาเป็นเจ้าของไร่อ้อยและน้ำตาล
การที่นักธุรกิจเชื้อสายจีนแต้จิ๋วมีคติในการทำธุรกิจดังกล่าว จึงทำให้นักธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับความถูกต้องกับการรักษาคำพูดหรือคำมั่นสัญญาและจรรยาบรรณน้อยกว่านักธุรกิจในชาติอื่น ๆ
การรวมตัวกัน การร่วมมือกัน จับมือกันไปต่อรองกับต่างประเทศแบบญี่ปุ่นจึงทำไม่ได้ คนไทยแต้จิ๋วจับมือตกลงกัน พอหันหลังให้ก็ละเมิดสัญญากันแล้ว ส่วนญี่ปุ่นนั้นมีวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ถือคติ “Japan First” หรือญี่ปุ่นมาก่อนแบบเดียวกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย “America First” แต่คงทำไม่ได้เพราะวัฒนธรรมพ่อค้าอเมริกานั้นนิยมการแข่งขัน ตกลงกันอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแต่ก่อนตกลงกันได้ต้องนวดกันนาน
คติ “ตายไม่กลัว กลัวขาดทุน” ทำให้พวกเราสามารถทำได้ทุกอย่างถ้าเห็นกำไร แม้ว่าจะเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและร่างกายก็ไม่กลัว จนมีคำพังเพยว่าคนไทยนั้นไม่กลัวกฎหมายแต่กลัวตำรวจ ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมตะวันตก
ที่เขากลัวผิดกฎหมาย เพราะเดิมกฎหมายเป็นคำสั่งของพระเจ้าแต่ไม่กลัวตำรวจ ถ้าพรรคพวกสามารถแสวงหากำไรได้โดยรอดพ้นจากการถูกจับกุม แทนที่จะตำหนิติเตียนกลับชมเชยและพยายามไถ่ถามว่าทำอย่างไรจึงทำอย่างนั้นได้ สื่อมวลชนก็ไม่ได้ตำหนิติเตียนสาปแช่งผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวงมากนัก
เมื่อผู้กระทำการดังกล่าวสามารถฟอกเงินได้โดยการสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ แทนการถือเงินสดไว้ที่ห้องใต้ดินภายในคฤหาสน์อันเป็นที่อยู่ เพราะอาจจะถูกตรวจค้นพบและไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วถูกจับกุม หรือเมื่อกระทำการผิดพลาดแล้วถูกสอบสวนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ต่าง ๆ เหล่านั้น
การกระทำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน “ตายไม่กลัว กลัวขาดทุน” นี้ จึงทำให้จรรยาบรรณในการทำธุรกิจของคนไทยอ่อนแอมาก ไม่แน่นักว่าระหว่างคนไทยและคนจีน ไม่ว่าจะที่ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ใครจะอ่อนแอกว่าใคร แต่สำหรับสิงคโปร์นั้นเป็นวัฒนธรรมของอังกฤษ ถูกบังคับใช้โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยิว
อย่างหนัก มีการเอาจริงเอาจังในการปราบปรามและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น การบังคับใช้วัฒนธรรมตะวันตกอย่างหนักจึงทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบัดนี้บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่เกือบทุกแห่ง รัฐบาลสิงคโปร์เข้าไปถือหุ้นจนสามารถมีเสียงข้างมากในที่ประชุม สามารถตั้งประธานกรรมการและผู้จัดการได้เกือบหมดทั้งเกาะ สามารถป้องกันลัทธิตายไม่กลัว กลัวขาดทุนได้ เพราะใครปฏิบัติเช่นนั้นทั้งในวงการรัฐบาลและวงการธุรกิจก็จะต้องตายจริง ๆ จนได้ชื่อว่าเป็น Singapore Inc.
เหมือนกับญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็น Japan Inc. เพียงแต่กรณีญี่ปุ่นเกิดจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจ กรณีสิงคโปร์เกิดขึ้นจากการบังคับโดยรัฐบาลพรรคเดียว คือ พรรคกิจประชาชน หรือพรรค People Action Party ส่วนของญี่ปุ่นคือพรรค LDP หรือพรรคเสรีประชาธิปไตย Liberal Democratic Party เกาหลีใต้พยายามลอกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดียวกับญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จ แต่ไต้หวันใช้รูปแบบการแข่งขัน จึงไม่เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การสร้างวัฒนธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศ ถ้าประเทศนั้นไม่มีวัฒนธรรมมาก่อน
ความคิดเรื่อง “ตายไม่กลัว กลัวขาดทุน” หรือกลัวไม่ได้กำไรติดตัวทุนขนาดใหญ่มาด้วย แม้ว่าตนจะสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจจนมีขนาดใหญ่สามารถผูกขาดได้ จะโดยการได้สัมปทานจากรัฐ จากการประมูล หรือโดยเทคโนโลยีที่ตนนำมาก่อนใคร หรือการบริหารจัดการที่นำมาจากต่างประเทศ หรือเพราะพื้นที่ธุรกิจที่ตนจับจองได้ก่อนคนอื่น ก็จะใช้หลัก “ตายไม่กลัว กลัวขาดทุน” หรือกลัวไม่ได้กำไรก่อนคนอื่น ก็ยังมีอยู่ในการละเมิดจรรยาบรรณของการทำการค้า แม้ว่าเราจะมีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรแล้วก็ตาม
การที่ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเจียระไนพลอยแดง ทับทิมสีน้ำเงินหรือไพลิน พลอยสีเหลืองบุษราคัม และพลอยเนื้ออ่อนอื่น ๆ ก็เพราะมีคนไทยหน่วยกล้าตายไปทำการลักลอบนำเข้าพลอยจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มตั้งแต่ขุดทับทิมในกัมพูชา ทำการค้าใต้ดินกับทหารพม่า ค้าทับทิมสีชมพูกับหยกสีเขียว ซื้อวัตถุดิบจากศรีลังกามาเผาหรือหุงเป็นพลอยสีน้ำเงิน จนบัดนี้รัฐบาล
ศรีลังกาออกกฎหมายห้ามส่งออกพลอยดิบ หากจะหุงพลอยก็ให้ทำในประเทศศรีลังกา การหุงพลอยนั้นเป็นเทคโนโลยีของครอบครัวไทยที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นเทคโนโลยีของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อศรีลังกาห้ามส่งออกวัตถุดิบก็ย้ายไปมอริเชียส หนัก ๆ เข้าก็ลักลอบนำเข้ามาหุงในเมืองไทยโดยพวกที่ “ตายไม่กลัว กลัวขาดทุน” นั่นเอง ไม่แน่ใจเมื่อรุ่นนี้ปลดระวางตัวเองลงจะยังสามารถรักษาธุรกิจเช่นว่านี้สืบต่อไปถึงลูกหลานได้หรือไม่
ที่แปลกก็คือ เมื่อมีความอดอยาก ผลิตอาหารไม่เพียงพอกับการบริโภค ซึ่งประธานเหมา เจ๋อ ตุง อธิบายว่า เกิดจากการขูดรีดของเจ้าที่ดินและนายทุน เป็นความล้าหลังของระบบศักดินาจีน ที่รัฐบาลไม่สนใจลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน เจ้าที่ดินและนายทุนไม่สนใจว่าการเก็บค่าเช่านาที่สูงเกินไปจะทำให้ผลผลิตต่อส่วนรวมลดลง หากชาวนาไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน
และผลผลิตของตนเอง ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาเป็นของรัฐและการทำนารวมก็มีผลให้ผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการทำลายกำไรหรือผลตอบแทนส่วนตัว ทำให้เกิดความอดอยากยากแค้นและเกิดภาวะ “อดตาย” ปีละหลายแสนคน ต่อมาเมื่อชาวนาได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิ์สัญญาการเช่าระยะยาวที่สามารถตกทอดเป็นมรดกได้ ผลผลิตการเกษตรของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนมีเหลือและสามารถส่งออกได้ถ้าต้องการ ทางการต้องจำกัดเนื้อที่เพาะปลูกไม่ให้มีส่วนเหลือ เพราะราคาตลาดโลกต่ำกว่าราคาภายในที่ได้รับการชดเชย
การแข่งขันภายใต้สุภาษิต “ตายไม่กลัว กลัวคนอื่นได้กำไร” เป็นพื้นฐานความคิดของวิสาหกิจขนาดใหญ่ของเรา ขณะนี้จะนำธุรกิจภาคนอกเกษตรอันได้แก่ การค้าปลีก ค้าส่ง การผลิต การส่งออก การนำเข้าให้เป็นธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ภายใต้ทุนขนาดใหญ่ไม่เกิน 10-20 ตระกูลจะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างเศรษฐกิจหรือไม่ จะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้นหรือไม่ จะทำให้การถือครองทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่กับคนชั้นสูงเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เป็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองพยายามสร้างให้เป็นประเด็นใช้ถกเถียงกันอยู่เสมอ
แม้ว่าคำตอบคือใช่ แล้วจะเป็นอันตรายต่อระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่หรือไม่ หรือจะทำให้ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำระแวงว่าโครงสร้างเช่นนี้จะเป็นอันตรายต่อฐานะของตนหรือไม่ หรือจะเป็นไปได้เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะแคบลงไปเอง เมื่อความยากจนหมดไป
ที่สำคัญ ช่องว่างดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจนกลายเป็นความรุนแรงหรือไม่ หากกองทัพไม่เข้ามาก้าวก่าย หรือจะเข้ามาก้าวก่ายเป็นเวลา 4-5 ปีกว่าของโรดแมปได้หรือไม่ น่าไตร่ตรองดู
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน