จากประชาชาติธุรกิจ
โดย ก้อย ประชาชาติ
ในปี 2561 หรือ 2562 ภาครัฐมองว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น และเชื่อว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของประเทศจะขยายตัวได้ในระดับ 5%
จากสัญญาณความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีใหม่ สอดคล้องกับ GDP ในปีที่ผ่าน ๆ มา ขยายตัวมากกว่า 4% ล้วนต่างจะกลายเป็นแรงหนุนส่งให้ปี 2561-2562 ไปได้ฉิว
ทำให้งานสำคัญต่อจากนี้ คือการเร่งเดินหน้าไปด้วยกัน ด้วยการผลักดันกำลังซื้อรากหญ้า เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยให้มีเงิน ให้มีการจับจ่ายใช้สอย
แต่ต้องยอมรับว่าแม้ที่ผ่านมา จะมีการช่วยเหลือและเร่งผลักดันหลายมาตรการเพื่อปลุกพลังซื้อในต่างจังหวัด แต่ก็ยังเป็นภาพที่เห็นผลแบบยังไม่ทั่วถึง
สอดคล้องกับการไม่เติบโตของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่สะท้อนกำลังซื้อของตลาดระดับรากหญ้าที่ยังคงปาดเหงื่อในการสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี
ปี 2560 สินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCF ตกต่ำสุดในรอบ 40 ปี ด้วยตัวเลขตลาดติดลบสูงสุด 7.9% ในเดือนพฤษภาคม จากปัญหาสะสมของหนี้ครัวเรือน
เช่นเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2561 นี้ แม้ว่าอาจจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ภาครัฐอุดหนุนค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ซึ่งช่วยให้บรรยากาศการค้าในระดับล่างดีขึ้น
บวกกับภาคการส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัวดีพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว
แต่ตัวเลขการจับจ่ายและเติบโตของกำลังซื้อก็ยังคงไปได้ และกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวเท่านั้น
แต่สำหรับในจังหวัดที่ไม่มีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ไม่มีผลผลิตการเกษตรที่ได้ราคา กำลังซื้อก็ยังคงมีปัญหา คนจนยังลำบากเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง แต่ขายได้ราคาต่ำ
ซึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้ามาช่วยกระตุ้นให้คนมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นนั้น มีส่วนช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายในต่างจังหวัดดีขึ้น
ทำให้ธุรกิจเคลื่อนตัวไปได้ แต่งบฯที่รัฐบาลใส่เข้ามานั้นเป็นเงินหมุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ
ขณะที่ชนชั้นกลาง หนุ่มสาว-ออฟฟิศบางส่วนก็ยังมีหนี้สะสมที่ทำให้พลังการซื้อและจับจ่ายไม่เต็มที่มากนัก
และเมื่อเปรียบเทียบกำลังซื้อทั้งตลาดพบว่า กลุ่มตลาดบนกลับยังคงดี และคาดว่าจะดีต่อเนื่อง สะท้อนผ่านกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมที่ยังขยายตัวและมีแรงซื้อที่ดี
อย่างไรก็ตาม แม้มู้ดจับจ่ายทั่วประเทศจะยังไม่สดใส โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าภูธร-ต่างจังหวัด แต่ในแง่ของการทำธุรกิจกลับยังคงเดินหน้าบุกเต็มที่
สอดรับกับภาพของธุรกิจและแบรนด์สินค้าที่ต่างขยับทัพส่งสัญญาณบวก ด้วยการเทงบฯโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ นำโด่ง หว่านงบฯโดยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค-รถยนต์-ธนาคาร-อสังหาริมทรัพย์
นั่นหมายความว่าเม็ดเงินโฆษณาปีนี้น่าจะแตะ 120,000 ล้านบาท โต 7.6% จากปีก่อน
สินค้าเริ่มกลับมาใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องตลอดทั้งปี ควบคู่กับมาร์เก็ตติ้งอีเวนต์ต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมาสร้างสีสันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นต้นไป
เมื่อธุรกิจมองทุกอุปสรรคที่ท้าทายเข้ามา…ด้วยภาพบวกจากความหวังและการเติบโตของยอดขาย
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน