สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมคิด เคลื่อนเศรษฐกิจทวีคูณ ชูนโยบายเครื่องยนต์ 5 Digital

สมคิด” เคลื่อนเศรษฐกิจทวีคูณ ชูนโยบายเครื่องยนต์ 5 Digital

จากประชาชาติธุรกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand”s Development Landscape Forward” ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” จัดโดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ฉายภาพเศรษฐกิจโลกใหม่ ท่ามกลางโอกาสและความเสี่ยง ด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จด้วย 5 ดิจิทัล เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัวก้าวกระโดด ดิจิทัลเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ศก.ตัวใหม่

นายสมคิดกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของการสร้างอนาคตใหม่ของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจไทยทรุดตัวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาพ้นไปแล้ว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2560 ไตรมาส 4 ขยายตัว 4% รวมทั้งปีเติบโต 3.9% เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

จีดีพีในปี 2561 มั่นใจว่าจะเติบโตเกินกว่าคาดการณ์ไว้ 4.1% แน่นอน หากเป็นไปตามแผน อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณได้เต็มที่ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เป็นไปตามเป้าหมาย 7 แสนล้านบาท โปรเจ็กต์ขนาดใหญ่เคลื่อนไปได้ตามเป้าหมาย สำคัญที่สุดเรื่องการส่งออกสามารถทะยานต่อไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเชื่อมั่นไม่ลดลง

จากประสบการณ์ตลอด 10 ปี ตัวเลขเหล่านี้จะทะยานพุ่งไปข้างหน้านั้น มีขีดจำกัดให้ไม่สามารถทะยานต่อไปได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเครื่องยนต์เก่าและไม่สามารถแข่งขันได้ และสำคัญที่สุด เมื่อใดที่การผลิตทั่วโลกก้าวไปสู่ดิจิทัล เมื่อนั้นสิ่งที่เคยได้เปรียบจากต้นทุนต่ำจะหายไปทันที ฉะนั้น ช่วงเวลา 3-4 ปีนี้ จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน

โอกาส-ความเสี่ยงในโลกดิจิทัล

โอกาสจากเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นและเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว อาเซียนกลายเป็นบ่อทอง เป็นดินแดนที่ทุกค่ายทุกสำนักให้ความสนใจ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน จึงเป็นจังหวะของการใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ความเสี่ยงจากขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง หากรัฐบาล-เอกชนไม่ปรับตัววันนี้ อนาคตจะลำบาก ช่วงเวลานี้เรียกว่า รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ เพราะดิจิทัล โลกกำลังตื่น ดิจิทัลกำลังทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูล ความรู้ไม่มีขีดจำกัด พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนในทุกมิติ รูปแบบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ แม้กระทั่งรูปแบบการประกอบอาชีพเปลี่ยนแปลงไป สามารถทำงานที่ไหนก็ได้

ความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโอกาสอันใหญ่หลวง อาทิ การค้นคว้าและวิจัย การแชร์แนวคิดและนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืนเดียว การสร้างความรู้และแปลงเป็นโอกาสทางธุรกิจ ก้าวกระโดดข้ามคนอื่น เป็นความเปลี่ยนแปลงไม่มีที่สิ้นสุด

ภาครัฐพยายามปลุกคนไทยให้ตื่น เพราะขณะนี้โลกกำลังอยู่ในช่วงของการก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่ง ยุคซึ่งไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด แต่โลกทั้งโลกเปลี่ยน

ลดความเหลื่อมล้ำ-Digital for all

หลักการ 5 ประการ ที่ภาครัฐและเอกชนต้องก้าวไปสู่โลกยุคดิจิทัล ได้แก่ ประการที่ 1 การทุ่มงบประมาณมหาศาลในเรื่องดิจิทัลจะต้องเป็น digital for all เพื่อไปสู่ทุกคน เพราะหากดิจิทัลไม่สามารถกระจายไปได้ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างออก ฉะนั้นนอกจากติดตั้งอินเทอร์เน็ตในโรงพยาบาล สถานที่ราชการ หัวใจที่สำคัญจะต้องไปถึงการศึกษา เด็กทุกคน ต้องสามารถเรียนรู้ได้จากอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างอนาคต ต้องสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์หนุ่มสาวที่กล้าใช้เทคโนโลยี เป็นผู้นำในการแพร่เทคโนโลยีไปสู่หมู่บ้าน เปลี่ยนพฤติกรรม โครงสร้างการผลิต การค้าขายออนไลน์ ค้าขายกับโลก ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ทำให้ประชารัฐมีพลัง อยากเห็นพลังความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนเพื่อทำให้ digital for all เกิดขึ้นให้จงได้

เปลี่ยนเครื่องยนต์ ศก. จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล

ประการที่ 2 เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็น digital driven economy เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนสู่อนาคต การทำนายว่าจีดีพีปี 2561 จะเติบโต 4.1% นั้น เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์แอนะล็อก แต่เมื่อใดสามารถเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่ดิจิทัลได้ การเติบโตจะเป็นลักษณะทวีคูณ

หากสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำแพลตฟอร์มใหม่ business modal ใหม่ เกิดเป็นสตาร์ตอัพ ค้าขายออนไลน์กับทุกแห่งในโลก ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่ม productivity สร้างนวัตกรรมใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้า การเติบโตขยายตัวเป็นทวีคูณ ฉะนั้นการจะเป็น digital driverผู้ประกอบการ SMEs นับล้านราย คือ กำลังหลัก การสร้างสตาร์ตอัพเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัลทุกมหาวิทยาลัยต้องบรรจุหลักสูตรใหม่ เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ เช่น อาร์ตดีไซน์ โดยจะให้งบประมาณสนับสนุนมากขึ้น แต่จะตัดงบประมาณสถาบันที่ผลิตบุคลากรไม่ตรงกับเป้าหมายการจ้างงานในอนาคต

สร้าง “นักรบธุรกิจ” ใหม่

ประการที่ 3 คือ การสร้าง new warrior หรือนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นดิจิทัล เช่น ประเทศจีนมาถึงจุดนี้ได้ เริ่มต้นจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตชั้นนำของจีนเพียง 3 ราย ได้แก่ อาลีบาบา ไป่ตู้และเทนเซนต์ และสร้างสิ่งแวดล้อมด้านดิจิทัล (ecosystem) รอบตัวเพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดสตาร์ตอัพนับล้านราย กลายเป็นผู้พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจจีนจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัล

ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ต้องการเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น AIS ทรู ดีแทค สร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความตื่นตัว สร้างคลัสเตอร์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ร่วมกับภาครัฐ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสร้าง innovation สร้างแพลตฟอร์มใหม่ เกิดการร่วมทุนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในแพลตฟอร์มใหม่ของสตาร์ตอัพ เกิดเป็น engine (เครื่องยนต์) ของการสร้างจีดีพี ให้เติบโตเป็นทวีคูณ ดังนั้นในอนาคตต้องมี digital driven economy เพื่อให้เกิด exponential growth

เปิด bigdata ต่อยอดธุรกิจ

ประการที่ 4 สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมี digital leadership government หน้าที่ของรัฐบาล คือ สร้าง infrastructure และ ecosystem เพื่อให้เกิดการรวมพลัง ให้เอกชนเป็นผู้นำรัฐบาลสนับสนุน big data เพื่อให้ผู้ผลิตรู้ดีมานด์ ผู้บริโภคดีมานด์ในสิ่งที่ต้องการได้ เกิดเป็นการบริโภคที่ขยายตัว

ข้อมูลสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้ เกิดการซื้อขายข้อมูลระหว่างบริษัทยอดธุรกิจ รัฐบาลจะเซตระบบ big data เป็น open access ให้เอกชนใช้ประโยชน์ในการสร้างธุรกิจ

ขณะนี้ 3 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารออมสิน และกรุงไทย กำลังแชร์ข้อมูลของ SMEs เพื่อนำไปสู่การทำธุรกิจและการขายสินค้า รวมถึงการบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ฟินเทค) กระทรวงพาณิชย์นำข้อมูลจากทูตพาณิชย์ทุกคนในตลาดทั่วโลกส่งกลับมาเป็น open data ให้กับเอกชนเพื่อ create value ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาล คือ ทำให้ big data เป็น smart data เป็น data เชิงยุทธศาสตร์

โมเดลประชาธิปไตยใหม่

ประการสุดท้าย สำคัญที่สุด digital politic ดิจิทัลจะนำไปสู่ engagements คนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ เกิดการตื่นตัว สามารถสื่อสารกับรัฐบาลได้โดยตรง นอกเหนือไปจากการสื่อผ่านผู้แทน ส.ส. เพื่อรับรู้ความต้องการ รัฐบาลจะสามารถสร้าง policy ใหม่ ๆ พรรคการเมืองสามารถสร้างนโยบายใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองและสร้างอนาคตประเทศ เกิดเป็นพลังมหาศาล การมีโอกาสได้รับฟัง เกิดปฏิกิริยาระหว่างรัฐกับประชาชน เกิดเป็น modal democracy ที่ไม่เหมือนเดิม แต่ต้อง on the right track ถึงจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากลัว (evil) คือ เกิดจากการบิดเบือน ตกแต่ง ทำร้าย ประณาม เกิดการสื่อสารกันเฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม เกิดเป็นความแตกแยก แตกขั้วทางความคิด เกิดเป็นความขัดแย้ง

ท้ายที่สุด ระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้สำคัญ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐบาลต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้ เพราะมีเวลาอีกไม่เกิน 3 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต 3-4 ปีที่ผ่านมาต้องเปลี่ยนเพราะเป็นจังหวะที่ดี ในอนาคตข้างหน้าอยากให้คนรุ่นใหม่ สามารถเป็นนักธุรกิจ เป็นสตาร์ตอัพที่คิดสิ่งใหม่ ๆ ใครพร้อมเข้าสู่การเมืองเลย ถึงจะเป็น smart voice เพราะเรามี smart people


เร่งผลิต “บุคลากร” ดิจิทัล

จากประชาชาติธุรกิจ

ในเวทีสัมมนาหัวข้อ Digital Intelligent Nation 2018 “กานต์ ตระกูลฮุน” หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการ เอไอเอส กล่าวว่า ศักยภาพด้านอินโนเวชั่นเป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดของประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะที่การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2523 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อ GDP และคงที่อยู่แบบนี้มาหลายปี แต่ประเทศอื่นอย่างเกาหลีใต้ที่เคยลงทุนด้านนี้เท่ากับประเทศไทยได้เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 และกลายเป็นอันดับ 1 ในโลกไปแล้ว

ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลในปี 2559 ได้ขยับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาไปที่ร้อยละ 0.78 ต่อ GDP รวมเป็นมูลค่าทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท แต่ในปีที่แล้วคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราวร้อยละ 1 ต่อ GDP เป็นครั้งแรก ส่วนจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในปี 2557 อยู่ที่ 12.9 คนต่อหมื่นประชากร และมีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาจนในปี 2559 คือ 17 คนต่อหมื่นประชากร โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2564 จะมีบุคลากรด้านนี้ 25 คนต่อหมื่นประชากร ซึ่งถือว่าไม่เลว ขณะที่จากการคาดการณ์ของ Bloomberg 2018 ประเทศไทยติดอันดับ 45 ที่มีการสำรวจดัชนีด้านอินโนเวชั่นทั่วโลก”TDRI สำรวจว่า อีก 5 ปีเราต้องการบุคลากร R&D 5-6 หมื่นคน แต่เด็กที่เรียนด้านเทคโนโลยีมีค่อนข้างน้อย”

ขณะเดียวกันแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี รวมถึงการผลักดันบิ๊กดาต้า ดาต้าภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเต็มด้านอินโนเวชั่นของประเทศให้ดียิ่งขึ้น และดึงดูดการลงทุนทางเศรษฐกิจและพัฒนาสตาร์ตอัพให้มากขึ้น

“สถานะด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีความหวัง แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่อง”


เอไอเอส 2018 กดปุ่ม IOT ปักหมุด “โลคอลแพลตฟอร์ม”

จากประชาชาติธุรกิจ

เป็นประจำทุกต้นปี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ “เอไอเอส” จะประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจ ปี (2561) นี้จัดเป็นงานสัมมนาหัวข้อ “Digital Intelligent Nation 2018” มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง Thailand”s development landscape forward นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ เอไอเอส มาพูดถึง R&D and people development for the country และเชิญพันธมิตรในแต่ละอุตสาหกรรมมาแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ในการรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่นด้วย

“ดิจิทัล” เขย่าธุรกิจไม่เลิก

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เอไอเอส” พูดถึงกระแส “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ที่ถาโถมเข้ามาในทุกธุรกิจตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และกระทบต่อทุกธุรกิจ

ปัจจุบันคนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 50% มีผู้ใช้โมบาย 65% ใช้โซเชียลมีเดีย 40% และใช้ผ่านโมบายถึง 34% ขณะที่ในไทยมีอินเทอร์เน็ตใช้ 67% ใช้มือถือ 70% อาจดูน้อยกว่าความจริง เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่ได้นับซ้ำที่ผู้ใช้ 1 คน มีมากกว่า 1 ซิมการ์ด ขณะที่ยอดลงทะเบียนซิมการ์ดในไทยมีถึง 90 ล้านเลขหมาย กว่า 140% ของประชากรในประเทศ ทั้งมีการใช้โซเชียลมีเดีย 78% ผ่านโมบาย 62%

ขณะที่ยอดการใช้ดาต้าเพิ่มจาก 3.8 GB ต่อคนต่อเดือน เป็น 7.3 GB และปีนี้คาดว่าจะเกิน 10 GB ต่อคนต่อเดือน มากไปกว่านั้น เวลาที่ใช้โซเชียลมีเดียปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 3 ชั่วโมงปีก่อนหน้า เป็น 4.8 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 60%

คนไทยไม่กลัวเทคโนโลยี

“ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าคนไทยไม่กลัวการใช้เทคโนโลยี ขณะที่ธุรกิจอาจโดนทำลายล้าง ผมย้ำทุกครั้งว่าอย่ากังวล เพราะไม่ใช่มีแต่ข้อเสีย มีโอกาสแฝงอยู่ ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์ ดิจิทัลช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพมหาศาล”แต่ “ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน ?”

ซีอีโอ “เอไอเอส” ย้ำว่า การบริหารจัดการแบบเดิมเอาไม่อยู่กับสภาวะที่เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยี

“คนที่จะเป็นเจ้าโลกได้ต้องมีแพลตฟอร์มที่ดี ธุรกิจใหม่ใน 10-20 ปีที่ประสบความสำเร็จมาก โดยไม่ต้องลงทุนมาก ธุรกิจอย่างอูเบอร์, อาลีบาบา เกิดจากแพลตฟอร์มจากอินเทอร์เน็ต โลกยุคที่ 4 จะเกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่กูรูทั้งหลายยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร รู้แค่ว่าปี 2020 จะมีการเปลี่ยนแปลง มี IOT เพิ่มขึ้นมหาศาล มีดีไวซ์เพิ่มเป็นสิบ ๆ เท่า”

ในมุมมองของเอไอเอส นี่คือโอกาสของประเทศไทย

มุ่งสร้างโลคอลแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่คนไทยใช้กันทุกวันนี้ ล้วนเป็นของบริษัทต่างชาติ หากเปลี่ยนกติกาก็จะทำให้รายได้หายไปทันที วิสัยทัศน์ปี 2561 ของ “เอไอเอส” จึงมุ่งไปยังการเป็นผู้สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย (digital platform for Thais)

“ในโมบายอินฟราสตรักเจอร์ เราเป็นเบอร์หนึ่งแน่นอน เน็ตเวิร์ก 4G เราความเร็วระดับ 1 Gbps ซึ่งเป็นสปีดเริ่มต้นของ 5G แล้วโดยนำ 4G LTE ที่มีมาพัฒนา เรามีฟิกซ์ไลน์อิน ฟราสตรักเจอร์ นำโครงข่ายไฟเบอร์ทั่วประเทศกว่า 1.5 แสนกิโลเมตร ที่ให้บริการมือถือ มาให้บริการฟิกซ์ไลน์ มีแอปพลิเคชั่นและแพลตฟอร์ม ทั้งวิดีโอ, โมบายมันนี่, พาร์ตเนอร์, ไอโอที และคลาวด์ ซึ่งต่อไปจะให้บริการแบบไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าเอไอเอส”

ดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ที่จะมีในปีนี้ ได้แก่ 1.AIS IOT Alliance Program (AIAP) ปัจจุบันมีความร่วมมือของสมาชิก 70 ราย จากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IOT ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้, สินค้า, บริการ และโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา IOT solution และรูปแบบธุรกิจร่วมกัน

2.VDO platform “Play 365” ที่เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในทุกวงการนำเสนอผลงาน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยโครงสร้างรายได้และโมเดลที่เหมาะสม สอดคล้องกับตัวเลขผู้ชมที่แท้จริง และ 3.VR content platform เปิดโอกาสให้นักพัฒนา VR content เรียนรู้จากผู้ผลิต VR ระดับโลก IMAX และมีโครงการ VR content creator program เป็นเวทีการสร้างคอนเทนต์ด้วยเทคโนโลยี VR

ชูจุดแข็งเน็ตเวิร์กหนุน IOT

สำหรับการลงทุนด้านเครือข่ายปีนี้ได้เตรียมงบฯลงทุนไว้ 35,000-38,000 ล้านบาท พัฒนาเครือข่ายสู่ nextgeneration รองรับความเร็วถึง 1 Gbps และขยายเครือข่าย NB-IOT และ eMTC (enhance machine type communication) รองรับเทคโนโลยี IOT และเอไอเอสไฟเบอร์ รวมถึงนำคอนเทนต์ระดับโลก เช่น การ์ตูนเน็ตเวิร์ก, ซีเอ็นเอ็น รวมถึงผู้ผลิตเนื้อหาไทย

“IOT ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตลึกเข้าไปในชีวิตและธุรกิจ ภายใน 3 ปีนี้จะเกิดขึ้นจริงจัง โดยเฉพาะสมาร์ทโฮม, สมาร์ทออฟฟิศ, สมาร์ทซิตี้ ในส่วนของผู้บริโภคถือว่าพร้อมแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังต้องการองค์กรประกอบเสริมอีกหลายอย่าง เพราะจะการสร้างสมาร์ทซิตี้ได้ต้องมีมากกว่าเครือข่าย”

ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ลงทุนสร้างเน็ตเวิร์กรองรับ IOT ในหลายจังหวัดแล้ว และเสริม eMTC เน็ตเวิร์กสำหรับ IOT ที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยใช้เงินไปแล้ว 200-300 ล้านบาท

“ไม่มีใครทำ IOT ได้คนเดียว การสร้างอีโคซิสเต็มจำเป็นต้องมีนักพัฒนา นักสร้างดีไวซ์มารองรับ นอกเหนือจากการมีเครือข่ายที่แข็งแรงแล้ว”

รับสมัคร 365 ครีเอเตอร์

ส่วน VDO platform “Play 365” ตั้งเป้ารับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ 365 คนจากทุกวงการ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม คาดว่าภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้เปิดตัวได้ 25 คน และทยอยเปิดตัวต่อเนื่อง

“365 มาจากจำนวนวันใน 1 ปี เราหวังแค่มีครีเอเตอร์ดี ๆ 365 คนก็พอ เพราะทุกอย่างอยู่ที่คอนเทนต์ที่จะดึงคนมาดูได้ การสวิตช์เปลี่ยนช่องของคนดูไม่ยาก แค่อยากดูไหม มีทั้งคนที่ชอบดูฟรี และคนที่ยอมจ่ายเพื่อประสบการณ์ใหม่ ๆไม่ได้แข่งกับยูทูบ เอไอเอสต้องการสร้างทางเลือกที่เป็นอีกโมเดลธุรกิจ ที่น่าจะสร้างให้เป็นของประเทศไทยได้ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ เห็นช่องว่างอยู่พอสมควรว่าการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศทำให้คนทำคอนเทนต์มีรายได้มากขึ้น”

ขณะที่ VR content platform เป็นโมเดลธุรกิจที่มาก่อนวันที่ตลาดพร้อม เป็นโอกาสให้นักสร้างสรรค์คนไทยมีโอกาสทดลองพัฒนาเนื้อหางาน และเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่าง IMAX ซึ่งเปิดให้บริการใน 7 ประเทศ

“เอไอเอสอยู่ตรงกลางเพื่อสร้างแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย จากดิจิทัลเซอร์วิสของเอไอเอส ที่ผสานความแข็งแรงของไวร์เลสอินฟราสตรักเจอร์ ฟิกซ์บรอดแบนด์ ดิจิทัลเซอร์วิส ไม่ใช่บริการแค่ 40 ล้านลูกค้าของเอไอเอส แต่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาใช้แพลตฟอร์มของเราส่งมอบสินค้าบริการจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัลได้ โลกนี้ไม่ใช่สลากกินรวบ เอไอเอสมีกำลังมากพอที่จะช่วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เรามั่นใจว่าอยากสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้า เราเหลือเวลาอีก 3 ปี ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจ จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้แน่นอน”


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมคิด เคลื่อนเศรษฐกิจทวีคูณ ชูนโยบาย เครื่องยนต์ 5 Digital

view