จากประชาชาติธุรกิจ
“คลัง” ซุ่มร่างกฎหมายจัดระเบียบ “ผู้ให้บริการทางการเงิน” นอกกำกับดูแลแบงก์ชาติ ตั้งหน่วยงานอิสระใหม่ต้อนธุรกิจ “ลีสซิ่ง-แฟกตอริ่ง-เช่าซื้อ-พิโกไฟแนนซ์-จำนำทะเบียนรถ” ทั่วประเทศขึ้นทะเบียน “อภิศักดิ์” ลุ้นโยก “สหกรณ์ออมทรัพย์” มาอยู่ใต้กำกับ หวังคลอดกฎหมายภายในปีนี้ ภาคธุรกิจขานรับยกระดับมาตรฐานให้บริการการเงิน
ตรวจสอบธุรกิจนอกกำกับ ธปท.
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดจะจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา เพื่อดูแลควบคุมผู้ให้บริการการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้กำกับดูแล โดยหน่วยงานดังกล่าวจะมาทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นหลัก ส่วนการกำกับดูแลจะเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง
“เพราะธุรกิจพวกนี้มีรายเล็กรายน้อยเยอะ ไม่เหมือนแบงก์ เมื่อตั้งขึ้นมาก็คงต้องขอคนจากแบงก์ชาติจำนวนหนึ่งมาช่วย ต้องเอาคนที่ชำนาญเรื่องการตรวจสอบ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการตรวจสอบสินเชื่อที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของทางแบงก์ชาติทั้งหมด” นายอภิศักดิ์กล่าว
สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าข่ายอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ส่วนหนึ่งที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (ปว.58) โดยจะครอบคลุมผู้ให้บริการลีสซิ่ง ไฮร์เพอร์เชส (เช่าซื้อ) และพิโกไฟแนนซ์ แต่ไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นบริษัทลูกของแบงก์ เพราะ ธปท.กำกับดูแลส่วนนั้นอยู่แล้ว
“หลักการก็คือ อะไรที่แบงก์ชาติคุมอยู่ เราก็ไม่เอามา ส่วนอะไรที่แบงก์ชาติไม่ได้คุม เราก็เอามา เช่น พิโกไฟแนนซ์ ลีสซิ่ง ไฮร์เพอร์เชส” นายอภิศักดิ์กล่าว
ลุ้นดึงสหกรณ์ออมทรัพย์มากำกับ
รมว.คลังกล่าวด้วยว่า หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาจะสามารถรองรับการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ในอนาคตได้ด้วย หากตกลงกันได้ว่า จะแยกสหกรณ์ออมทรัพย์ออกมาจากการกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่นี้กำกับดูแลแทน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน
“เราเสนอแนวทางคุมสหกรณ์ออมทรัพย์แบบนี้ แต่ตอนแรกกระทรวงเกษตรฯยังไม่เอา ก็ดูเองไป แต่เราก็กำหนดวิธีการดูแลให้ไปดำเนินการ ดังนั้นช่วงแรกสหกรณ์ออมทรัพย์จะยังไม่มา ต้องรอเขาตกลงกันได้ก่อน” รมว.กล่าว
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกกฎหมาย เพื่อมากำกับดูแลธุรกิจการเงินที่ยังไม่มีผู้ควบคุมดูแลในปัจจุบัน แนวคิดคือ อะไรที่จะเป็นภาระแบงก์ชาติ และยังไม่มีใครควบคุม แต่เบื้องต้นจะยังไม่รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์
ตั้งหน่วยงานอิสระใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การยกร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. … จะมีการตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้สินเชื่อรายย่อยที่ ธปท.ไม่ได้กำกับดูแลอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ลีสซิ่ง เช่าซื้อ (ไฮร์เพอร์เชส) พิโกไฟแนนซ์ แฟกตอริ่ง และจำนำทะเบียนรถเพื่อดูแลให้การให้บริการทางการเงินอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม (market conduct) แก่ประชาชน
“เนื่องจากปัจจุบันเรายังขาดองค์กรกำกับผู้ให้บริการทางการเงินหลายประเภท โดยเฉพาะที่เป็นสินเชื่อรายย่อยซึ่งแบงก์ชาติก็ไม่อยากทำ เพราะจะต้องดูเรื่อง market conduct และการดูแลผู้บริโภคด้วย แต่แบงก์ชาติจะเน้นบทบาทกำกับเสถียรภาพด้านการเงินมากกว่า ดังนั้นอันไหนที่ไม่มีเจ้าภาพ เราก็จะดึงมาให้หน่วยงานที่จะตั้งขึ้นดู” แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันผู้ให้บริการการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ ธปท.กำกับดูแล ได้แก่ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคล (พีโลน) รวมถึงนาโนไฟแนนซ์ แต่กรณีนาโนไฟแนนซ์ต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้กำกับดูแล
ขึ้นบัญชี “ลีสซิ่ง-จำนำทะเบียน”
แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทที่ทำธุรกิจ ลีสซิ่ง แฟกตอริ่ง เช่าซื้อ จำนำทะเบียน ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเดียวกัน โดยการทำธุรกิจจะอยู่ภายใต้ประกาศ ปว.58 ขณะที่การจัดตั้งไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพียงแค่ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่การควบคุมดูแลจะมีเพียงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบในกรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนเท่านั้น ซึ่งบทลงโทษต่าง ๆ ก็จะพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้นจึงยากที่จะระบุจำนวนของธุรกิจเหล่านี้ได้ หากไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยธุรกิจประเภทนี้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯมีอยู่ราว 20 บริษัท อาทิ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป, บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง, บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง,อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์), เอเชียเสริมกิจลิสซิ่ง, เมืองไทยลิสซิ่ง, ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ (1979) เป็นต้น และที่เป็นสมาชิกของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย มีอยู่ราว 30 บริษัท นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการรายย่อยตามท้องถิ่นอีกจำนวนมาก
“การที่ต้องมีองค์กรกำกับดูแลธุรกิจเหล่านี้ ก็เพราะว่าปัจจุบันไม่มีใครกำกับดูแล ทำให้แทบไม่มีข้อมูลของธุรกิจเหล่านี้เลย ดังนั้น หากมีกฎหมายตั้งองค์กรมากำกับดูแลแล้ว ก็จะต้องให้ธุรกิจเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดสถานะการเงินต่าง ๆ พร้อมกับการกำกับตรวจสอบเรื่องmarket conduct คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักซึ่งต่างจาก ธปท.ที่เน้นเรื่องเสถียรภาพ เรื่องความมั่นคงทางการเงิน”
รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะนัดผู้เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ เพื่อฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ก่อน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวทางที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่นี้
“ตอนนี้เพิ่งยกร่างกฎหมายเสร็จ ต้องนัดคุยกับ stakeholders ให้เขาเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการยกร่างกฎหมายขึ้นมาก่อน ว่ากระทรวงการคลังมีแนวคิดจะกำกับดูแลแบบนี้ ผู้ถูกกำกับดูแลจะคิดเห็นอย่างไร โดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมา ก็จะเป็นหน่วยงานกำกับ เหมือนเรกูเลเตอร์ทั่วไป อย่างไรก็ดี การกำกับดูแลจะมีขอบเขตขนาดไหน ต้องรอฟังนโยบายอีกที ซึ่งพยายามเร่งดำเนินการให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ภายในปี 2561 นี้”
สมัครพิโกไฟแนนซ์ 441 ราย
ในส่วนพิโกไฟแนนซ์ นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษก สศค. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จนถึงสิ้น ม.ค. 2561 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 441 รายใน 66 จังหวัด และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 279 ราย ในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 159 ราย ใน 49 จังหวัด โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี
เอกชนขานรับส่งผลดีต่อระบบ
นายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ลีส จำกัด (WL) ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ในกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเช่าซื้อที่ถูกกำกับหลายรูปแบบมาตรฐานต่างกันมาก เช่น บริษัทในเครือธนาคาร และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การตั้งสำรองจะค่อนข้างเข้มงวด ขณะที่บริษัทเช่าซื้อขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่ารวมมากกว่าพันรายซึ่งไม่มีผู้กำกับดูแล หรือการตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโร บริษัทเล็ก ๆ บางแห่งก็ทำ บางแห่งก็ไม่ทำ ก็ทำให้ลูกค้าไม่มีวินัยทางการเงินเท่าที่ควร
การที่กระทรวงการคลังจะยกร่างกฎหมายขึ้นมากำกับดูแล จะทำให้ธุรกิจเช่าซื้อมีมาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้นดังนั้นการมีหน่วยงานมากำกับดูแลน่าจะส่งผลดีต่อระบบ แต่ต้องดูว่าจะมีความเข้มงวดอย่างไร
ด้านนายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต และรองประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า การตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อเข้ามาช่วยกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการกำหนดผู้ให้บริการ รวมถึงแนวทางการให้บริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกค้ามากขึ้น
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน