จากประชาชาติธุรกิจ
สมรภูมิ “อีวอลเลต-ตู้เติมเงิน” เร่งพลิกเกมรักษาลูกค้า “แอร์เพย์” เพิ่มบริการใหม่-ขยายเครือข่ายร้านอาหารเติมแม่เหล็กดึงลูกค้า ผนึก “ช้อปปี้” ต่อยอดธุรกิจ “ดีปพ็อกเกต” ย้ำจุดแข็ง “เวอร์ชวลการ์ด” ตอบโจทย์ขาช็อป ขาใหญ่ “ตู้เติมเงิน-บุญเติม” เจาะลูกค้ารากหญ้า ขณะที่ “ซิงเกอร์” แนะธุรกิจเตรียมรับ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น”
นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา นายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดอีวอลเลตในไทยเติบโตขึ้นมาก จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปีที่ผ่านมา มี 42 ล้านบัญชี ขณะที่การแข่งขันปีนี้ดุเดือดขึ้นมาก ทั้งจากการแข่งกันของผู้เล่นในธุรกิจด้วยกัน และกับธนาคารที่หลายแห่งยกเลิกค่าธรรมเนียม ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของอีวอลเลต ทำให้ผู้ให้บริการอีวอลเลตต้องหาจุดขายให้ตนเอง
แนะ “อีวอลเลต” เร่งเติมจุดแข็ง
เช่น แอร์เพย์ของกลุ่มซี (การีน่า) มีจุดแข็งเรื่องการเติมเงินเกมหรือไลน์ที่มีฐานลูกค้า สำหรับ “ทรูมันนี่” มีจุดแข็งที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ โดยโฟกัสไปยังกลุ่มนักศึกษา และวัยทำงาน โดยบริการทรูมันนี่ใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และซื้อสินค้าในแอปสโตร์ได้โดยไม่ต้องผูกบัตรเครดิต
“ทรูมันนี่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเพราะมีรายได้จากร้านค้าแต่ธุรกิจเพย์เมนต์ไม่ได้ทำกำไรเยอะ เป็นการทำเพื่อนำไปต่อยอดบริการอื่นในอนาคต เชื่อว่าทั้งทรูมันนี่และรายอื่นต่างอยู่ในช่วงลงทุนขยายฐานลูกค้า ปัจจุบันทรูมันนี่มีผู้ใช้ 10 ล้านราย เป็นยอดแอ็กทีฟ 5 ล้านราย บริการยอดนิยมเป็นการโอนเงิน, จ่ายบิล และใช้จ่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น ตลาดอีวอลเลตในบ้านเราแข่งขันกันสูง จึงเริ่มเห็นผู้เล่นรวมตัวกัน เช่น เอ็มเปย์ร่วมกับแรบบิทไลน์เพย์”
“แอร์เพย์” เพิ่มแม่เหล็กดึงลูกค้า
ด้านนางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดอีวอลเลตแข่งขันดุเดือดอยู่แล้ว เมื่อมีแบงก์เข้ามาการแข่งขันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แต่มองว่าการยกเลิกค่าธรรมเนียมบริการหลายอย่างของธนาคารไม่กระทบกับตลาดโดยรวม และบริการ “แอร์เพย์” ของบริษัทเอง เพราะไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว และไม่ได้เน้นเรื่องรับชำระบิล แต่การที่ธนาคารพยายามเพิ่มบริการในโมบายแอปพลิเคชั่นให้มีความหลากหลายอาจตรงกับที่แอร์เพย์มี ดังนั้นแอร์เพย์จึงต้องรักษาฐานลูกค้า โดยปีนี้จะเน้นเพิ่มร้านอาหารให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มให้มากขึ้น รวมทั้งมองช่องทางการปล่อยเงินกู้ให้รายย่อย
“เราเชื่อว่าเราได้เปรียบผู้ให้บริการรายอื่น ๆ รวมถึงแบงก์ตรงที่เปิดให้บริการมาก่อน มีฐานลูกค้าจำนวนมากจึงเป็นความเคยชินของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีบริการอื่น ๆ ในเครือที่นำมาเสริมกันได้ เช่น ช้อปปี้ที่ทำอีคอมเมิร์ซผ่านมือถือก็จ่ายเงินผ่านแอร์เพย์ได้”
“ดีปพ็อกเกต” ชูเวอร์ชวลการ์ด
นายทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริหาร บริษัท ทีทูพี จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “ดีปพ็อกเกต” (deep pocket) กล่าวว่า ตลาดอีวอลเลตค่อนข้างแข่งขันสูง มีผู้ให้บริการ 16 ราย มีรายใหญ่ เช่น แอร์เพย์, แรบบิท ไลน์เพย์, ทรูมันนี่ และบลูเพย์ ล่าสุดยังมีแบงก์เข้ามาอีกทำให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่ส่งผลดีกับบริการของ “ดีปพ็อกเกต” เนื่องจากลูกค้าโอนเงินเข้าวอลเลตได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งดีปพ็อกเกตยังมีบริการเสริมอื่น ๆ ที่แบงก์ไม่มี จึงเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้ายังใช้บริการต่อ เช่น “เวอร์ชวลการ์ด” โดยกลุ่มที่ใช้ต้องการใช้จ่ายแต่ไม่อยากผูกกับบัญชีธนาคาร
“ตลาดในไทยยังใหญ่พอที่จะทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ เนื่องจากคนที่มีบัญชีธนาคารยังน้อย แต่จะอยู่รอดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกลยุทธ์แต่ละราย ดีปพ็อกเกตมีลูกค้า 1 ล้าน แอ็กทีฟ 30% รายได้มาจากทรานแซ็กชั่นฟีเวอร์ชวลการ์ด”
“บุญเติม” เจาะรากหญ้า
ด้านนายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน “บุญเติม” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจบุญเติมไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นลูกค้าคนละกลุ่ม โดยลูกค้าที่ใช้ตู้เติมเงินเป็นกลุ่มรากหญ้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร การที่แบงก์ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเป็นประโยชน์กับบุญเติม เนื่องจากต้องเก็บเงินเครดิตจากตู้ทุกวันผ่านการโอนเงินอยู่แล้ว จึงช่วยลดต้นทุนให้บริษัท คาดว่าจะเห็นผลในไตรมาส 2 ส่วนบริการ “บีวอลเลต (Be Wallet) ที่มีเพิ่งเริ่มต้น ปัจจุบันมีลูกค้า 20,000 ราย โดยวางเป็นส่วนเสริมธุรกิจตู้ขายน้ำฟอร์ท เวนดิ้ง ที่ให้จ่ายเงินผ่าน “คิวอาร์โค้ด” ได้ รวมถึงใช้ซื้อสินค้าในมาร์เก็ตเพลซที่กำลังจะทำ โดยดึงพ่อค้าแม่ค้าในต่างจังหวัดมาขายสินค้า
“บุญเติมเลือกเวทีในการทำวอลเลตชัดเจน เราเห็นพฤติกรรมผู้ใช้ในต่างจังหวัดที่ยังไม่กล้าเสี่ยงผูกบัญชีธนาคารกับแอปพลิเคชั่นเพย์เมนต์บีวอลเลตจึงเป็นตัวช่วยในการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเติมเงินผ่านตู้บุญเติมได้ ไม่จำเป็นต้องผูกบัญชี”
ผลพวง “ดิจิทัลดิสรัปต์”
ขณะที่นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจที่พึ่งพารายได้หลักจากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบจากกรณีแบงก์ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม รวมถึงธุรกิจตู้เติมเงินในเขตเมือง เพราะเข้าถึงธนาคารได้ง่าย ซึ่งซิงเกอร์คงได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากตลาดหลักอยู่นอกเมือง เป็นกลุ่มรากหญ้าหาเช้ากินค่ำที่เน้นใช้เงินสด และไม่มีบัญชีธนาคาร ทั้งรายได้ของธุรกิจตู้เติมเงินของบริษัทยังมาจาก “กำไร” จากการขาย “ตู้” ส่วนค่าธรรมเนียมการเติมเงินไม่ใช่รายได้หลัก โดยพฤติกรรมของลูกค้าซิงเกอร์จะเติมเงินครั้งละ 20 บาท แต่เติมทุกวัน มียอดทรานแซ็กชั่นเดือนละ 100 ล้านบาท
“กลุ่มลูกค้าเราไม่มีบัญชี ซึ่งต้องจับตาดู สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากดิจิทัลดิสรัปชั่น เมื่อเทคโนโลยีมาทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ดังนั้นต้องระวังตัวมากขึ้น”
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน