สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตสิ่งแวดล้อม จากอีสเทิร์นซีบอร์ดสู่ EEC

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการทุ่มงบประมาณกว่าล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 

ดูเหมือนว่าวันนี้ทุกอย่างสามารถจุดพลุเดินหน้าไปได้อย่างที่รัฐบาลต้องการ อนาคตของ EEC ที่รัฐบาลวางไว้ค่อนข้างสวยหรูดูดี โดยเฉพาะการนำพาให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ด้วยความพยายามที่จะดึงบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ทำให้ EEC กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไฮเทคโนโลยีสุด ๆ ที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกิดขึ้นใน EEC จะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

แต่เมื่อหันหลังกลับมาพิจารณาข้อมูลจาก “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ในนำเสนอรายงานร่างแผนสิ่งแวดล้อมพื้นที่ EEC พ.ศ. 2561-2564 ที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ลงนามคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทำในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ค่อนข้างน่าตกใจทีเดียว โดยเฉพาะในการจัดทำร่างแผนสิ่งแวดล้อม

ปี 2561-2564 นายสมศักดิ์ บุญดาว ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าว่า ได้คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจากฐานข้อมูลปี พ.ศ. 2559-2580 พบว่าปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคตะวันออกสะสมมาตั้งแต่การพัฒนา

“อีสเทิร์นซีบอร์ด” เมื่อเกือบ 30 ปี ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ !

แม้วันนี้นโยบาย EEC จะเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

แต่ข้อเท็จจริงการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมจะทำให้เมืองเกิดการเจริญเติบโต ซึ่งจะชักนำประชากร แรงงาน จำนวนมากเข้ามาทำงาน รวมทั้ง “อุตสาหกรรมต่อเนื่อง” ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา คาดการณ์ว่า ประชากรจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 18 ล้านคน ในปี 2580 เมื่อคนมากขึ้น สิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะจะเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงมาก

วันนี้ทรัพยากรน้ำผิวดินอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และเสื่อมโทรม ถึงเสื่อมโทรมมาก ขณะที่ทรัพยากรน้ำบาดาล พบมีค่า “คลอไรด์” สูงจากการรุกล้ำของน้ำทะเล มีการปนเปื้อนของโลหะต่าง ๆ น้ำบาดาลไม่ดี มีการปนเปื้อนเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ส่วนทรัพยากรน้ำชายฝั่ง พบมีน้ำคุณภาพดีเพียงร้อยละ 47 มีน้ำที่เสื่อมโทรมร้อยละ 13 เสื่อมโทรมมากร้อยละ 2 ต้องหาทางแก้ไขทันที ด้านคุณภาพน้ำทะเล พบน้ำมันรั่วไหล โดยเฉพาะบริเวณแหลมฉบัง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นเขตที่มีความเสี่ยงสูง

การจัดการน้ำเสียชุมชนบำบัดได้เพียง 45.13% ขณะที่ปริมาณน้ำเสียที่ไม่เข้าระบบบำบัดถึง 54.87% หาก 20 ปีข้างหน้ายังไม่แก้ปัญหาจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว

สถานการณ์ภาพรวมขยะมูลฝอยในพื้นที่ 3 จังหวัด ปี 2559 อยู่ที่ 4.38 ล้านตัน หากมี EEC ถึงปี 2580 จะมีปริมาณขยะเพิ่มเป็น 9.75 ล้านตัน

แต่วันนี้ จ.ฉะเชิงเทรายังมีการกำจัดขยะไม่ถูกต้องร้อยละ 70.16 จ.ชลบุรี มีการกำจัดขยะไม่ถูกต้องร้อยละ 46.53 และ จ.ระยอง มีการกำจัดขยะไม่ถูกต้องร้อยละ 31.81 ด้านขยะติดเชื้อยังไม่มีระบบบริหารจัดการขยะที่ชัดเจน โดยขยะติดเชื้อปี 2559 มี 3,914 ตัน และ 2560 เพิ่มขึ้น 4,966 ตัน

ส่วนคุณภาพอากาศทั่วไป พบว่าก๊าซโอโซนยังสูง แต่ค่าฝุ่นขนาด PM10 มีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐาน

สำหรับกากอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดมีปริมาณ 5.07 ล้านตันต่อปี เข้าโรงงานกำจัดแจ้งรับ 2.47 ล้านตันต่อปี เท่ากับมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดถึง 55.26% มีกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการกำจัดเพียง 44.74% ปัจจุบันมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

แต่สิ่งที่ได้ยินมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC หลายครั้ง ล้วนให้ความสำคัญเรื่องร่างแผนอุตสาหกรรม ร่างแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว

แต่ร่างแผนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญน้อยที่สุด ดังนั้นการหวังจะให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย

ประเทศนี้คงเดินต่อไปไม่ได้


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : #วิกฤตสิ่งแวดล้อม #อีสเทิร์นซีบอร์ดสู่ EEC

view