จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน
โดย ภาคภูมิ ศิริหงษ์ทอง
วอร์เรน บัฟเฟต์ เคยกล่าวไว้ว่า “ความเฉลียวฉลาดมาก ๆ ไม่ได้ช่วยให้เราลงทุนประสบความสำเร็จมากขึ้น สิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าคือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง” คนส่วนมากไม่รู้เลยว่าการควบคุมจิตใจมีผลต่อความสำเร็จในการลงทุนมากกว่าที่คิด เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าตัดสินใจโดยใช้เหตุผลไตร่ตรองอย่างรอบคอบ แต่ที่จริงแล้ว อารมณ์และอคติทางความคิดต่างหากที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา
ตลาดหุ้นมีความผันผวนของราคาที่สูง แถมยังมีกลไกที่ช่วยให้เราสามารถซื้อขายหุ้นได้สะดวก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตกหลุมพรางทางความคิดได้ง่ายขึ้น
ชาร์ลี มังเจอร์ คู่หูของบัฟเฟต์ เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่มหา’ลัยฮาร์วาร์ดในเรื่อง “จิตวิทยาของการตัดสินใจด้วยอคติของมนุษย์” (Psychology of Human Misjudgement) มังเจอร์ได้พูดถึงอคติทางความคิดของคนเราได้อย่างน่าสนใจ ผมขอยกตัวอย่างอคติบางข้อมาเล่าให้ฟัง
“อคติจากการย้ำคิดย้ำทำ” เป็นธรรมดาที่เวลาเราซื้อหุ้นแล้วก็อยากจะเชียร์ให้เพื่อนซื้อตาม แต่ยิ่งเราพยายามพูดจูงใจคนอื่นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของตัวเราเองมากเท่านั้น ทำให้เป็นการยากที่จะเปลี่ยนความคิด เราจะไม่เปิดรับข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับสมมุติฐานของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเมฆหมอกที่คอยรบกวนการตัดสินใจของเรา
“อคติจากการทำตามคนหมู่มาก” คนเราชอบทำอะไรเป็นหมู่คณะ การทำตาม ๆ กันทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ฮอร์โมน oxytocin จะหลั่งออกมาทำให้เรารู้สึกมีความสุข แต่ในโลกของการลงทุน การที่ฝูงชนไล่ซื้อหุ้นซักตัวหนึ่ง แปลว่าราคาและข่าวดีของหุ้นตัวนั้นได้รับการรับรู้ไปหมดแล้ว ทำให้หุ้นมีราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ความเสี่ยงก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
“อคติจากการได้รับอิทธิพลจากผู้เชี่ยวชาญ” เรามักจะรู้สึกว่าถ้าเราซื้อหุ้นตามเซียน นักวิเคราะห์ กองทุน หรือคนที่พอร์ตใหญ่กว่า และประสบความสำเร็จมากกว่าเรา จะทำให้เรามีโอกาสที่ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เรามักได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคนเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว เราอาจหลงคิดไปว่าเราเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ อคตินี้ถือว่าอันตรายมาก โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ เราอาจจะรู้ว่า “เซียน” ซื้อหุ้นตัวไหน แต่เราไม่มีทางรู้ว่าเขาซื้อเพราะอะไร
“อคติจากความอิจฉา” การลงทุนเป็นสิ่งที่วัดผลได้ชัดเจน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันได้ง่าย เราได้ผลตอบแทน 20% ต่อปี แต่เพื่อนที่ดูเหมือนไม่ได้ทุ่มเทให้กับการลงทุนมากนัก กลับได้ผลตอบแทน 40% ต่อปี แค่นี้ก็ทำให้เราทุกข์ใจได้ไม่ยาก แถมอาจจะยังกดดันให้เราเลือกซื้อหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงหรือหุ้นที่เราอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ผลตอบแทนสูง ๆ
อคติเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่หยิบยกมา ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อันตราย โดยเฉพาะถ้ามันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่มันก็พอจะมีแนวทางแก้ไข พื้นฐานที่สำคัญคือเราต้องมีทัศนคติและแนวคิดที่ถูกต้อง เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แนะนำให้นักลงทุนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการลงทุน แทนที่จะบอกกับตัวเองว่า “เราตัดสินใจถูกต้อง” ให้เปลี่ยนเป็น “เรารู้ได้อย่างไรว่าเราตัดสินใจถูกต้อง ?” การถามตัวเองแบบนี้จะทำให้เราเปิดรับข้อมูลที่ขัดแย้งกันได้เต็มที่มากขึ้น ทำให้เราไตร่ตรองและพิจารณาสมมุติฐานในการลงทุนของเราให้ถี่ถ้วนมากขึ้น และแน่นอนว่าทำให้ตัดสินใจได้มีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากอคติจะทำให้เราลงทุนผิดพลาดแล้ว ก็อาจจะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย ขายหมู ตกรถ ติดดอย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่เก่งแค่ไหนก็ต้องเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ถ้าเรา “วางใจ” ของเราไม่เป็นก็จะมีเรื่องต้องกังวลอยู่ตลอดเวลา ซื้อแล้วก็ลง ขายแล้วก็ดันขึ้น พอเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อย ๆ ก็ทำให้จิตใจย่ำแย่ เครียด เสียทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพ
วิธีที่ง่ายแต่ได้ผลที่สุดก็คงเป็นการฝึกให้ “รู้ทัน” ความคิดของเรา เรย์ ดาลิโอ บอกว่า ถ้าเขาไม่ได้นั่งสมาธิเป็นประจำ เขาไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ถึงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่เขาทำได้ เรย์นั่งสมาธิวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที มาตั้งแต่ปี 1969 เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่เรย์ฝึกจิตใจให้ “รู้ทัน” ความคิดและอารมณ์ ทำให้เขาสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง จนสามารถสร้างตำนานในโลกการลงทุนได้อย่างทุกวันนี้
การนั่งสมาธิและการฝึกฝนจิตใจเป็นประจำสามารถช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีสติ รู้ตัว รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้การันตีความสำเร็จในการลงทุน แต่อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะทำให้เรามีชีวิตการลงทุนที่มีความสุขมากขึ้นได้อย่างแน่นอน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน