จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
สี่สิบกว่าปีก่อนสมัยตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ติดต่อขอใช้บริการหน่วยงานราชการด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกที่เทศบาลเมืองในต่างจังหวัด พกความสงสัยตงิด ๆ ติดตัวกลับบ้าน กว่าจะถึงบางอ้อว่าระเบียบกฎหมายไทยที่มีเยอะ แถมยุ่งยากหยุมหยิม ใช้บังคับกับชาวบ้าน รวมทั้งตัวข้าราชการเอง ทำให้ข้าราชการในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังตัวแจ เพราะเผลอหรือพลั้งพลาดมีโอกาสถูกลงโทษ เดือดร้อนถ้วนหน้าทั้งครอบครัวลูกเมีย
ไม่เว้นแม้แต่งานบริการประชาชน ซึ่งไล่เรียงดูแล้วนับไม่หวาดไหว ไม่ว่าจะเป็นการรับแจ้ง จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาต ขออนุมัติ การให้ประทานบัตร อาชญาบัตร ขอใบรับรอง ขอถ่ายสำเนาเอกสาร ฯลฯ ทำให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ จำต้องท่องคาถาปลอดภัยไว้ก่อน เพื่อความชัวร์ จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
“สำเนาถูกต้อง” กับ “ขอรับรองว่าเป็นความจริง” พร้อมลงชื่อ ลายเซ็น ที่เราเห็นกันคุ้นชินตาตั้งแต่เล็กยันโต
จนแก่เฒ่า จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา ในการติดต่อขอใช้บริการจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
นี่แหละคือเกราะป้องกันภัย หรือภูมิคุ้มกันภัยอย่างหนึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เท่าที่เห็นและเป็นมาดูเหมือนชาวบ้านยอมรับโดยดุษณีและไม่มีใครปฏิเสธ
เพราะต้องยอมรับว่าประชากรทั้งประเทศตั้ง 65 ล้านคน แม้คนไม่ดีจะมีน้อย แต่อาจสร้างปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่ได้ ทำให้หน่วยงานรัฐต้องสกรีนล่วงหน้า ออกระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมป้องกัน ทั้งตรวจเข้ม ทั้งขอสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ
บางครั้งไม่ใช่แค่ชุดสองชุด แต่ต้องใช้หลายชุด ทำให้การถ่ายสำเนาเอกสารเหล่านี้เก็บไว้ เผื่อเหลือเผื่อขาดเป็นเรื่องที่แต่ละคนไม่อาจละเลย คล้าย ๆ ยาสามัญประจำบ้าน จะได้ไม่ยุ่งยากตอนติดต่อส่วนราชการ
แต่จากนี้ไปไม่ต้องหาคำตอบแล้วว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านอย่างเรา ๆ ต้องเซ็นชื่อกำกับสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบขับขี่ โฉนดที่ดิน ฯลฯ พร้อมระบุข้อความ “สำเนาถูกต้อง” ทั้ง ๆ ที่เอกสารทั้งหลายแหล่นี้ ออกให้โดยส่วนราชการด้วยกัน แม้จะต่างกรม ต่างกระทรวง
เพราะหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 15 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชน และการบริหารภาครัฐตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ สำเนาเอกสารอาจไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว
แนวทางดำเนินการตามมติ ครม. คือให้ส่วนราชการจัดทำฐานข้อมูลเอกสารที่ให้บริการประชาชนในความรับผิดชอบ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นดัชนีในการจัดเก็บข้อมูล จากนั้นให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน ปรับปรุงระบบการบริการเพื่อรับรองการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือ smart card และเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการกับระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เพื่อเรียกใช้ข้อมูลในการให้บริการประชาชน ทดแทนการใช้สำเนาเอกสาร
สรุปคือจากนี้ไปการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีความจำเป็นอีก
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น ก่อนหน้านี้ได้จัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ “ติดต่อราชการใช้บัตรใบเดียว” เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน ลดการใช้สำเนาเอกสารรในการขอรับบริการนำร่องไปแล้ว
ขณะที่ส่วนราชการอื่นที่ปัจจุบันเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกรมการปกครองมี 38 หน่วยงาน
อาทิ กรมการกงสุล การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง บมจ.ไปรษณีย์ไทย บมจ.ทีโอที กรมการขนส่งทางบก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมที่ดิน หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กรมศุลกากร สรรพากร กรมการจัดหางาน กรมบัญชีกลาง ธนาคารออมสิน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมทางหลวงชนบท สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ
วันนี้บัตรประชาชน เลข 13 หลัก จึงกลายเป็นบัตรสารพัดประโยชน์ คุ้มค่าลงทุน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน