จากประชาชาติธุรกิจ
บทบรรณาธิการ
ข้อเสนอคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปจากกำหนดเดิมจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็น 1 มกราคม 2565 หรือเลื่อนออกไป 3 ปีนั้น แม้จะกังวลเรื่องเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ
ทั้งธนาคารพาณิชย์และธุรกิจเช่าซื้อ ประกันภัย ซึ่งจะส่งผลทำให้สถาบันการเงินต้องจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้น กระทบต่อภาระการตั้งสำรองหนี้ที่สูงมากขึ้น
แต่ประเด็นสำคัญคือผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่ที่สถาบันการเงินเท่านั้น เพราะเมื่อมาตรฐานการจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดขึ้น ก็หมายถึงการคุมเข้มความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย จึงกระทบต่อเนื่องไปถึงลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงอาจต้องแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น
มาตรฐานสากลถือเป็นสิ่งดีเพื่อสร้างเกราะความแข็งแรงให้สถาบันการเงิน หากแต่มาตรฐานสากลส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ และเข้ามาซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ที่ยังอ่อนแอ ก็ควรต้องตั้งหลักศึกษาผลกระทบให้รอบคอบและรอบด้านก่อนนำมาใช้ ควบคู่กับหาวิธีลดผลกระทบดังกล่าว เพราะเวลานี้ธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ จากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าเรื่องต้นทุนค่าแรง การต้องปรับตัวรับการแข่งขันกับธุรกิจยักษ์ใหญ่
สอดคล้องกับที่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่า หากการนำมาตรฐานบัญชีใหม่มาใช้แล้วมีปัญหา ก็ควรศึกษาวิเคราะห์ให้รอบคอบว่าจะกระทบกับใครบ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องมององค์รวมของประเทศ และต้องหาวิธีบรรเทาผลกระทบ เพราะมาตรฐานบัญชี IFRS9 เป็นการวางกรอบกว้าง ๆ ที่ให้สำรองความเสี่ยง โดยไม่จำเป็นต้องเอากระบวนการของต่างประเทศมาใช้ทั้งหมด
เพราะประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก อย่างสถาบันการเงินไทยมีสัดส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีราว 30% แต่ต่างประเทศมีไม่ถึง 10% ดังนั้นหากเดินตามกฎเกณฑ์ของต่างประเทศแม้ในแง่ตัวสถาบันการเงินอาจไม่ได้มีปัญหา เพราะสามารถตั้งสำรองเพิ่มได้อยู่แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือผลกระทบต่อเอสเอ็มอี
ถอดรหัสมุมมองประเด็นการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ของ รมว.คลัง น่าจะได้ข้อสรุปเป็นทางออกชัดเจนว่า ด้วยพื้นฐานระบบเศรษฐกิจไทยที่ไม่เหมือนต่างประเทศ การเดินตามมาตรฐานสากลก็สามารถปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ เพื่อให้เป็นไปตามจังหวะก้าวของเราเอง ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเพราะอาจสะดุดล้ม
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน