สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำความเข้าใจ ความเหลื่อมล้ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

“ความเหลื่อมล้ำ” (inequality) หมายถึงความไม่เท่าเทียมกัน, ซึ่งเนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันปรากฏในทุก ๆ เรื่อง, ในทุก ๆ พื้นที่, ในทุก ๆ ภาคส่วน และในทุก ๆ กาลเวลา ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะขจัดให้หมดสิ้นไปได้

แต่สิ่งที่พึงจะพอกระทำได้ ก็คือการลดความเข้มข้นของความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงตามสมควร หากก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป ก็ควรที่จะต้องแยกแยะความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนเสียก่อน

“ความเหลื่อมล้ำ” ในภาพรวม ๆ มีทั้ง “ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง” (political inequality) “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” (economic inequality) และ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” (social inequality)

ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะเป็นผลเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง

“ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง” หมายถึงสถานภาพที่ในทางการเมือง การปกครอง มีทั้ง “ผู้มีอำนาจในการปกครอง” และ “ผู้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง”

โดยหลักการสถานภาพความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้จะหมดไป หากประเทศอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งราษฎรปกครองตนเอง และมีรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

อีกทั้งบัญญัติให้ราษฎรมีความเสมอภาค, สิทธิและเสรีภาพอย่างบริบูรณ์ ซึ่งหมายถึงราษฎรหรือปวงชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

นอกจากจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่ครบถ้วนในคุณลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยแล้ว, ก็จะต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปบ่อย ๆ เช่น ทุก ๆ สองปี

เพื่อรักษาจิตสำนึกในการปกครองตนเองของราษฎร และในการป้องปรามมิให้บุคคลผู้ใดหรือกลุ่มใดยึดอำนาจรัฐและผูกขาดการปกครอง ไม่ว่าจะอ้างว่าเพื่อวัตถุประสงค์สิ่งใดก็ตาม

“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” (economic inequality) ปรากฏความไม่เท่าเทียมกันใน 3 ด้านคือ

1) ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และทรัพย์สิน

2) ความไม่เท่าเทียมกันในการบริโภค

และ 3) ความไม่เท่าเทียมกันในการตัดสินใจทำการผลิตและการแบ่งสรรมูลค่าเพิ่มอันเกิดจากการผลิต

“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ดังกล่าวนี้เป็นปรากฏการณ์ในเศรษฐกิจระบบทุนนิยมหรือแบบตลาดเสรี ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับกันว่า สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งคุณภาพชีวิตของราษฎร

การขจัด “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไม่สามารถกระทำได้, หากสามารถลดความเข้มข้นลงได้บ้างจากนโยบายและมาตรการทางภาษีอากรที่มีอัตราก้าวหน้า ในขณะที่รัฐกำหนดขอบเขตการทำงานของกลไกการตลาดที่ชัดเจนและเหมาะสม

สำหรับ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” (social inequality) นั้นเกิดจาก “ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง” และ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” อย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งจะลดความเข้มข้นลงได้ก็ต่อเมื่อสามารถลดความเข้มข้นของ “ความเหลื่อมล้ำ” ในทั้งสองทาง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกอย่างน้อย 3 มาตรการที่จะช่วยลดความเข้มข้นของ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ได้มาก

มาตรการแรกก็คือ “การศึกษา” (education) คือการทำให้สังคมเป็นสังคมของ “ผู้มีการศึกษา”(educated society) ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ

“สังคมของผู้มีการศึกษา” มิได้หมายความเพียงเป็นสังคมที่สมาชิกมีความรู้ในวิชาการต่าง ๆ เท่านั้น หากจะต้องมีความเป็น “ผู้ดี” อย่างครบถ้วน

กล่าวคือ มีวิชาความรู้และความรอบรู้, มีธรรมะ, มีหลักคิดที่ถูกต้อง และความมั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง, มีวัฒนธรรมและการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม, อีกทั้งไม่บกพร่องในจิตสำนึกที่เป็นสากลต่าง ๆ

มาตรการต่อมาก็คือ “สวัสดิการสังคม” (social welfare) หรือ “การประกันสังคม” (social security) ในเรื่องของสุขภาพ, การศึกษา, ค่าจ้างขั้นต่ำ, ชราภาพและทุพพลภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่รองรับความเสียเปรียบต่าง ๆ จาก “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ”

แต่มาตรการที่สามารถลดความเข้มข้นของ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ การปลูกฝัง”จิตสำนึกในการพึ่งพาตนเอง” (a sense of self-reliance)

นอกเหนือจาก “ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง” และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว ความบกพร่องอย่างเอกอุใน “จิตสำนึกในการพึ่งตนเอง” คือปัจจัยที่เพิ่มความเข้มข้นให้แก่ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ทั้งภายในสังคมไทยเอง และความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมไทย กับสังคมของชาติที่เจริญแล้ว

แต่ทั้ง ๆ ที่ “จิตสำนึก” และ “ขีดความสามารถ” ในการพึ่งตนเอง คือ ปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันและขจัด “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” หากถูกมองข้ามไปในการพิจารณาหาทางปฏิรูปประเทศไทย เกือบจะโดยสิ้นเชิง


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำความเข้าใจ ความเหลื่อมล้ำ

view