จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์
หลายวันก่อนมีโอกาสพูดคุยกับผู้คนในแวดวงธุรกิจที่ปรึกษา หลายคนพูดไปในทำนองเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลดิสรัปชั่นครั้งนี้ ไม่เพียงทำให้ผู้บริหารธุรกิจงงงวย
ฝ่ายนโยบายและแผนก็งงงวยเช่นกัน เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี
ครั้นจะให้ฝ่ายเอชอาร์เป็นผู้ดำเนินการ เขาเองก็ยังงงงวยอีกเช่นกัน เพราะเดิมเขารับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ทั้งหมด
ใครจะเข้า จะออก จะเติบโตอย่างไร เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายเขา
แต่เมื่อมีกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นเข้ามา เขาเองไปไม่เป็น เพราะพนักงานเก่าที่มีก็ไม่รู้จะเอาไปกองไว้ตรงไหนส่วนพนักงานใหม่ที่รับเข้ามา ก็ไม่รู้ว่าแคเรียร์พาทเขาจะไปอย่างไร
ที่สุดจึงต้องพึ่งที่ปรึกษา
อย่างที่ผมบอกที่ปรึกษาก็มีหลายเกรด เกรดหนึ่งอาจมาจากต่างประเทศเลยก็มี เกรดหนึ่งอาจเป็นลูกผสมพันธุ์ไทยบ้าง แต่อีกเกรดหนึ่งเป็นบริษัทไทยล้วน ๆ
ดังนั้น เมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามาเพื่อจะให้เป็นที่ปรึกษาในการบูรณาการเรื่องของดิสรัปชั่นให้กับองค์กร เขาเองก็ไปไม่ถูก เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน
จะผ่าตัดโครงสร้างองค์กรเลยดีไหม?…ก็ไม่กล้า
จะปรับขนาดองค์กรให้เล็กลงเลยดีไหม?…ก็แหยง ๆ
เพราะเกรงว่าจะทำให้พนักงานในองค์กรตกใจ ตื่นตูม และที่สุดอาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในได้ ที่สุดเขาจึงกินเงินเดือนที่ปรึกษาไปพลาง ๆ เพื่อรอดูว่าโอกาสไหน ? จังหวะไหน ? จะทำอะไรได้บ้าง ?
ผ่านไป 6 เดือนก็ยังไม่ทำอะไร
ผ่านไป 1 ปีก็ไม่มีความคืบหน้า
ที่สุดผู้บริหารองค์กรจึงเปลี่ยนทีมที่ปรึกษา ก่อนที่จะว่าจ้างทีมใหม่เข้ามา เพื่อหวังว่าทีมใหม่จะมาช่วยองค์กรตั้งรับกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นได้ แต่ก็ยังไม่ได้เสียที
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า? มีใครรู้จริง ๆ เกี่ยวกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นมากน้อยแค่ไหน ?
ผมไม่ทราบ
แต่เท่าที่อ่านจากหนังสือ ฟังจากคนในวงการ และแลกเปลี่ยนพูดคุยกับฝ่ายเอชอาร์ และพวกที่ทำอยู่ในธุรกิจที่ปรึกษาบ้าง หลายคนพูดตรงกันว่า?หากเราไม่เปลี่ยนแปลงในวันนี้ คุณจะถูกบังคับให้เปลี่ยน
จริง ๆ คำคำนี้ ผมได้ยินมาเนิ่นนานแล้ว นานกว่า 10 ปี
เพียงแต่การได้ยินครั้งนั้นอาจเกี่ยวข้องกับความเป็นปัจเจก หมายความว่าหากคุณทำอะไรแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และไม่เกิดการพัฒนาในอนาคต สักวันคุณจะถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นหมายถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของคุณ
คุณจึงต้องทำงานได้หลากหลาย
อาจจะเชี่ยวชาญเฉพาะทางสักหนึ่งอย่าง ส่วนที่เหลือคุณอาจเป็นเป็ด ซึ่งสามารถทำงานได้ทุกอย่าง แต่ไม่จำเป็นจะต้องรอบรู้เชี่ยวชาญไปเสียทั้งหมด
เพราะถ้าเพื่อนร่วมงานคุณเกิดความผิดพลาดประการใด คุณจะเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้
แต่ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญหลายอย่างยิ่งดี เพราะนอกจากคุณจะช่วยทีมของคุณได้แล้ว คุณอาจจะช่วยทีมอื่น ๆ ได้ด้วย
ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดีกับองค์กร
แต่ยังคงเป็นเรื่องของปัจเจก เพราะหากคุณไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง สักวันคุณอาจถูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับในเรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่นไม่ใช่
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจล้วน ๆ
ธุรกิจที่ย่ำอยู่กับที่ ธุรกิจที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนมนุษย์ได้ทุก ๆ กระบวนการของการเรียนรู้ ถามว่าอะไรบ้างนั้น ก็อย่างที่ทุกคนทราบกัน สื่อสารมวลชนอย่างหนึ่ง การเงินการธนาคารอย่างหนึ่ง ค้าปลีกอย่างหนึ่ง ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างหนึ่ง และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ในธุรกิจที่ถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นทั้งหมด ถามจริง ๆ เถอะว่า ผู้บริหารขององค์กรเหล่านั้นเกาถูกที่คันไหม แก้ปัญหาถูกจุดไหม
และเชื่อจริง ๆ หรือว่าสิ่งที่แก้ปัญหาอยู่ขณะนี้เป็นแนวทางที่ใช่ จริง ๆ หรือเปล่า
เพราะเท่าที่ผมพูดคุยกับผู้คนในธุรกิจที่ปรึกษา เขาเองก็ยังงง ๆ อยู่ว่าแนวทางในการแก้ปัญหาดิจิทัลดิสรัปชั่นนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
แก้แบบนี้แล้วจะใช่
แก้แบบนี้แล้วจะถูก
ต้องดูกันเป็นเคสบายเคส
ดูกันแบบชอตเทอม
จะแก้ทีเดียว แล้วให้ผลออกมาสัมฤทธิ์คงไม่ได้ ที่สำคัญ ความรู้ความเข้าใจในความหมายของดิจิทัลดิสรัปชั่นของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน
ดังนั้น เรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่นยังคงต้องงงงวยกันอย่างนี้ต่อไป
รอจนกว่าเราจะเห็นองค์กรสักตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ แล้วค่อยมาคลี่ไส้ในดูว่าเขาเริ่มต้นจากจุดไหนก่อน
เขาไปตรงจุดไหนต่อ
แล้วเขาแก้ปัญหาดิจิทัลดิสรัปชั่นประสบผลสำเร็จอย่างไร ?
ไม่นานหรอกครับ เราคงทราบกัน ?
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน