สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผาสุก ไข 3 ปริศนาความเหลื่อมล้ำ เก็บภาษีความมั่งคั่ง ปูทางรัฐสวัสดิการ

จากประชาชาติธุรกิจ

4 ปีแล้วที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน โดยยก “ต้นเหตุ” ของความเหลื่อมล้ำเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งทางการเมือง

“ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์-เชี่ยวชาญเศรษฐกิจและการเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่องการคอร์รัปชั่น-ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยมาอย่างยาวนานและเจ้าของรางวัลฟูกูโอกะ ประจำปี 2560 องค์ปาฐกถาพิเศษ “ดิเรก ชัยนาม” ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ปริศนาความเหลื่อมล้ำ”

“ศ.ดร.ผาสุก” เริ่มต้นกล่าวปาฐกถาแห่งปี-เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยกับต่างประเทศว่า ปรากฏขึ้น “หลายมิติ” ทั้งมิติวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา รายได้ ความมั่งคั่ง การเข้าถึงสวัสดิการสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ “แอบแฝง” ที่มองไม่เห็น แต่ความเหลื่อมล้ำแต่ละประเภทล้วนเกี่ยวโยงกัน

กว่า 30 ปี “ศ.ดร.ผาสุก” ได้ศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำในมุมของเศรษฐศาสตร์-การเมืองเพื่อตอบคำถาม “ปริศนาความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย ประกอบด้วย 3 ปริศนา

ปริศนาที่หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหรือไม่ ? เป็นปัญหาแน่นอน นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้เปลี่ยนแนวความคิดที่ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ประเด็นสำคัญ-ควรมีความเหลื่อมล้ำบ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานหนัก-ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและคนรวยมีเงินลงทุนมากและเห็นพ้องต้องกันว่า ความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอุปสรรค ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน

“จากความเชื่อที่ว่าความเหลื่อมล้ำ ทำให้เศรษฐกิจโตเร็ว ขณะนี้นักเศรษฐ-ศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันข้าม…ประเทศที่เหลื่อมล้ำสูง ยิ่งโตช้าลง เกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ เศรษฐกิจอยู่กับที่ หรือเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน”

ภายหลังก่อการรัฐประหาร-เถลิงเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อสาธารณชนใจความว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและเป็นความสำคัญระดับต้น ต้องมีนโยบายเพื่อแก้ไข

“แต่เมื่อความวุ่นวายจางหาย ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหลุดออกจากความสนใจ รัฐบาลและ คสช.ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้มีความคิดริเริ่มนโยบายใหม่ ๆ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม “ศ.ดร.ผาสุก” กล่าวว่า To be fair…ยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ 6 ด้านของรัฐบาล-คสช.ได้รวมยุทธศาสตร์ด้านความเสมอภาค-ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไว้ด้วยและดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2-3 เรื่อง ได้แก่

กฎหมายภาษีมรดก กว่าจะผ่านได้ถูกแก้ไขเอาใจผู้มีทรัพย์และเปิดช่องให้เลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และอาจจะป้องกันไม่ให้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

บัตรคนจน เป็นห่วงว่ากรอบความคิดและวิธีทำไม่ได้มาจากสิทธิของประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องตอบสนองเนื่องจากเงินที่ใช้เป็นภาษีที่ประชาชนจ่าย แต่ประหนึ่งเหมือนการกุศลทำอย่างเร่งด่วน ไม่ได้ประเมินว่าผู้ได้รับจะตรงเป้าหรือไม่

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ยังต้องพึ่งเงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค โดยรัฐบาลกำหนดว่า จะลงขันให้ปีละ 1,000 ล้านบาท เมื่อไม่ได้รับงบประมาณทั้งหมดอย่างชัดเจนเป็นประจำจนเป็นข้อกังขาว่า ทำได้ผลหรือไม่

“ศ.ดร.ผาสุก” กล่าวโดยสรุปว่า ขณะที่นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมีน้อยแต่นโยบายเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนกลับมีมาก

“ทีมเศรษฐกิจของ คสช.บอกชัดว่า ความเหลื่อมล้ำจะลดลงเอง เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็วจากผลของเศรษฐกิจไหลเวียนจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น EEC เป็นนัยว่า ไม่ต้องมีนโยบายหรือปฏิรูปอะไรพิเศษอีกก็ได้ ดังนั้นภายใต้แนวนโยบายการเมืองปัจจุบันไม่อาจคาดหวังว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ในประเทศไทย”

“ศ.ดร.ผาสุก” ตั้งโจทย์-ตอบคำถามว่า ขณะนี้การพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและทางออกเหมือนในช่วง 4 ปีที่แล้วหายไป แต่ความรู้สึกของสังคมที่รู้สึกว่าไม่แฟร์หายไปหรือไม่ ?

ปริศนาที่สอง ต้องใช้เงินแก้ปัญหาจำนวนมากหรือไม่ ? เป็นการตั้งคำถาม-วิธีคิดที่ผิด ต้องตั้งคำถามว่า ต้นทุนของการเป็นสังคมความเหลื่อมล้ำสูงเท่าใด ? ซึ่งปัจจุบันความเหลื่อมล้ำสูงเป็นต้นทุน (cost) ที่มองไม่เห็น

“ศ.ดร.ผาสุก” ยกผลการศึกษา-วิจัยพบว่า ต้นทุนของความเหลื่อมล้ำมี 3 เรื่องใหญ่ 1.เศรษฐกิจโตช้าลง 2.เกิดปัญหาสุขภาพ 3.เสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ ประจักษ์จาก 10 ปีของความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านร้อยละ 1-2 ต่อปี ถ้าไม่มีปัญหาดังกล่าวจีดีพีจะเพิ่มได้ร้อยละ 15

“ศ.ดร.ผาสุก” ชี้ทางออกจากกับดักความเหลื่อมล้ำ 2 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลควรทำอย่างจริงจัง เรื่องแรก การศึกษาทุกระดับ-ทุกพื้นที่ และคนรวย-จนต้องได้รับการศึกษาตามมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน และเรื่องที่สอง สวัสดิการสังคม-คงไว้ซึ่งนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ปริศนาที่สาม จะแก้ได้อย่างไร ? “ศ.ดร.ผาสุก” ฟันธงว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีสารพัดนโยบาย แต่มี 2 เรื่องที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ คือ การศึกษาและสวัสดิการสังคม

ในฐานะที่ “ศ.ดร.ผาสุก” คร่ำหวอดอยู่กับการศึกษา-วิจัยการออกแบบ “ระบบภาษี” เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จึงชี้แนวทางการ “เพิ่มรายได้รัฐ” จากการเก็บภาษีเพื่อเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณนโยบายรัฐสวัสดิการสังคม

“กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้เก่ง เก็บภาษีจากน้ำพักน้ำแรง แต่รายได้ประเภทกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เรียกรวมว่า รายได้จากการลงทุนหรือรายได้ที่ไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง กลับเก็บภาษีได้น้อยกว่ามากและมักเป็นคนรวยซึ่งมีความสามารถจ่ายภาษีได้สูง”

นอกจากนี้หากริเริ่มให้มีภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีของความมั่งคั่ง (รวมทั้งที่ดิน) ในอัตราที่ไม่สูงมาก จะสามารถเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีได้ร้อยละ 1 ของจีดีพี

“สถาบัน TDRI เคยคำนวณว่า ถ้าจะให้พลเมืองไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าขั้นพื้นฐาน จะต้องใช้เงินคิดเป็นร้อยละ 12.5 หรือใช้งบฯเพิ่มร้อยละ 2.5 แต่ปัจจุบันเพียงร้อยละ 10 ของจีดีพี โดยหาได้จากการปรับปรุงระบบภาษี ถ้าตั้งใจทำให้สำเร็จจะได้เพิ่มร้อยละ 5 ของจีดีพี”


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผาสุก ไขปริศนา ความเหลื่อมล้ำ ภาษีความมั่งคั่ง ปูทางรัฐสวัสดิการ

view