จากประชาชาติธุรกิจ
ธนาคารโลกร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดเผยรายงานเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งแห่งชาติสู่การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน” ระบุว่า ปัจจุบันประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง เริ่มหันมาจัดการด้านทุนธรรมชาติและทุนมนุษย์ โดยเฉพาะ “ทุนมนุษย์” ซึ่งต้องเร่งพัฒนาเพราะมีความท้าทาย การก้าวสู่สังคมสูงวัย จะทำให้แรงงานที่ขับเคลื่อนจีดีพีลดลง
“เควนติน วอลตัน” ผู้แทนจากธนาคารโลกระบุว่า ปัจจุบัน “จีดีพี” ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจในระยะยาวได้ รายงานธนาคารโลกจึงได้ดึง 4 ปัจจัยมาพิจารณา ได้แก่ ทุนด้านการผลิต ทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์และการลงทุนจากต่างประเทศ
รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ความมั่งคั่งจากทั่วโลก 141 ประเทศ ในช่วง 1995-2014 พบว่าในช่วง 20 ปีดังกล่าว แนวโน้มประเทศรายได้ปานกลาง ก้าวสู่การเป็นชาติรายได้สูง และจำนวนประเทศรายได้ปานกลางที่เพิ่มสุดโต่ง ส่วนมากอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ความมั่งคั่งโลกเพิ่มขึ้น 66% จาก 690 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งพบว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีรายได้สูงใน 20 ปีที่ผ่านมา สร้างความมั่งคั่งของประเทศโดยอาศัยทุนทรัพยากรมนุษย์มากกว่าทุนธรรมชาติ ขณะที่ชาติรายได้ต่ำยังคงสร้างความมั่งคั่งด้วยทุนทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก
กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในช่วง 20 ปี ที่สร้างความมั่งคั่งของประชากรต่อหัว โดยอาศัยทุนทรัพยากรมนุษย์มากถึง 60% ทุนการผลิต 28% ทุนธรรมชาติ 11% ทุนจากสินทรัพย์ต่างชาติเพียง 1%
วอลตันได้แนะนำวิธีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ว่า รัฐบาลต้องเน้นให้แน่ใจว่าเป็นการสร้างโอกาสที่จะกระจายไปสู่เด็กทุกคนในสังคม
“เริ่มต้นจากอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ มีการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยเน้นความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะแก้ไขปัญหา มีความคิดเป็นระบบ ซึ่งหากลงทุนอย่างเพียงพอจะทำให้ศักยภาพการพัฒนาของเด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดีกว่าไม่ได้รับการลงทุนมากถึง 25%”
ประเทศที่มีโอกาสในการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ และก้าวสู่ชาติที่ร่ำรวย คือประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ขยายตัวรวดเร็ว และเป็นวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากมีการลงทุนในทรัพยากรดังกล่าวอย่างเหมาะสม
โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะช่วยทำให้ประเทศยากจนก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้ ลดการพึ่งพิงทรัพยากรที่ไม่ได้สร้างเอง และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า หากประเทศใดต้องการเพิ่มรายได้ของชาติ ต้องเพิ่มความร่ำรวยของคนในประเทศก่อน
ด้าน “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล ผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ตอัพไทย กล่าวบนเวทีเสวนา “ความมั่งคั่งที่เปลี่ยนแปลง : ยุทธศาสตร์สำหรับเอเชีย-แปซิฟิกในยุคความยั่งยืน” ในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าการพัฒนา 2018 ระบุว่า “เทคโนโลยี” ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง ตัวอย่างคือสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จและสร้างตำแหน่งอาชีพให้เพิ่มมากขึ้นได้ เช่น สตาร์ตอัพรถรับ-ส่ง, มาร์เก็ตเพลซ ยังรวมไปถึงการปรับระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่เน้นให้เยาวชนมีการคิดวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล กล้าท้าทายกับความเชื่อเดิม ๆ
“อีก 10 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานเปลี่ยนไปแน่นอน การลงทุนทรัพยากรมนุษย์และการศึกษานั้นสำคัญ แต่เรื่องหนึ่งที่ยังกังวลคือการปฏิรูปการศึกษาในประเทศของเรา อาจจะเร็วไม่ทันความเป็นไปของโลก” กระทิงกล่าว
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการอังค์ถัด ย้ำถึงบทบาทเทคโนโลยีในเศรษฐกิจโลกอนาคตว่า “เทคโนโลยีจะเป็นเซ็นเตอร์พอยต์ของการพัฒนาในอนาคต” ที่จะสร้างความมีส่วนร่วม ตลอดจนเพิ่มกำลังการผลิต และการแข่งขันระหว่างประเทศ นำมาซึ่งรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีจะช่วยให้แต่ละประเทศหลุดพ้นจากกลไกการค้าที่บิดเบือน พร้อมโอบรับการแข่งขันทางการค้า นำไปสู่รูปแบบการค้าที่ดีขึ้น เช่น การค้าชายแดนที่ปลอดภาษีศุลกากร เป็นต้น
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน