สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ชาตรี โสภณพนิช 2477-2561

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ชาตรี โสภณพนิช มีประสบการณ์ระบบธนาคารไทยอย่างยาวนาน เชื่อมต่อระหว่างยุคธนาคารกรุงเทพ สะท้อนวิวัฒนาการธนาคารไทย ยุทธศาสตร์ธนาคารเฉพาะเจาะจงและว่าด้วยสายสัมพันธ์

เขาเรียนหนังสือไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับน้อง ๆ ด้วยประกาศนียบัตรทางบัญชีจากฮ่องกง กับโอกาสศึกษาและฝึกงานการธนาคารที่อังกฤษในช่วงสั้น ๆ เวลาที่เหลือสู่ภาคสนามตั้งแต่ปี 2502 ในช่วงธนาคารกรุงเทพพัฒนาสู่อันดับหนึ่งแล้ว บุคคลที่เขาใกล้ชิดเป็นพิเศษคนแรก ๆ คือ บุญชู โรจนเสถียร (2464-2550) นักบัญชีและเป็นผู้วางรากฐานควบคุมและตรวจสอบภายใน ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบธนาคารยุคนั้น มีความสำคัญเคียงคู่กับ ชิน โสภณพนิช (2453-2531)

ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารยุคแรกด้วยความสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพถือกันว่าเป็นธุรกิจในเครือข่ายกลุ่มผิน-เผ่าแห่งซอยราชครู เมื่อถูกโค่นอำนาจโดยกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส) ประภาส จารุเสถียร เข้ามาเป็นประธานธนาคารกรุงเทพ ชิน โสภณพนิช จำต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปีเต็ม (2501-2506) บุญชูคือผู้นำธนาคารกรุงเทพในช่วงเวลานั้น จะด้วยเหตุการณ์บีบบังคับ หรือความตั้งใจก็แล้วแต่ การจัดวางบทบาทระหว่างชินกับบุญชูดังกล่าวได้ก่อผลดีต่อธนาคาร

ในช่วงชินไม่อยู่เมืองไทย ทายาทของเขามีเพียง ชาตรี โสภณพนิช เท่านั้นที่ทำงาน เรียนรู้ และสืบเนื่องสายสัมพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย

นอกจากชาตรีได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับธุรกิจจากประสบการณ์กรณีบิดา ที่สำคัญเขาได้เรียนรู้ถึงสายสัมพันธ์การบริหารธนาคารด้วย เขาค้นพบว่าในเวลานั้นผู้ทรงอิทธิพลในธนาคารกลุ่มหนึ่งมีส่วนสร้างธนาคารในยุคต้นรุ่นเดียวกับ ชิน โสภณพนิช นอกจาก บุญชู โรจนเสถียร แล้ว ยังมี ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, ประยูร วิญญรัตน์, ดำรงค์ กฤษณามระ เป็นต้น

ประสิทธิ์นักกฎหมายผู้มีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางในสังคมธุรกิจเชื้อสายจีน เป็นนักเจรจา ประนีประนอม ต่อมาเป็นนักการเมืองที่มีความยืดหยุ่นสูง ส่วนประยูรมีความรู้ด้านบัญชีในฐานะอาจารย์บัญชี ธรรมศาสตร์ยุคแรก ๆ และเคยเป็นผู้บริหารธนาคารชาติในยุคก่อตั้ง มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกสาขาอย่างจริงจัง

ส่วนดำรงค์ถือเป็นลูกหม้อคนแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2496 ในฐานะนักบัญชีเช่นเดียวกัน ทำงานด้วยความอุตสาหะ ไต่เต้าเป็นตัวอย่างของพนักงาน มีบทบาทในการบริหารยาวนาน มีบทบาททัดเทียมกับชาตรี โสภณพนิช ในช่วงหนึ่ง

ชาตรี โสภณพนิช ใช้เวลาถึง 20 ปีเต็มกว่าจะก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังอาจไม่ถึงพร้อมด้วยบุคลิกและการยอมรับในวงกว้าง ในฐานะผู้บริหารธนาคารอันดับหนึ่ง การมาของ ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นโมเดลใหม่และถือเป็นบทเรียนสืบทอดในยุคต่อมา

ปี 2526 ดร.อำนวย วีรวรรณ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เป็นการเริ่มต้นยุคคนนอกในระบบธนาคาร
เขาเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เรื่องราวสายสัมพันธ์ในความหมายวงกว้างข้างต้น เป็นไปท่ามกลางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบธนาคารไทย โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ

เมื่อถึงเวลาทายาทที่ถูกวางตัว ชาติศิริ โสภณพนิช บุตรชายคนโตของชาตรี มีเส้นทางที่แน่ชัด เขามีโปรไฟล์ผ่านการศึกษาที่ดีมาก (ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีจาก Worchester Polytechnic Institute ปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ MBA จาก Sloan School of Management, MIT) แม้เส้นทางในการก้าวขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 8 ปีเท่านั้น (2529-2537) แต่ถือว่าอยู่ในโมเดลเฉพาะสืบทอดมา

ชาติศิริอยู่ท่ามกลางผู้มีบทบาทในธนาคารรุ่นราวคราวเดียวกับบิดา ทำงานธนาคารมานาน มีบารมี อาทิ ปิติ สิทธิอำนวย และ เดชา ตุลานันท์ เมื่อชาติศิริเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งสองขึ้นเป็นรองประธานกรรมการบริหาร โครงสร้างการบริหารธนาคารกรุงเทพ สะท้อนความเชื่อมั่นโครงสร้างและวัฒนธรรมที่สืบทอด ธนาคารกรุงเทพมีโครงสร้างการบริหารช่วงหนึ่ง (ราวปี 2527-2535) มีประธานกรรมการ (ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์) ประธานกรรมการบริหาร (อำนวย วีรวรรณ) กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ชาตรี โสภณพนิช)

และกรรมการผู้อำนวยการ (ดำรงค์ กฤษณามระ) ถือว่าเป็นช่วงสำคัญมาก หนึ่ง-ชิน โสภณพนิช ได้ลาออกจากประธานกรรมการ วางมือการบริหาร สอง-เป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวผ่านความยุ่งยากไป และความรุ่งโรจน์ช่วงหนึ่ง ที่สำคัญถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคชินสู่ชาตรีอย่างแท้จริง

ช่วงเวลาที่ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีการกล่าวถึงบุคคลสำคัญอย่างน้อย 2 คน โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (2486-2559) เริ่มต้นเป็นประธานคณะทำงานวางระบบของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในปี 2533 ด้วยประสบการณ์ในภาคราชการมาประมาณ 30 ปี เขาได้รับการยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการและเทคโนแครตด้วยประสบการณ์

ในหน่วยงานวางแผนของรัฐจากธนาคารโลกและงานพัฒนาชนบท โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เชื่อกันว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาค เข้าใจปัญหาระดับโครงสร้าง ต่อมาปี 2542

เขาก็มาเป็นประธานกรรมการบริหาร ดูเป็นไปตามโมเดลคล้ายยุคต้น ๆ ชาตรี โสภณพนิช ที่แตกต่างอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการปรับตัวครั้งใหญ่ของระบบธนาคาร ดูหนักหนากว่าช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันและลดค่าเงินบาทเมื่อเกือบ ๆ 2 ทศวรรษที่แล้ว

จากยุคนักบัญชียุคก่อตั้ง เพื่อฟื้นฟูและการพัฒนาระบบธนาคารไทยอย่างจริงจังครั้งแรก ๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มาสู่ยุคของการเสริมสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ สร้างภาพลักษณ์เปิดกว้างในช่วงการขยายอาณาจักรธนาคารอย่างกว้างขวาง ตลาดการเงินและทุนเปิดกว้างขึ้น แล้วก็มาสู่ยุคระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายในยุคธนาคารไทยเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น

สิงห์ ตังคสวัสดิ์ (เลยวัย 70 ปีแล้ว) เป็นอีกคน เข้ามาธนาคารกรุงเทพในปี 2548 ดูเหมือนเข้ามาเติมช่องว่าง และวัยระหว่างคนรุ่นบิดา-บุตร เขามีประสบการณ์ในแวดวงเศรษฐกิจการเงินการคลัง รับราชการในกระทรวงการคลัง มีบทบาทบริหารเงินกู้ต่างประเทศ จากนั้นเข้าร่วมงานกับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีในช่วงขยายกิจการครั้งใหญ่
(2523-2539) มีบทบาทด้านการเงินและการปรับโครงสร้างกิจการ ต่อจากนั้นมาเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงตกต่ำช่วงหนึ่ง (2539-2542) และต่อด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย (2542-2544)

และแล้วมาถึงคนล่าสุด ถือเป็นคนรุ่นเดียวกับ ชาติศิริ โสภณพนิช (วัยประมาณ 60 ปี) ด้วยวัยมากกว่าแค่ 2-3 ปี และเป็นจังหวะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าสนใจ จรัมพร โชติกเสถียร นักบริหารผู้มีโปรไฟล์ที่ดีมากอีกคนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์กับธนาคารไทยพาณิชย์มาประมาณ 2 ทศวรรษ ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งบริหารสำคัญ โดยเฉพาะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ (2553-2557) และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (2557-2560)

ก่อนจะเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพเพียงปีเศษ ๆ และต่อมาเป็นกรรมการบริหารธนาคารด้วย พัฒนาการธนาคารกรุงเทพสามารถก้าวผ่านยุคสมัยมาได้ย่อมเชื่อมโยงกับบทบาท ชาตรี โสภณพนิช มองผ่านโครงสร้างการบริหาร คงสืบทอดอย่างไม่ลดละด้วยปรากฏการณ์คนรุ่นเขาเป็นส่วนใหญ่

ท่ามกลางคนรุ่นหลังจำนวนน้อย ทั้งในคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการบริหาร จึงน่าสนใจและติดตาม เมื่อพ้นยุคชาตรี โสภณพนิช แล้วจะเป็นเช่นไร

จากประสบการณ์เชื่อมต่อระหว่างยุคธนาคารกรุงเทพ สู่สายสัมพันธ์อีกมิติหนึ่ง เชื่อมโยงกับภูมิภาค

โมเดลการบริการธนาคารกรุงเทพ มีความแตกต่างจากธนาคารอื่น ๆ อย่างมาก ด้วยมีโครงสร้างซ้อนกันระหว่างผู้บริหาร 2 รุ่น บ้างก็ว่าสะท้อนธุรกิจครอบครัวฝังราก อีกมุมหนึ่งสะท้อนบทบาทเชื่อมต่อระหว่างยุคอย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองผ่านความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่บทบาทธนาคารระดับภูมิภาคอย่างเต็มตัวในกรณีจีนแผ่นดินใหญ่และมาเลเซีย

ธนาคารกรุงเทพประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยในความพยายามสร้างเครือข่ายในภูมิภาค ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกราก ธนาคารในภูมิภาคเคลื่อนไหวอย่างคึกคักไปในทิศทางนั้น

ว่าไปแล้วเป็นความต่อเนื่องจากสายสัมพันธ์ ตั้งแต่ยุค ชิน โสภณพนิช ผู้บุกเบิกแผ้วถางไว้เมื่อกว่ากึ่งศตวรรษที่แล้ว ส่งผ่านมายังกระแสอันสอดคล้องยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ควรถือได้ว่าเป็นกระบวนการผ่านบุคคลซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่ออย่างน่าทึ่งนั่นคือ ชาตรี โสภณพนิช

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ ชิน โสภณพนิช ต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกง 5 ปี (2501-2506) ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว “นายชินใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติการงานด้านต่างประเทศ…ทุ่มเทความพยายามเต็มที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Robert Kwok แห่งมาเลเซีย Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง ขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ” เชื่อกันว่าสายสัมพันธ์มีความต่อเนื่องสู่รุ่นต่อมา (หนังสือ “ชิน โสภณพนิช (2453-2531)” จัดพิมพ์โดยธนาคารกรุงเทพ)

ยุคชิน-ชาตรี

สาขาแห่งแรกที่ฮ่องกงเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว (2497) ครั้นเมื่อชินปักหลักที่ฮ่องกง แผนการขยายเครือข่ายภูมิภาคจริงจังมากขึ้น มีอีก 2 สาขาในฮ่องกงช่วงต่อมา (ปี 2503 และ 2504) ที่น่าสนใจมีสาขากัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (2502) ด้วย

ในช่วง ชิน โสภณพนิช บริหารธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัวอีกครั้ง เป็นช่วงยาวทีเดียว (2505-2535) มุมมองขยายตัวในภูมิภาคลดความสำคัญลงเมื่อเทียบกับโอกาสเปิดกว้างในประเทศ มาเริ่มต้นอีกครั้งในช่วงหลังสงครามอินโดจีน

“แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” เมื่อเข้าช่วงคาบเกี่ยวยุค ชาตรี โสภณพนิช (กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2522-2535 และประธานกรรมการบริหาร 2535-2541)ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรก บุกเบิกเครือข่ายในจีนแผ่นดินใหญ่

เริ่มต้นเปิดสำนักงานตัวแทนธนาคารที่ปักกิ่งในปี 2529 และตามมาด้วยการเปิดสาขาแห่งแรกที่ซัวเถาในปี 2535 จากนั้นปีเดียว (2536) ตามมาด้วยสาขาเซี่ยงไฮ้

จากนั้นเป็นเวลาที่ดีมากขึ้น “ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นสาขาแรกเมื่อปี 2502 หรือกว่า 50 ปีแล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย จึงได้เปลี่ยนสถานะของสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นธนาคารท้องถิ่น จดทะเบียนในนาม Bangkok Bank Berhad เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์” (เอกสารประชาสัมพันธ์ธนาคารเคยระบุไว้ ถือเป็นธนาคารไทยธนาคารแรกที่ได้ใบอนุญาตก่อตั้งธนาคารท้องถิ่นในต่างประเทศ ในเวลานั้นไทยเองปิดตายสำหรับโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ยุคชาตรี-ชาติศิริ

ชาติศิริ โสภณพนิช ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ปี 2537 ส่วนชาตรีเป็นประธานกรรมการบริหารช่วงเดียวกับบุตร 5 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นประธานกรรมการ (ปี 2542) ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ระบบธนาคารเผชิญปัญหาหนักหน่วง ธนาคารกรุงเทพตามโครงสร้าง 2 รุ่น ไม่เพียงสามารถพยุงตัวอยู่รอด กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาธนาคารต่างชาติ โดยเฉพาะธนาคารในภูมิภาคขยายเครือข่ายกันคึกคัก เข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ในระบบธนาคารไทยด้วย

ดูแล้วเป็นทิศทางที่จำเป็นต้องเดินไป ขณะที่ธนาคารไทยกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหา ด้วยมุมมองค่อนข้างเฉื่อยเนือยกับบทบาทภูมิภาค

ธนาคารกรุงเทพมีโอกาสมากกว่าใคร จะด้วยรากฐานเดิมหรือแรงบันดาลใจก็แล้วแต่ ได้ก้าวนำหน้าธนาคารไทยไปพอสมควร

ปฏิบัติการมุ่งมั่นในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน ในปี 2541 สามารถมีสาขาที่เซียะเหมิน ตามมาด้วยเป้าใหญ่อีกขั้นในปี 2548 เปิดสาขาปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงนั้นดูมีแผนธุรกิจจริงจัง มีการย้ายสาขาจากซัวเถามายังเสิ่นเจิ้น (ปี 2550) และแล้วปี 2552 ธนาคารกรุงเทพบรรลุเป้าหมายสำคัญ

“ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารแห่งใหม่ที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้น 100% ได้เปิดดำเนินธุรกิจโดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในธนาคารต่างชาติไม่ถึง 30 แห่งที่ได้รับอนุญาต ธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์ยาวนานในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกในฮ่องกงเมื่อปี 2497 และเปิดสำนักงานตัวแทนแห่งแรกในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2529 การเปิดธนาคารแห่งใหม่ได้ใช้เวลาเตรียมการมาหลายปี ที่สำคัญธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สามารถเปิดสาขาได้เพิ่มขึ้นอีก และสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าทั่วไป ให้บริการชำระเงินในสกุลเงินหยวนได้อย่างครบวงจร สาขาของธนาคารกรุงเทพที่มีอยู่ก่อนแล้วในเขตเศรษฐกิจหลัก ๆ ของจีน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสิ่นเจิ้น และเซียะเหมิน ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้” ภาพธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) อ้างจากข่าวประชาสัมพันธ์ธนาคารกรุงเทพ (28 ธันวาคม 2552)

“การจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สำเร็จลงและดำเนินการในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิภาค หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทศวรรษแห่งเอเชีย” เมื่อข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตเสรีการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน และอีกหลายประเทศเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย” สาระและจินตนาการเพิ่มเติมจากรายงานประธานกรรมการบริหาร (ขณะนั้นคือ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ในรายงานประจำปี 2552 ธนาคารกรุงเทพเป็นจังหวะต่อเนื่องกับกรณี Bangkok Bank Berhad ธนาคารท้องถิ่นในมาเลเซีย ซึ่งธนาคารกรุงเทพถือหุ้นเต็มจำนวน 100% “ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ให้เปิดสาขาใหม่ 4 สาขาในรัฐยะโฮร์ (Johor) 2 สาขา รัฐปีนัง (Penang) 1 สาขา และรัฐสลังงอร์ (Selangor) 1 สาขา”

ข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญธนาคารกรุงเทพอีกชิ้นหนึ่งในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน (20 เมษายน 2553) ไม่ได้ระบุช่วงเวลาอนุมัติ หากนำเสนอในช่วงสาขาใหม่ที่ Jalan Bakri เมือง Johor เปิดดำเนินการไปแล้ว และอีกสาขาที่ Taman Molek เมือง Johor Bahru กำหนดเปิดขึ้นเมื่อ 22 เมษายน 2553 จากนั้นไม่นานอีก 2 สาขาได้เปิดดำเนินการแล้วเช่นกัน

ภาคผนวก

มีเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้นอย่างมีนัยเกี่ยวข้องเรื่องราวข้างต้น ใน ยุคชาตรี-ชาติศิริ ท่ามกลางการแก้ปัญหาจากวิกฤตการณ์ มาพร้อมกับโอกาสใหม่ด้วย เครือข่ายธุรกิจตระกูลโสภณพนิช กับธนาคารกรุงเทพ ได้รับอนุมัติจัดตั้งธนาคารใหม่ในปี 2547 ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นธนาคารใหม่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารดั้งเดิมเพียงกรณีเดียวนั่นคือ ธนาคารสินเอเซีย ที่น่าสนใจกว่านั้นจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม ธนาคารสินเอเซียได้ขายให้กับธนาคารจีน (Industrial and Commercial Bank of China Ltd. หรือ ICBC) ไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน)

นั่นเป็นเพียงบางเรื่องราวเกี่ยวข้องกับชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ผู้จากไป


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรื่องราวกับความคิด วิรัตน์ แสงทองคำ ชาตรี โสภณพนิช

view