จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ช่วงที่ทุกคนทั่วโลกกำลังลุ้นระทึกใจหายใจคว่ำกับปฏิบัติการช่วยชีวิตที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อยู่นั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนก็ขยายวงออกไปอีกระดับ เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ สั่งการให้สำนักงานผู้แทนการค้าตรวจสอบเพื่อจัดทำรายการสินค้าสำหรับประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรในการนำเข้าสหรัฐในอัตราใหม่ ที่จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ รวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์
นั่นเป็นการเพิ่มเติมจากสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีลอตแรก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ แล้วถูกจีนตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันในมูลค่าเดียวกันมาแล้ว
เฉพาะเรื่องสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีกในสายตาของนักวิเคราะห์ทั้งในจีนและในสหรัฐอเมริกา ก็คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังสงครามการค้าหนนี้ คือการกลายเป็นคู่แข่งที่ต้องขับเคี่ยวกันในทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
จีนต้องการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ ไม่ต้องการให้สภาวะเช่นนั้นเกิดขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่สงครามการค้า แต่เป็นการทำศึกยืดเยื้อระหว่าง 2 ชาติ เพื่อแข่งกันเป็นผู้ครอบงำเศรษฐกิจโลก
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังสงครามการค้าครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าสงครามการค้าครั้งนี้มีแววที่จะยืดเยื้อออกไปนานเป็นปี หรืออาจหลายปี เพราะเชื่อว่าไม่มีใครยอมให้ใครมากำหนดทิศทางในอนาคตของประเทศตนกันง่าย ๆ แน่
2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริการะลอกแรกจะมีผลบังคับใช้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เรียกประชุมผู้นำระดับอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศในกรุงปักกิ่ง เพื่อกำหนดความชัดเจนว่า จีนจะแสดงบทบาทอย่างไร และควรทำอย่างไรต่อไปในอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ทางการจีนกำหนดออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในเวลานี้น่าสนใจมาก
อย่างแรกที่น่าคิดคือ จีนมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ” ไม่ใช่สงครามการค้าที่เอาชนะคะคานกันด้วยกำแพงภาษี หรือจะยุติลงด้วยการเจรจาได้ง่าย ๆ
ถัดมา สี จิ้นผิง บอกกับทุกคนว่า ห้ามโอนอ่อนผ่อนปรนเส้นทางพัฒนาประเทศที่จีนเลือกแล้วเด็ดขาด พูดง่าย ๆ ก็คือ จีนจะไม่เปลี่ยนเส้นทางของตัวเอง สืบเนื่องจากสงครามการค้าครั้งนี้ทางที่จีน “เลือกแล้ว” นั่นแน่นอนว่า ย่อมรวมไปถึงแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นเลิศทางอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ด้านเพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย “เมด อิน ไชน่า” ภายในปี 2025 อยู่ด้วย
แต่ในเวลาเดียวกัน จีนก็ยังเลือกเส้นทางการ “ปฏิรูปเศรษฐกิจ” ของตนเองเอาไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับที่จีนยังคงจะยึดถือในแนวทางการค้าเสรีพหุภาคีอย่างแน่วแน่ต่อไป เหตุผลของ สี จิ้นผิง ก็คือ แนวทางการค้านี้ยังประโยชน์มหาศาลให้กับจีน
ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีเหตุผลใดที่จีนจะเปลี่ยนแปลงไปยึดถือแนวทางอื่นใดนอกเหนือจากนี้ทั้งหมดนั้นนำไปสู่การกำหนดท่าทีของจีนในการเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา นั่นคือ จีนจะไม่ยอมเผชิญหน้าในสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาโดยตรงเพียงลำพัง แต่จะยึดถือกรณีดังกล่าวว่าเป็นบริบทหนึ่งของระบบโลก ต้องการตั้งคำถามเอากับทั้งโลกว่า ต้องการยึดถือเอาระบบการค้าพหุภาคีภายใต้การกำกับดูแลขององค์การการค้าโลกต่อไปเหมือนอย่างที่จีนต้องการ หรือต้องการแนวทางยึดตัวเองเป็นสำคัญอย่างที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการอยู่
ภายใต้ท่าทีดังกล่าว จีนต้องทำให้รัฐบาลของนานาประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและบริษัทธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบริษัทของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า จีนยึดมั่นในแนวทางการค้าเสรีจริง ๆ และแสดงให้เห็นว่ายังคงดำเนินการในทางตรงกันข้ามกับที่ทรัมป์ดำเนินการ นั่นคือ ยังคง “เปิดประเทศ” ให้กับธุรกิจทั่วโลก และยังคงต้องการให้โลกาภิวัตน์รุดหน้าต่อไป
จีนพยายามแสวงหาแนวร่วมกับประเทศอื่น ๆ ที่ถูกเล่นงานด้วยสงครามการค้าจากสหรัฐอเมริกาไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น สหภาพยุโรป, แคนาดา และรัสเซีย เพื่อรวมตัวกันต่อต้านสหรัฐ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ความพยายามเจรจากับอียูเพื่อต่อต้านการทำลาย “ระเบียบการค้าโลก” ของสหรัฐอเมริกา และได้รับการสนองตอบด้วยดี ด้วยการจัดตั้ง “คณะทำงาน” ขึ้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องรวมถึงการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในองค์การการค้าโลก
ความพยายามเพื่อการรวมกลุ่มประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงานเข้าด้วยกันนั้น ยังไม่แน่ใจนักว่าจะประสบผลสำเร็จ เช่นเดียวกับการที่แม้ว่าจีนจะพยายามอย่างมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าของตนเอง แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างมากที่ต้องทำเพื่อให้บริษัทและประเทศทั้งหลายที่ต้องการมาลงทุนในตลาดมหึมาของจีนมั่นใจได้
ที่น่าสนใจก็คือ จีนแปรยุทธศาสตร์นี้ออกมาเป็นการปฏิบัติรวดเร็วมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่แล้ว สเตต เคาน์ซิล หรือคณะรัฐมนตรีของจีน ออกแนวปฏิบัติใหม่ต่อรัฐบาลของมณฑลท้องถิ่น “ห้าม” การบังคับบริษัทต่างชาติให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับฝ่ายจีน
หรือการตกลงให้บีเอเอสเอฟ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับโลกจากเยอรมนีหอบเงินมาลงทุนสร้างศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ของตนในกวางตุ้ง มูลค่าการลงทุนสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยบีเอเอสเอฟสามารถเป็นเจ้าของได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นต้น
นักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่า ภายใต้แนวทางเช่นนี้ เมื่อบวกกับระบบการผลิตที่สมบูรณ์พร้อมในตัวเองของจีน กับการเชื่อมโยงด้านการค้ากับโลกในส่วนที่เหลือจีนสามารถเอาตัวรอดจากสงครามการค้ายืดเยื้อกับสหรัฐอเมริกาได้แน่นอน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน