สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Thailand Only การกำหนดระบบนิเวศ สำหรับ “Startup” ที่มีความต่าง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

 

เมื่อหลายเดือนก่อนผู้เขียนได้ไปเป็นผู้วิพากษ์ให้กับงานวิจัยของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะ สำหรับนักบริหารระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้าเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชนที่จะสามารถเติบโตไปเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “startup” จึงได้มีโอกาสเล่าความแตกต่างของความหมายของ “startup” กับธุรกิจ “SMEs”

ซึ่งผู้เขียนได้อ้างถึงคำนิยามของ “startup” ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee หรือเรียกย่อ ๆ ว่า NSC) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “startup” คือ ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการซึ่งมี 1) นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ (business model innovation) ที่สามารถ 2) ทำซ้ำ (repeatable) และ 3) ขยายตลาด (scalable) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 4) เติบโตอย่างก้าวกระโดด (exponen-tial growth)

คำถามต่อมาแล้วอะไรบ้างล่ะที่ startup ต่างจาก “SMEs” คำตอบก็คือ 4 ข้อข้างต้นที่ผู้เขียนอ้างถึงในคำนิยาม ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่เห็นภาพของความแตกต่างของ “SMEs” กับ “startup” ให้นึกถึงช่วงที่หลาย ๆ คนเคยจ้างให้พี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างช่วยไปยืนเข้าคิวซื้อขนมโรตีบอย หรือโดนัทคริสปี้ครีมแถวสยาม อัตราค่าจ้างน่าจะอยู่ประมาณหลักร้อยขึ้น และอาจไม่แน่ไม่นอนซึ่งพี่วินก็คือกิจการ SMEs ที่ให้บริการพวกเรา ต่อมาด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ บทบาทของพี่วินมอเตอร์ไซค์ทั้งหลายก็เปลี่ยนไป โดยเราสามารถเรียกรถมอเตอร์ไซค์ทั่ว ๆ ไปที่ให้บริการรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือให้ไปซื้อของต่อคิว ส่งพัสดุให้เรา ซึ่งกิจการที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ GrabBike Lineman Lalamove และ Scoota ก็คือกิจการ “startup” นั่นเอง ที่เข้ามาตอบโจทย์ช่วยให้พวกเราไม่ต้องไปต่อคิวรอซื้อของ ไม่ต้องเดินทางฝ่าการจราจรที่ติดขัด และสามารถจ่ายอัตราค่าบริการที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นมาตรฐาน

มาถึงตอนนี้ผู้อ่านบางท่านอาจเริ่มสงสัยแล้วว่า ทำไมประเทศไทยถึงต้องการสร้าง “startup” สาเหตุก็เพราะว่าในการจะแก้ไขปัญหาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อผลักดันให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ซึ่ง “startup” ถือเป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจ จึงมีความสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยเพื่อให้พุ่งทะยานสู่เวทีโลก และแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ถ้าอย่างนั้นการจะทำให้เกิด “startup” ในประเทศไทยเราต้องทำอะไรกันบ้าง สำหรับประเทศไทยการริเริ่มของภาครัฐในการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศสำหรับ “startup” เริ่มจากการจัดทำแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2564) แผนนี้ได้จัดทำและดำเนินการโดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee หรือ NSC) ทำให้ไทยมีการจัดงาน Startup Thailand/พัฒนาย่านนวัตกรรม/การจัดทำ website Startup Thailand/การร่วมมือกับภาคการศึกษาดำเนินโครงการบ่มเพาะ (incubation)/สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริม “startup”/ สร้างความตื่นตัวกระตุ้นความสนใจด้าน “startup” กิจกรรมเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนโดยกลไกรัฐเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสำหรับ “startup” ของไทย

ผู้อ่านบางท่านอาจเริ่มสงสัยเพิ่มขึ้นว่า ระบบนิเวศสำหรับ startup คืออะไร และอาจนึกถึงภาพระบบนิเวศของป่าไม้ที่มีความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต และต้นไม้ที่มีส่วนช่วยให้เกิดความสมบูรณ์ของป่าไม้ ???? ใช่ค่ะ “startup” ก็มีระบบนิเวศ ซึ่งระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (startup ecosystem) นับเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของ “startup” โดยระบบนิเวศสำหรับ “startup” จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างระบบนิเวศสำหรับ “startup” คือ 1) ผู้ประกอบการ (entrepreneur) 2) ทุนเสี่ยง (risk capital) หรือกิจการร่วมลงทุน (venture capital : VC) 3) ภาคเอกชน (corporate) 4) ภาครัฐ (government) และ 5) มหาวิทยาลัย (university) (ที่มา : Sarah Jane Maxted, Director, MIT Sloan Global Programs, MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program)

ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศสำหรับ “startup” แต่ละรายล้วนมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยในแต่ละช่วงเวลาบทบาทความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศ ก็ควรจะมีความโดดเด่นสลับกันไป เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมลงตัวต่อการส่งเสริม “startup” ในช่วงเวลานั้น ๆ ดังเช่น ตัวอย่างของ silicon valley strategy ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทุ่งหญ้าเมื่อ 40 ปีก่อน

จนกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างผู้ประกอบการ “startup” ระดับโลก ด้วยการเริ่มต้นสร้างระบบนิเวศสำหรับ “startup” ผ่านกลไกของมหาวิทยาลัยเพื่อบ่มเพาะให้ผู้ประกอบการ “startup” มีทั้งด้าน I-capacity (innova-tion-capacity) หรือความสามารถด้านนวัตกรรม และ e-Capacity (entrepreneurial-capacity) หรือความสามารถด้านการเป็นผู้ประกอบการ ต่อจากนั้นก็มีการเสริมทัพด้วยการสร้างย่านนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการจูงใจให้ VC เข้ามาเฟ้นหา startup เพื่อร่วมลงทุนซึ่งปัจจุบัน silicon valley strategy ได้ถูกนำมาใช้ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา รวมถึงย่าน Kendall Square เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งมี Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นแกนหลักสำคัญของการสร้างระบบนิเวศ (ข้อมูลจากการเข้าร่วมอบรมหลักสูตร : MIT Innovation Deep Dive ณ สถาบัน MIT เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์)

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะเชิญชวนผู้อ่านร่วมกันช่วยคิดว่า ถ้า silicon valley strategy ได้ถูกนำมาใช้ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาแล้ว หากย้อนกลับมาดูความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริม “startup” ของไทยในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ในการสร้างระบบนิเวศสำหรับ “startup” ของไทยนั้น ควรจะมีทิศทางอย่างไร

หากเราจะเป็น Thailand only : การสร้างระบบนิเวศสำหรับ “startup” ที่มีความต่าง


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Thailand Only การกำหนดระบบนิเวศ Startup มีความต่าง

view