จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ จับช่องลงทุน
โดย นนท์ บุรณศิริ ธนาคารกสิกรไทย
ความยั่งยืนของทรัพย์สินในครอบครัวของเศรษฐีทั่วโลกขึ้นอยู่กับเก็บ เติบโต และส่งต่ออย่างไร ซึ่งในชีวิตจริงเต็มไปด้วยความท้าทายต่าง ๆ ดังนั้น ครอบครัวที่มุ่งสร้างแต่ความเติบโต โดยไม่ได้วางแผนในการเก็บ และส่งต่อ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 3 รุ่นมักจะมีอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ วิธีการเก็บและส่งต่อทรัพย์สินมักจะขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมและแนวความคิดของแต่ละครอบครัว โดย “กงสี” เป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวชาวจีน ซึ่งมีอิทธิพลมาถึงครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนด้วย
กงสี เป็นคำภาษาไทยที่ยืมมาจากรากศัพท์ภาษาจีนแต้จิ๋ว (gong 1 si 1 กงซี) แปลว่า ของกองกลางที่ใช้รวมกันสำหรับคนหมู่หนึ่ง ๆ โดยชาวจีนให้ความสำคัญกับครอบครัว จึงยึดมั่นในการรักษาทรัพย์สินไว้กับครอบครัว ระบบกงสีจึงถือกำเนิดขึ้นในยุคที่มีความต้องการแรงงาน ทำให้ขนาดของครอบครัวจีนส่วนใหญ่มีลูกหลานเยอะ เพื่อให้ช่วยกันทำมาหากิน และเมื่อทำแล้วก็เอามาเก็บไว้ที่กองกลาง จะเบิกใช้จ่ายก็เอาจากกองกลาง และเสาหลักของบ้านจะเป็นผู้ที่ถือครองทรัพย์สิน ซึ่งเรื่องที่เปราะบางที่สุดของระบบนี้คือ “ความเป็นเจ้าของ” เพราะทรัพย์สินที่อยู่ในกงสีควรจะเป็นของครอบครัว ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง เมื่อขาดซึ่งความเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์ตกไปอยู่ในมือของสมาชิกในบ้านคนใดคนหนึ่ง ปมของการไม่ได้เป็นเจ้าของ และความไม่ยุติธรรมมักจะแทรกซึมเข้ามา
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และจบลงของตระกูลมั่งคั่งทั่วโลก ส่วนหนึ่งมักเกิดขึ้นมาจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นความล่มสลายของอาณาจักร Gucci ในช่วงการส่งผ่านระหว่างรุ่นที่ 2 และรุ่น 3 เมื่อ Aldo Gucci พี่ชายผู้เก่งกาจต้องติดคุกเพราะคดีเลี่ยงภาษี ทำให้ลูกของน้องชายคนเล็ก Maurizio Gucci ส่งตัวเองขึ้นนั่งแท่นเป็นผู้บริหารกงสีแทน เมื่อพ่อของเขา Rodolfo Gucci เสียชีวิต และจบด้วยการเสียธุรกิจทั้งหมดให้กับราชาธุรกิจแห่งบาห์เรน ในส่วนของเอเชียก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจครอบครัวที่เป็นที่รู้จัก ที่กลายเป็นข่าวครึกโครมเกี่ยวกับเรื่องกงสีเลือด และการฟ้องร้องอย่างไม่รู้จบในหมู่พี่น้อง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การสร้างกติกาที่เป็นธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้กงสีของครอบครัวมีความแข็งแรง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก สำหรับประเทศไทย บ้านที่มีทรัพย์สินมาก ๆ ต้องเลือกการเปิดบัญชีร่วม หรือการตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อถือครองทรัพย์สินร่วมกัน จริงอยู่แม้ข้อกำหนดของบริษัทโฮลดิ้งจะสามารถเอาหลักเกณฑ์ของกงสีมาเขียนเพื่อให้มีผลใช้บังคับทางกฎหมาย แต่บริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นเสมอ และผู้ถือหุ้นก็มีวันตาย ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในหุ้นจึงเกิดการส่งผ่านไปยังทายาทรุ่นต่อไป กรณีที่เห็นชัดที่สุดตั้งแต่ช่วงปี 2560 เป็นต้นมาที่หลายครอบครัวเอาที่ดินแปลงของกงสีโอนไปเป็นทุนในบริษัท ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้สิทธิ์ค่าธรรมเนียมในการโอนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินราชการ บริษัทโฮลดิ้ง และบริษัทที่ดินเหล่านี้ ความเป็นเจ้าของอยู่ที่ผู้ถือหุ้น เมื่อผู้ถือหุ้นตกลงร่วมกันที่จะขายบริษัทหรือที่ดินแล้วแต่กรณี ก็ไม่อาจมีใครทัดทานได้เพราะกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ถือหุ้น ความประสงค์ของปู่ย่าตายายที่จะเก็บทรัพย์สินไว้กับครอบครัวตราบนานเท่านานจึงอาจกลายเป็นฝันสลายไปได้
ความน่าสนใจก็คือ ครม.ได้มีการประกาศผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถ้าผ่านทรัสต์จะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ ซึ่งใช้ในการบริหารทรัพย์สินของกงสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทรัสต์เป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ก่อตั้งทรัสต์กับทรัสต์ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลและถือครองทรัพย์สินแทนเจ้าของเดิม คือ ผู้ก่อตั้งทรัสต์ ดังนั้น กรรมสิทธิ์จึงตกอยู่ที่ทรัสต์โดยไม่มีการโอนไปยังทายาทของผู้ก่อตั้งทรัสต์ ด้วยหลักการที่แก้ปมในเรื่องของกรรมสิทธิ์นี้ หากครอบครัวใดที่เลือกใช้ทรัสต์ได้ด้วยความเข้าใจ และนำไปประยุกต์กับการบริหารปัจจัยภายในครอบครัวได้แล้ว จะสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินกงสีของครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน