จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อก้าวสู่ยุคสมัยที่ “ทีวี” แบบดั้งเดิมไม่ใช่แค่ช่องทางเดียวในการเข้าถึงคอนเทนต์ของผู้บริโภคอีกต่อไป แต่ยังมีช่องทางออนไลน์อีกมากมายที่ส่งผ่านคอนเทนต์ถึงมือผู้บริโภคทุกที่ทุกเวลา หรือ OTT (over the top) ปัญหาคือ “สื่อเก่า-สื่อใหม่” ยังมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่เกิดจากการกำกับดูแลของภาครัฐที่แตกต่างกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงาน กสทช.จัดการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ International Symposium on Converging Technologies & Disruptive Communications Moving Forward เกี่ยวกับปัญหานี้
“โซนิ คอร์” ผู้จัดการด้านนโยบายเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท เน็ตฟลิกซ์ จำกัด ผู้ให้บริการ OTT ระดับโลก เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมบรอดแคสต์เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้ง OTT มี IPTV และอื่น ๆ
“OTT ยุคนี้ก็ไม่ใช่แค่ sVdo, vOD อย่างอีคอมเมิร์ซ เพย์เมนต์ก็เป็น OTT ด้วย และล้วนแต่แย่งเวลาจากผู้บริโภคไปทั้งนั้น”
ขณะที่ความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการกำกับดูแล OTT เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด ด้วยขอบเขตที่กว้างขวางครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต มีทั้งที่เป็นบรอดแคสเตอร์
และส่วนที่เป็นโซเชียลมีเดีย แต่แชร์คอนเทนต์ถึงกันได้ ทำให้ทุกคนผลิตวิดีโอออนดีมานด์และเผยแพร่ได้เอง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเผยแพร่เนื้อหาที่มีความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ สร้างความเกลียดชัง แต่การเซ็นเซอร์หรือกำกับดูแลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เซ็นเซอร์ไม่ใช่ทางออก
“ผู้บริโภคคือผู้ควบคุมชะตากรรมของบรอดแคสเตอร์ และเป็นผู้ควบคุมเนื้อหา หากช่องทางใดมีการเซ็นเซอร์เนื้อหามาก ๆ ผู้บริโภคก็ไม่อยากใช้ ดังนั้นควรใช้การร่วมมือกันและให้ความรู้ผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยในการใช้งานจะดีกว่า”
โดยได้เริ่มมีการทดลองหาแนวทางที่ win-win กับทุกฝ่าย คือ ยกร่างข้อตกลงร่วมกันในระหว่างผู้ให้บริการในอาเซียนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ภาครัฐว่าผู้ประกอบการจะมีการกำกับดูแลกันเอง ทั้งเรื่องเนื้อหาและการลงทุนเพื่อผู้บริโภคมั่นใจว่าได้บริการในสิ่งที่มีคุณภาพ หลัก ๆ คือไม่มีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่เผยแพร่ภาพลามกอนาจารของเด็ก หรือสนับสนุนการก่อการร้าย
ขณะที่ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ซึ่งยังเชื่อมั่นว่า “ช่องทีวี” ยังจำเป็นสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากทุกวันนี้การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตคุณภาพดีที่รองรับการดูคอนเทนต์ผ่านออนไลน์ในไทยยังมีข้อจำกัดด้านโครงข่ายและค่าบริการ
“เหมือนเซ้งร้านขายอาหารจากรัฐทั่วประเทศ ขณะที่บริการส่งอาหารแบบดีลิเวอรี่กำลังขยายตัว จ่ายค่าเช่าไปแล้วก็ทำดีลิเวอรี่ไปด้วยดีกว่าไหม จะไปยกเลิกระบบดีลิเวอรี่หรือคืนร้านก็ไม่ได้ เราจึงมีดีลิเวอรี่เองด้วย ทั้ง Facebook Watch YouTube ฯลฯ มีให้ครบ คนมีทางเลือกอยู่แล้ว ถ้าเราทำสิ่งที่คนสนใจก็จะเลือกดูเรา ไม่ว่าจะในช่องทางไหน”
ในอนาคตถ้าไทยมีอินเทอร์เน็ตคุณภาพดีฟรีทุกบ้านเมื่อใด “ฟรีทีวี” ที่ประมูลกันมาอาจไม่จำเป็นจริง ๆ แต่คำถามคือ เมื่อไร และภาครัฐจะสื่อสารกับประชาชนอย่างไรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างภัยพิบัติ
OTT = IPTV on Mobile ?
“เดียว วรตั้งตระกูล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด กล่าวว่า ในมุมบรอดแคสเตอร์ของไทยที่ประมูลไลเซนส์มาในราคาแพง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวดเร็วก็มีคำถาม กสทช.ว่าโรดแมปที่วางไว้
สำหรับบรอดแคสเตอร์คืออะไร OTT กับ IPTV on Mobile แตกต่างกันอย่างไร ถ้าเป็น IPTV on Mobile จะอยู่ในขอบเขตกำกับดูแลของ กสทช. และต้องปฏิบัติตามมัสต์แครี่ของ กสทช. แต่ถ้าเป็น OTT ยังไม่ชัดเจนเรื่องการกำกับดูแลส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ”
ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นโอกาสให้บรอดแคสต์เติบโตได้ในยุคดิสรัปต์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสหารายได้มากขึ้น นอกจากโฆษณาแบบเดิม และสร้างกระแสได้มากขึ้นในยุคนิวมีเดียแย่งเวลาของผู้บริโภคไป
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน