จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐกิจนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)-อบก. ให้จัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2562 วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ อปท.มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรและภาพรวมระดับประเทศ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรใน อปท.ให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานด้านก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน
เป็นการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (ปี 2555-2559) ที่มียุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาหลายด้านที่เกี่ยวโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หลังจากไทยได้ร่วมลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ปี 2537 และร่วมลงนามพิธีสารโตเกียวเมื่อปี 2545 และล่าสุดปี 2559 ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีว่าจะปฏิบัติตามความตกลงปารีส (COP21) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2559 โดยไทยจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 20-25% จากปัจจุบันในอีก 15 ปีข้างหน้า
อบก.ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจดังกล่าว และได้ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ อปท.ให้สามารถจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของ อปท.เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2554-2561 โดยมีเทศบาลเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 149 แห่ง และในปีงบประมาณ 2562 มีแผนจะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
จากข้อมูลของ World Resource Institute (2012) ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในลำดับที่ 26 ของโลก และลำดับที่ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน 375.5 MtCO2eq โดยประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 คือ จีน 10,590 MtCO2eq อันดับที่ 2 สหรัฐอเมริกา 5,330 MtCO2eq อันดับ 3 สหภาพยุโรป 3,420 MtCO2eq อันดับ 4 อินเดีย 2,340 MtCO2eq อันดับที่ 5 รัสเซีย 1,770 MtCO2eq
สำหรับปีนี้จะมี อปท.ทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลเข้าร่วมโครงการ 30 แห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 11 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561-ก.ย. 2562 โดย อปท.ทั้ง 30 แห่งจะต้องทำกิจกรรม
1.สมัครเข้าร่วมโครงการและเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก
2.ร่วมพิธีเปิดโครงการเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินโครงการ และอบรม สัมมนา เพื่อรับฟังการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเข้าใจ
3.สำรวจและรวบรวมข้อมูลกิจกรรม ตามคำแนะนำในคู่มือแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของ อบก.ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ
4.คำนวณขนาดคาร์บอนฟุตพรินต์ของ อปท.ตามคำแนะนำในคู่มือแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของ อบก.ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ
คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) คืออะไร คำตอบคือการแสดงแหล่งปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยและดูดกลับเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งถูกคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรพิจารณาได้จาก 3 ขอบเขต ประกอบด้วย
SCOPE1 ก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การเผาไหม้ของพาหนะขององค์กรการจัดการขยะของเสีย การบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรมต่าง ๆ
SCOPE2 ก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมทางอ้อมโดยการใช้พลังงาน ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร อาทิ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ ฯลฯ
SCOPE3 ก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมทางอ้อม เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ น้ำประปา กระดาษ
5.รับการทวนสอบข้อมูลขนาดคาร์บอนฟุตพรินต์ของ อปท.ตามคำแนะนำในคู่มือโดยผู้เชี่ยวชาญ
6.จัดทำรายงานการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของ อปท.ที่ผ่านการทวนสอบแล้ว
7.ประเมินศักยภาพของกิจกรรมระดับองค์กรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและความเป็นไปในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับบริบทขององค์กร เทศบาล รวมถึงข้อจำกัดทางเทคนิคของแต่ละกิจกรรมและเทคโนโลยี ที่นำมาลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ
8.จัดทำแผนและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ อปท.
9.ร่วมพิธีปิดโครงการ การประชุมแถลงผลสำเร็จโครงการ และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เมื่อสิ้นสุดโครงการ อปท.จะมีเครื่องมือชี้วัดข้อมูลขนาดคาร์บอนฟุตพรินต์ภายในพื้นที่ และจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลฐานหรือ baseline data สำหรับตั้งเป้าหมายและกำหนดนโยบาย และกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งรับมือผลกระทบได้อย่างเหมาะสม สามารถขยายผลไปยัง อปท.หรือชุมชนอื่น ๆ สนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน