สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงทุนในสถาบันคลังสมอง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย นิพนธ์ พัวพงศกร TDRI

ประสบการณ์จากการทำงานพัฒนาระหว่างประเทศที่ผ่านมา พบว่านโยบายสาธารณะจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเป็นนโยบายที่ออกแบบและดำเนินการโดยคนทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับชาติหรือระดับภูมิภาค รวมไปถึงนโยบายระหว่างประเทศ อาทิ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของสหประชาชาติเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainable development goals (SDGs) นโยบายหรือโครงการที่เกิดจากความหวังดีของผู้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนามักจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และสภาพปัญหาในพื้นที่หากการดำเนินงานปราศจากข้อมูลและการวิเคราะห์โดยคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นหากปราศจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่คอยสอดส่องดูแลกระบวนการบริหารจัดการแล้ว โครงการที่ออกแบบและวางแผนมาเป็นอย่างดีก็อาจหลงทางและล้มเหลวได้

แม้ว่าหน่วยงานที่ให้ทุนพัฒนาส่วนใหญ่ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ จะตระหนักดีว่าโครงการพัฒนาที่จะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องเป็นโครงการที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการนั้น ๆ แต่ผู้ให้ทุนก็มิได้เลือกที่จะลงทุนกับองค์กรในประเทศเหล่านั้นเสมอไป แม้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะมีความสามารถทำงานวิจัยและวิเคราะห์หาแนวทางการปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นได้ตามความต้องการของผู้กำหนดนโยบายก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีตัวอย่างการลงทุนในลักษณะดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศต่าง ๆ ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยในทวีปยุโรปที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในช่วงหลายทศวรรษหลังสงครามก็เกิดสถาบันวิจัยขึ้นในประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู และเอธิโอเปีย ประสบการณ์ในประเทศเหล่านี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าการลงทุนในสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อประเทศ แม้แต่ประเทศจีนก็มีการลงทุนอย่างมากกับสถาบันวิจัยที่เป็นสมองของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556

ประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในปี 2527 ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับทุนสนับสนุนการก่อตั้งเริ่มแรกรวมทั้งการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canadian International Development Agency : CIDA) นับตั้งแต่นั้นมาทีดีอาร์ไอก็ได้เติบโตจนเป็นสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะแห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาค ทั้งยังได้ทำงานวิจัยเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวางนโยบายสาธารณะของประเทศ อาทิ งานวิจัยที่ว่าด้วยการเปิดเสรีการนำเข้าทองคำแท่งและการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ทองรูปพรรณ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของตลาดการส่งออกทองรูปพรรณ

งานวิจัยเรื่องการกระจายเสียงและโทรคมนาคม ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลสร้างความสมดุลและป้องกันการผูกขาดทางการตลาดในธุรกิจโทรทัศน์ เคเบิล และดาวเทียม งานวิจัยอื่น ๆ รวมถึงการผลักดันให้มีระเบียบการประกันรถยนต์สาธารณะภาคสมัครใจเพื่อเพิ่มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยอีกเท่าตัวจากวงเงินชดเชยจากการประกันภาคบังคับ และงานวิจัยว่าด้วยเรื่องพันธบัตรป่าไม้อันจะเป็นกลไกในการสร้างสมดุลเชิงพาณิชย์และการอนุรักษ์ป่า นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอก็ยังมีบทบาทที่สำคัญในการคัดค้านนโยบายที่ก่อความเสียหายต่อสังคม

ตัวอย่างความสำเร็จข้างต้นทำให้หน่วยงานให้ทุนพัฒนาที่มองการณ์ไกลกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในปี 2551 เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการนำข้อมูล งานวิจัย และหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (millennium development goals) ด้วยความเชื่อที่ว่าองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะ หรือ สถาบันคลังสมอง (think tanks) ที่เข้มแข็งจะสามารถช่วยและสนับสนุนรัฐบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดีได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจึงก่อตั้งกลุ่ม The Think Tank Initiative (TTI) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน เพื่อให้การสนับสนุนสถาบันคลังสมองที่ทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะในประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่แถบแอฟริกาตะวันออกและตะวันตก เอเชียใต้ และละตินอเมริกา


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงทุน สถาบันคลังสมอง การพัฒนาอย่างยั่งยืน

view