จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมเองเคยไปพบ รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยยังเป็นนิสิตชั้นปีที่สาม จำได้ว่าห้องอาจารย์อบอวลไปด้วยกลิ่นไปป์ยาเส้นและความใจดีและอารมณ์ดีของอาจารย์ อาจารย์ให้หนังสือมาหนึ่งเล่ม เป็นรายงานประจำปีของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีบทความอาจารย์เขียนเอง กล่าวว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติแล้ว ได้ทรงมีพระราชปรารภว่าถ้าราชสมบัติตกไปอยู่สายของพี่แดงก็จะเป็นการดี เพราะพี่แดง (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เป็นเจ้านายที่ทรงเป็นประชาธิปไตย โอบอ้อมอารี จะเป็นที่รักและนิยมชมชอบของประชาชน (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละพระราชสมบัติ และทรงสละสิทธิไม่ทรงขอเกี่ยวข้องกับการสืบราชสันตติวงศ์ จึงเพียงมีพระราชปรารภกับบุคคลใกล้ชิดเท่านั้น)
อาจารย์พฤทธิสาณ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ ที่เป็นอา-หลานกัน แม้จะไม่ได้ใกล้ชิดกันในแง่ของการใช้เวลา แต่ พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงปกป้องประชาชน (ประชาธิปกศักดิเดช-พระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นกำลังของแผ่นดิน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) ทรงมีพระนิสัยคล้ายคลึงกันมากหลายประการ เช่น โปรดกล้องถ่ายรูปและวีดีโอเหมือนกัน โปรดทรงกีฬาเช่นเดียวกัน โปรดใกล้ชิดประชาราษฎร และมีพระนิสัยโอบอ้อมอารีคล้ายกันมาก อาจารย์พฤทธิสาณยังกล่าวว่า พระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นจะลดลงไป แต่พระราชบารมีอันเกิดจากการทรงงานเพื่อประชาชนนั้นจะค่อยเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ เป็นพระราชอำนาจที่เกิดจากความรัก ความศรัทธา ที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชน่าจะได้พระอุปนิสัยดังกล่าวมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกและน่าจะได้รับการถ่ายทอดพระอุปนิสัยดังกล่าวผ่านทางการทรงอภิบาลเลี้ยงดูในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
อาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทในหัวข้อ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ได้นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง ได้ศึกษาและพบว่าในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจน้อยมาก ผู้นำประเทศในสมัยนั้นได้พยายามลิดรอนทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ด้วยวิธีการหลากหลายวิธีการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ ยากจน ในดินแดนชนบท ทุรกันดารที่ทางราชการไม่สนใจ และไม่มีกำลังเพียงพอที่จะพัฒนา ทรงต่อสู้กับความยากจนข้นแค้นของราษฎรทั่วราชอาณาจักร ทรงงานหนักผ่านโครงการพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการตลอด 70 ปี แห่งรัชสมัย โครงการพระราชดำริดังกล่าวมีส่วนสำคัญยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐฐานะของราษฎรผู้ยากจน ทำให้ทรงได้รับความรัก ความจงรักภักดีจากประชาชนทั้งแผ่นดิน พระราชบารมีที่แผ่ไพศาลอันเกิดจากความรักและความศรัทธา เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดพระราชบารมีนำมาซึ่งการสถาปนาพระราชอำนาจนำในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในระยะแรกของการเริ่มต้นโครงการพระราชดำริ ทรงงานด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง ราชการและรัฐบาลไม่ได้มีส่วนร่วมถวายงานมากนัก จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรีผู้จงรักภักดี ทำให้โครงการพระราชดำริได้รับการสนองงานถวายโดยรัฐบาลและเริ่มเสด็จเยือนต่างประเทศเพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีในท่ามกลางสงครามเย็นระหว่างโลกทุนนิยมประชาธิปไตยและโลกคอมมิวนิสต์ ลัทธิแมคคาร์ธีย์และทฤษฎีโดมิโนกำลังแผ่ขยาย ประเทศไทยเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแผนแรกในช่วงนี้ สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย มีการตัดถนนมิตรภาพเพื่อขยายความเจริญไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นถนนเพื่อความมั่นคงและยุทธศาสตร์ ประเทศไทยในขณะนั้น ยากจน การสาธารณสุขไม่ดีมากนัก ประชาชนมีอายุขัยเฉลี่ยสั้น และบ้านเมืองยังขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอีกมาก
การทรงงานอย่างหนักผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ทำให้ประชาชนยิ่งเพิ่มทวีความจงรักภักดี พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงลดพระองค์ลงมาใกล้ชิดกับราษฎร
ความเป็นศิลปินทำให้ทรงแต่งเพลงพระราชนิพนธ์ลงมามากมาย ปีหนึ่งทรงแต่งเพลงพรปีใหม่ พระราชทานลงมาให้ประชาชน อันเป็นธรรมเนียมที่ไม่เคยมีมาก่อนในแผ่นดินนี้ แต่ราษฎรทั้งหลายก็พากันชื่นชมและน้อมรับเพลงพรปีใหม่พระราชทานมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและความจงรักภักดีมั่นด้วยหัวใจที่แช่มชื่นเบิกบาน และทำให้ราษฎรได้รับรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงมีความคิดจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด มีความละเอียดอ่อนในหัวใจ เช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป
ความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ทรงงานหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สร้างพระราชบารมีและพระราชอำนาจนำอันแผ่ไพศาล เป็นพระราชอำนาจที่เกิดจากความรักอย่างแท้จริง ทรงมีพระประมุขศิลป์แบบ Charismatic leadership หรือประมุขศิลป์แบบบารมีและศรัทธา อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ที่ประจักษ์แก่ตาและแจ้งแก่ใจชาวไทยถ้วนหน้า คนไทยเชื่อและศรัทธาในพระเจ้าแผ่นดิน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือถวายพระเจ้าแผ่นดินมากกว่าทางราชการ
การทรงงานหนักเพื่อประชาราษฎรด้วยการทรงเป็นผู้ปฏิบัติผ่านโครงการพระราชดำริ การเสด็จในท้องถิ่นทุรกันดารที่แม้ทางราชการก็ไปไม่ถึง ทรงรับพระราชภาระอันหนักอึ้งของแผ่นดินและความทุกข์ของราษฎรไว้บนบ่าของพระองค์ ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าประเทศไทยเหมือนปิรามิดหัวคว่ำอยู่บนไหล่ของพระองค์อันหนักอึ้ง แต่ไม่เคยทรงท้อ เพราะเดิมพันสูงมาก คือประเทศไทยและประชาชน ทรงมีภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้หรือ Servant leadership อันเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ใจคนไทยทั้งปวงอย่างชัดเจน
การทรงเป็นผู้นำทางความคิดในการเปลี่ยนแปลง โดยทรงนำเสนอแนวความคิดในการพัฒนาประเทศและการดำรงชีวิตที่สำคัญมากมาย เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรทฤษฎีใหม่ การทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ราษฎรได้เรียนรู้และทำตามด้วยพระองค์เอง ทั้งที่พระราชวังจิตรลดารโหฐาน และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ที่ห้วยฮ่องไคร้ ภูพาน เขาหินซ้อน และห้วยทราย เป็นต้น ทรงทดลอง วิจัยและประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทรงโปรดแต่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่ออย่างที่ทรงตั้งใจเพราะต้องมารับพระราชภาระเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ความรู้เหล่านี้ นำมาซึ่งพระราชดำริต่างๆ เช่น แกล้งดิน ไม้สามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ฝนหลวง โครงการหลวง เป็นต้น ทรงสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ให้ปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนจะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน ทรงนำการเปลี่ยนแปลงและทรงมีพระประมุขศิลป์แบบภาวะผู้นำนักปฏิรูป (Transformational leadership) อย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการทหาร หรือประชาธิปไตยก็ตาม พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ ทรงเป็นที่มาแห่งพระราชอำนาจในการบริหารปกครองบ้านเมืองทุกประการ ทรงใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา ทรงใช้พระราชอำนาจด้านการบริหารผ่านรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทรงใช้พระราชอำนาจด้านตุลาการผ่านสถาบันตุลาการผู้ทำงานในพระปรมาภิไธย ทั้งหมดต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามหลัก King can do no wrong. อันเป็นธรรมเนียมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข
สำหรับราชาธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีพระราชอำนาจสามด้านหลัก
ประการแรก ทรงให้คำปรึกษารัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลมีหน้าที่ต้องขอเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณา ให้ทรงแนะนำในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลต้องพึ่งพระราชบารมีและพระปัญญาบารมีและต้องสนองพระราชดำริในการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ กิจการบางอย่างรัฐบาลไม่มีทางทำได้เลย เช่น การสังคายนาพระพุทธศาสนาให้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะรัฐบาลไม่มีบารมีเพียงพอก็ควรต้องขอพึ่งพระราชบารมี
ประการที่สอง ทรงใช้พระราชอำนาจในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล สิ่งใดที่รัฐบาลทำงานไปได้ดีและควรส่งเสริมก็ทรงส่งเสริมและสนับสนุนได้ โครงการพระราชดำริต่างๆ เป็นการทรงงานช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ และหลังจากมีการจัดตั้ง กปร ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้มีความพยายามให้โครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วสักระยะหนึ่งให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของหน่วยราชการ ให้เป็นเรื่องปกติของราชการเช่นกันแทบทั้งหมด เพื่อให้เป็นงานปกติและดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ประการที่สามทรงใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งได้ ทั้งการแต่งตั้งบุคคลและการตรากฎหมาย ดังบทความพระราชอำนาจในการตักเตือนยับยั้งการโปรดเกล้าแต่งตั้งบุคคลและการตรากฎหมาย : จิตสำนึกของผู้ถวายทูลเกล้า https://mgronline.com/daily/detail/9610000089656 พระราชอำนาจในการยับยั้งนี้ทรงใช้ต่อเมื่อจำเป็นและทรงอยู่เหนือการเมืองทั้งปวง
พระราชอำนาจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทั้งสามประการนั้น มาจากพระราชบารมีอันเกิดจากความจงรักภักดีและการทรงมีประมุขศิลป์สามลักษณะที่ทำให้ประชาราษฎรรักและศรัทธายอมตายถวายชีวิตทั้ง Charismatic leadership, Servant leadership และ Transformational leadership อันเป็นแบบฉบับของพระองค์เอง
ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ยังมีความสืบทอดจากราชาธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินเช่นกัน เป็น soft power หรืออำนาจอ่อนที่ทรงพลังยิ่ง ด้วยทรงสามารถนำความคิดและศรัทธาของประชาชนได้
ทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศและการพาประเทศพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาและการต่อสู้ของลัทธิการเมืองผ่านการทำสงครามเย็นอันยาวนานตลอดรัชสมัย โดยทรงนำคนไทยพัฒนาพึ่งพาตนเองผ่านพ้นความยากจน เป็นราชาธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินอันเกิดจากพระราชอำนาจนำที่เกิดจากความรักและศรัทธาอันแน่นแฟ้น เป็นความแน่นอนในสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและในต่างประเทศที่ไม่แน่นอนและอ่อนไหวยิ่ง ตลอด 70 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงแห่งรัชสมัยได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ชัดแล้วถึงความสำคัญยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยที่จะยังคงสืบทอดยั่งยืนต่อไปไม่มีวันเสื่อมคลาย
คนไทยทั้งปวงได้เห็นเป็นประจักษ์ชัดเจนว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บดินทรเทพยวรางกูรทรงดำเนินรอยตามพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พระราชมารดา ทรงทำงานเพื่อคนไทย เช่นเดียวกัน ด้วยวิธีการที่อาจจะแตกต่างกันไป เพราะพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ก็ทรงมีพระบุคลิกภาพแตกต่างกันไปเช่นกัน แต่เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อคนไทยทั้งปวงได้อยู่เย็นเป็นสุข ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน