จากประชาชาติธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระดมพลผู้บริหารร่วมวงเสวนา “จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี”62…หมูจริงหรือไม่” โดยภาพรวมไตรมาส 4/61 นี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4% ดีกว่าไตรมาส 3 ที่อยู่ 3.3% เนื่องจากรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในเดือน ธ.ค.นี้ และด้านท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว ส่วนทั้งปีนี้คาดเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) โต 4.3% ส่วนภาพรวมในปีหน้าปีหมู มีประเด็นสำคัญดังนี้
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี”62 คาดว่าขยายตัว 4% โดยจะมีประเด็นสงครามการค้าที่เป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะภาคส่งออกไทยที่คาดจะโตแค่ 4.5% ต่ำกว่าปีนี้ที่โต 7.7% จึงต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากการลงทุนในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน มาชดเชยด้านต่างประเทศ ที่ด้านการส่งออกและท่องเที่ยวชะลอตัว เพื่อให้อยู่ในโมเมนตัมที่ดีได้ โดยจะเห็นหลายโครงการของรัฐที่จะมีการประมูลเข้ามา และโครงการก่อสร้างภาครัฐจะดำเนินต่อไปได้ ทำให้จะดึงการลงทุนภาคเอกชนให้เข้ามาได้
แต่หากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น ก็จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและลงทุนของประเทศ รวมถึงมีความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี”63 ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปถึงครึ่งปีหลัง
“การท่องเที่ยวปีหน้าคาดอยู่ที่ 39 ล้านคน โตชะลอ 3.1% จากปีนี้ที่คาดอยู่ที่ 6.5% ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนหดตัวมาก แต่ก็ยังได้นักท่องเที่ยวประเทศอื่นในเอเชียหรือรัสเซียมาชดเชย คาดปีหน้าจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจีนเริ่มฟื้นตัว”
นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สำหรับปีหมู คงจะไม่หมูนัก เพราะสงครามการค้าจะรบกวนบรรยากาศการค้าโลกตลอดทั้งปี และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการค้าไทยราว 3.1 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจีนเป็นซัพพลายเชนสำคัญของไทย และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีประเด็น Brexit สถานการณ์การคลังอิตาลี และความผันผวนของค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น ตุรกี อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ ล้วนแต่จะเพิ่มความผันผวนตลาดเงินโลก
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ โดยรอบสุดท้ายของปีนี้ (19 ธ.ค. 61) การประชุม กนง.มีโอกาสมากที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกับธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) และปีหน้าก็มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในครึ่งปีหลังเมื่อผ่านช่วงเลือกตั้ง
“ดอกเบี้ยธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกจะเน้นไปที่เงินฝากประจำพิเศษ และดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว แต่ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป เพราะสภาพคล่องธนาคารทั้งระบบยังมีอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.89 ล้านล้านบาท ปีหน้าคาดขึ้นอีก 5% โดยจะเห็นความต้องการระดมทุนราว 2.9 ล้านล้านบาท ทั้งออกพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้และขอสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยแรงส่งสินเชื่อจะชัดเจนในครึ่งปีหลังมากกว่า แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีแรงส่งลดลง คงทำให้สินเชื่อปีหน้าขยายตัว 5% ชะลอจากปีนี้ที่โต 6% โดยสินเชื่อบ้านและรถยังเติบโตแต่มีอัตราชะลอลง แต่ช่วงไตรมาสแรกจะเห็นการเร่งโอนบ้านก่อนมาตรการใหม่คุมเข้มสินเชื่อบ้านจะบังคับใช้ ซึ่งจะให้สินเชื่อบ้านโต 14.1% ก่อนจะหดลงไปอยู่ที่ -5.6%” นางสาวกาญจนากล่าว
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบ คาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 2.91% ก่อนจะเร่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2.98% ในสิ้นปี”62 ซึ่งอาจจะแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ เนื่องจากยังมีความกังวลต่อสินเชื่อบ้าน รถ และเอสเอ็มอีอยู่
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ชี้ธุรกิจในปีหน้าขยายตัวได้ดี คือกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ โรงพยาบาล และก่อสร้างภาครัฐ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปีหน้าดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 1,766 จุด ภายใต้จีดีพีโต 3.8% และคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท โต 17%
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน