จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“เงินถุงแดง” เป็นเรื่องที่เป็นที่เล่าขานกันมามาก ว่าเป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสะสมไว้เป็นเงินส่วนพระองค์ แต่ก็แปลกที่เงินนี้ไม่ใช่เงิน “พดด้วง” ซึ่งเป็นเงินของไทยที่ใช้อยู่ในสมันนั้น แต่กลับเป็นเงินของประเทศเม็กซิโกที่อยู่คนละซีกโลก ซึ่งเรียกกันว่า “เหรียญนก” เพราะเป็นเหรียญที่มีรูปนกอินทรีย์อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และเป็น ๑ ใน ๓ ของสกุลเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้ากันในย่านนี้ เช่นเดียวกับเงินเปรูและเงินรูเปียของอินเดีย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านการค้ามาตั้งแต่ทรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ ทรงกำกับกรมท่า ซึ่งมีหน้าที่ในด้านการค้าและการต่างประเทศ นอกจากจะทรงกำกับดูแลสำเภาหลวงแล้ว ยังทรงมีสำเภาค้าเป็นส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายท่านที่ส่งสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศ เงินที่ได้กำไรมาจากสำเภาค้าส่วนพระองค์นี้ ทรงใส่ถุงผ้าสีแดงเก็บไว้ข้างพระแท่นบรรทม จนหลายปีมีจำนวนมากถึงกับต้องสร้างเป็นห้องเก็บไว้
ที่ทรงใช้ถุงสีแดงใส่เงิน อาจจะมาจากคติความเชื่อของชาวจีนที่ติดต่อค้าขายกับไทยมากในตอนนั้น ที่นิยมนำเงินใส่ซองสีแดงมอบให้ลูกหลานในเทศกาลหรืองานมงคล เพื่อความมั่งคั่งรำรวยและมีโชคดี
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องการเก็บเงินไว้ข้างพระแท่นบรรทมว่า
“...เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่ง สำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใดหรือใช้จ่ายการอันใดโดยลำพังพระองค์เอง คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ จะเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ทราบแน่ เห็นจะเรียกกันว่า “เงินข้างที่” ทำนองเดียวกับเรื่องเงินที่เอาตามเสด็จไปไหนๆ ว่า “เงินท้ายที่นั่ง” ...”
เมื่อเงินข้างที่มีมากขึ้นจนต้องทำห้องเก็บ เรียกว่า “คลังข้างที่” จนเป็นที่มาของ “กรมพระคลังข้างที่” ในรัชกาลที่ ๕...”
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้รับสั่งกับข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าขณะประชวรใกล้สวรรคตไว้ว่า
“...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว...”
ทั้งยังเล่ากันว่า มีรับสั่งถึงเงินถุงแดงเป็นลางไว้ว่า “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง” ซึ่งก็ได้ใช้ไถ่กันจริงๆในรัชกาลที่ ๕
ทั้งนี้ในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ ที่เรือรบฝรั่งเศสฝ่าการป้องกันที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าเข้ามาถึงสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ฝ่ายไทยได้ต่อสู้ขัดขวางอย่างเต็มที่ ทำให้บาดเจ็บล้มตายกันทั้งสองฝ่าย แต่ฝรั่งเศสผู้รุกรานกลับยื่นคำขาดเรียกค่าเสียหายจากไทยเป็นเงิน ๓ ล้านฟรังซ์ โดยต้องชำระเป็นเงินเหรียญภายใน ๔๘ ชั่วโมง มิฉะนั้นจะปิดอ่าวไทย ซึ่งแน่นอนว่าต่อไปก็จะเป็นการยึดทั้งประเทศตามเป้าหมาย
ในเวบของกรมธนารักษ์ เรื่อง เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญกษาปณ์ ซึ่งเขียนโดย สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้น เงิน ๑ บาทมีค่าเท่ากับ ๒ ฟรังก์ ซึ่งไทยจะต้องจ่ายให้ฝรั่งเศสคิดเป็นเงินไทย ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาทกับอีก ๒ อัฐ
ปัญหาก็คือจะเอาเงินเหรียญจำนวนมหาศาลขนาดนั้นมาจ่ายให้ฝรั่งเศสได้ภายใน ๔๘ ชั่วโมงได้อย่างไร เสนาบดีพระคลังมหาสมบัติถวายรายงานว่าจำนวนเงินในท้องพระคลังไม่เพียงพอกับจำนวนที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง แต่แล้วมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้ทูลเตือนให้ทราบถึงเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งก็คือเงินถุงแดงของรัชกาลที่ ๓ ที่สมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ยังไม่ได้นำออกมาใช้ “เงินถุงแดง” จึงถูกขนออกมาสมทบ
เงินเหรียญเม็กซิโกมีอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นอยู่ที่ ๔๘ เหรียญต่อ ๘๐ บาท หรือ ๑ ชั่ง เงิน ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาท จึงเป็นเงินที่ไทยต้องจ่ายให้ฝรั่งเศส ๙ แสน ๖ หมื่นเหรียญเม็กซิโก แม้จะนำเงินถุงแดงมารวมกับเงินพระคลังมหาสมบัติ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางและข้าราชบริพารที่พากันลุ้นระทึกก็ไม่นิ่งนอนใจ ต่างพากันค้นเงินทองเพชรนิลจินดาจนเกลี้ยงบ้านเกลี้ยงวัง นำไปขายแลกเป็นเงินเหรียญนกมาสมทบ ปรากฏว่าจากการร่วมมือร่วมใจกันในครั้งนี้ ได้เงินรวมถึง ๔ ล้าน ๕ แสนฟรังก์ เกินกว่าที่ฝรั่งเศสเรียกร้องเสียอีก และนำไปจ่ายให้ฝรั่งเศสตามกำหนดเวลา รักษาเอกราชของชาติไว้ได้ โดยขนออกทางประตูต้นสนไปลงเรือที่ท่าราชวรดิฐกันทั้งวันทั้งคืน กล่าวกันว่าทำให้ถนนมีรอยสึกเพราะน้ำหนักของเงินเหรียญจำนวนมาก ในเอกสารฝรั่งเศสกล่าวว่า เงินที่ขนใส่เรือในครั้งนี้มีน้ำหนักถึง ๒๓ ตัน
ในยุคปัจจุบัน ถ้าประเทศชาติมีเรื่องคับขัน จะมีคนร่วมมือร่วมใจกันแบบนี้บ้างไหมหนอ
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน