จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย พชร ธนภัทรกุล
“ต้าถง” (大同เสียงจีนกลาง) ตำราบทหนึ่งของขงจื๊อบันทึกว่า “กง (公เสียงจีนกลาง) หมายถึงทรัพย์สินของคนหมู่หนึ่ง ซือ (司เสียงจีนกลาง) หมายถึงดำเนินการ”
เป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำ กง และ ซือ สองคำนี้รวมกันได้คำว่า กงซือ (公司เสียงจีนกลาง) มีความหมายว่า การจัดการทรัพย์สินกองกลางของคนหมู่หนึ่ง ซึ่งในเสียงแต้จิ๋วคือ กงซี
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้นิยามคำ กงสี ไว้ว่า
“น. ของกองกลางที่ใช้รวมกันสำหรับคนหมู่หนึ่ง ๆ หุ้นส่วน บริษัท. (จ. กงซี ว่า บริษัททำการค้า, กิจการที่จัดเป็นสาธารณะ)“
คำอธิบายในเครื่องหมายนขลิขิตต่อท้ายนิยามคำ กงสี บอกให้รู้ว่า เป็นคำยืมจากคำจีน
หากเอาความหมายตามคำจีนคำนี้ ก็อาจนิยาม “การกินกงสีของชาวจีน” ได้ว่า คือการกินอยู่กับบริษัท หรือบริษัทจัดหาอาหารให้ลูกจ้างพนักงาน
สมัยก่อน ชาวจีนที่มีบริษัทห้างร้าน ที่มีลูกจ้างคนานทำงานอยู่ด้วย ทางบริษัทห้างร้านจะเป็นผู้จัดหาทั้งข้าวทั้งกับพร้อมสรรพให้ลูกจ้างคนงานได้กินกัน อย่างนี้ คนแต้จิ๋วเรียกว่า เจียะกงซี (食公司เสียงแต้จิ๋ว) หมายถึงกินข้าวของบริษัทห้างร้าน หรือกินกงสีนั่นแหละ
สมัยที่ผมยังช่วยอาม่าหาบปลาเข่งขายอยู่ย่านถนนทรงวาด ทุกครั้งที่แวะขายปลาให้ร้านโกดังข้าวสารเจ้าประจำ เถ้าแก่เนี้ยจะออกมาซื้อปลาเข่ง แล้วเอาขึ้นโต๊ะให้ทุกคนได้กินกันเดี๋ยวนั้นเลย เห็นชัดเลยว่า เถ้าแก่กินอะไร ลูกจ้างคนงานก็กินอย่างนั้น ภาพเถ้าแก่นั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกับลูกจ้างคนงานเป็นภาพที่ผมเห็นจนชินตา การที่ทุกคนมากินข้าวพร้อมกัน มันประหยัดทั้งข้าวและกับข้าว แถมยังมีบรรยากาศร่วมทุกข์ร่วมสุขให้ซาบซึ้งใจด้วย
ความจริง การกินกงสีมีมาก่อนจะมีบริษัทห้างร้านเสียอีก เมื่อก่อน ชาวจีนมักมีครอบครัวขนาดใหญ่ มีสมาชิกอยู่ร่วมกันหลายคนมาก การให้ทุกคนมากินข้าวพร้อมกัน จึงเป็นวิธีดีที่สุดที่จะประกันให้ทุกคนในบ้านได้กินอิ่ม พร้อมประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปในตัวด้วย ดังนั้น การมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน กินข้าวด้วยกัน จึงเป็นกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติวิสัยในครอบครัวชาวจีน
แต่การนิยามว่า กินกงสี คือการกินกับบริษัทห้างร้าน อาจให้ความหมายแคบไป เพราะความหมายเดิมของคำนี้คือ การจัดการทรัพย์สินกองกลางของคนหมู่หนึ่ง
ตามนัยนี้ เนื้อหาของการกินกงสี คือการตั้งเงินกองกลางขึ้นก้อนหนึ่ง โดยหัวหน้าครอบครัว ซึ่งมักเป็นพ่อหรือสามี แต่อาจเป็นใครก็ได้ จะเป็นเสาหลักรับผิดชอบ “ค่ากินอยู่” ของทั้งคนบ้าน ส่วนคนอื่นๆที่มีรายได้ ก็มีหน้าที่ “ช่วยกันออกค่าใช้จ่าย” จะมากจะน้อยก็ว่ากันไปตามฐานะรายได้และความรับผิดชอบของแต่ละคน แลดูคล้ายมีกรอบธรรมเนียมที่มองไม่เห็น ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามกรอบอยู่ โดยที่ไม่อาจบิดพลิ้วเกี่ยงงอนกันได้ เพราะถ้าใครทำเช่นนั้น จะถูกมองว่า ไม่รู้หน้าที่ และไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวร่วมกัน
เงินกองกลางก้อนนี้ คือค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้าน รวมทั้งค่าอาหารสามมื้อของทุกคนด้วย โดยมีแม่บ้านถือเงินก้อนนี้ไว้ แม่บ้านมักเป็นคนที่ทุกคนนับถือเกรงใจ และมักต้องรับหน้าที่นี้ตามฐานะบทบาทในบ้านโดยตรงอยู่แล้ว โดยทั่วไป แม่มักเป็นแม่บ้าน แต่ถ้าบ้านใดมีลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้คนโตก็ต้องรับหน้าที่แม่บ้านแทนแม่สามี ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละครอบครัวว่า จะให้ใครเป็นแม่บ้าน บางครั้งอาจเป็นย่าเป็นยายก็ได้ ยกเว้นลูกสาวที่ออกเรือนไปมีครอบครัวใหม่แล้ว เช่น นางหวางซีฟ่ง (王熙凤เสียงจีนกลาง) ในวรรณคดีเรื่อง ความฝันในหอแดง ต้องทำหน้าที่แม่บ้านในฐานะเป็นหลานสะใภ้คนโตของตระกูลเจี่ย ในครอบครัวผม แม่ทำหน้าที่แม่บ้านมาตลอด จนแม่ล้มป่วย ยายก็มาทำหน้าที่นี้แทน
แม่บ้านมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจใช้จ่ายจากเงินกองกลางนี้ ตั้งแต่จัดซื้อของใช้ต่าๆในบ้าน จ่ายตลาดซื้อและทำอาหารให้ทุกคนในบ้าน โดยต้องจัดการกับเงินกองกลางนี้ให้เหมาะสม ให้พอกับค่าใช้จ่ายทุกอย่างในแต่ละเดือน จึงต้องมีความรับผิดชอบสูงด้วย
นี่เป็นความหมายหนึ่งของการกินกงสี คือใช้จ่ายจากเงินกองกลางก้อนเดียวกัน หรือพูดง่ายๆคือ กินข้าวหม้อเดียวกันนั่นแหละ
ความหมายที่สองของการกินกงสี คือ การแบ่งปันอาหารกินด้วยกัน ซึ่งทำให้ผมนึกถึงคำจีนอีกคำที่มีเสียงใกล้เคียงกัน จนอาจออกเสียงเป็นคำไทยว่า กงสี ได้ นั่นคือ
ก้งสิก (共食เสียวกวางตุ้ง) แปลว่า แบ่งปันกันกิน หรืออาจแปลว่า กินข้าวด้วยกัน ก็ได้ เช่น คนในครอบครัวนั่งกินข้าวด้วยกัน หรือเพื่อนฝูงพบปะกินข้าวด้วยกัน หรือนงานเลี้ยงโต๊ะจีน ใช้คำนี้ได้หมด แต่ทั้งหมดต้องเป็นการกินที่แบ่งปันอาหารบนโต๊ะร่วมกัน
การกินกงสีในความหมายที่สองนี้ จึงเป็นการกินข้าวด้วยกัน และแบ่งปันอาหารกัน
การกินกงสี ใช่ว่าจะมีกรอบธรรมเนียมบังคับเข้มงวดตายตัว จริงอยู่ที่ทุกคนควรพยายามกลับบ้านมาให้ทันกินข้าวพร้อมกัน แต่กรอบธรรมเนียมนี้ก็ยืดหยุ่นได้ เช่น ถึงเวลากินข้าวแล้ว ผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือคนสำคัญในบ้าน ยังกลับมาไม่ถึงบ้าน ทุกคนมีหน้าที่ต้องรอ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ติดธุระ อาจมากินข้าวด้วยกันช้าหน่อย อย่างนี้ก็ให้ทุกคนกินกันก่อนได้เลย กินไปรอไป แต่ถ้ามีเหตุจำเป็น กลับมาไม่ทันเวลากินข้าวจริงๆ แม่บ้านต้องแบ่งกับข้าวส่วนหนึ่งเก็บไว้ให้เต่างหาก ไม่ใช่กินเหลือไว้ให้ อีกอย่างเมื่อมีอาหารกงสีที่บ้านแล้ว ก็ไม่ควรมีใครต้องซื้ออาหารนอกบ้านกินอีก นี่คืออีกนัยหนึ่งของการแบ่งปันอาหาร
กรอบธรรมเนียมการกินกงสีที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ทำให้ทุกคนรู้จักทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ความยืดหยุ่นของกรอบธรรมเนียมนี้ กลับสอนให้ทุกคนรู้รักสามัคคีและมีน้ำใจเผื่อแผ่แบ่งปันกันและกันด้วย ซึ่งต่างจากการให้ของใช้เหลือกินเหลือ ที่เราไม่ต้องการแล้วแก่ผู้อื่น แต่เป็นการเผื่อแผ่ให้ในขณะที่เรายังต้องการสิ่งนั้นอยู่
ชาวจีนจึงสอนลูกสอนหลานว่า เวลามีกินให้นึกถึงคนที่ยังไม่ได้กินหรือไม่มีกิน โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว
ประโยชน์ของการกินกงสี
ชาวจีนกินกงสีกันเป็นกิจวัตรประจำวัน เมื่อไม่ใช่งานเลี้ยงรวมญาติในวันตรุษจีนปีใหม่ หรือการกินข้าวนอกบ้านเนื่องในวาระโอกาสสำคัญ ดังนั้น แต่ละมื้อจึงไม่จำเป็นต้องเป็น “มื้อแพงมื้อหรู” แค่อาหารธรรมดาที่ใช้เป็น “กับ” ได้ก็พอแล้ว
นอกจากนี้ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน การกินกงสีด้วยการซื้ออาหารสดมาทำเอง จะช่วยให้ได้อาหารมากกว่าทั้งชนิดและปริมาณ และมีคุณภาพดีกว่า ทั้งมั่นใจได้ว่า สดสะอาดกว่า ถูกสุขอนามัยกว่า และทุกคนมีหลักประกันว่า ได้กินดีกินอิ่มกันถ้วนหน้า ไม่มีใครถูกปล่อยให้หิว นี่คือผลพลอยได้ในแง่ประหยัดและก่อประโยชน์ของการกินกงสี
นอกจากนี้ ยังทำให้ทุกคนในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน มีโอกาสได้พูดคุยกัน ชาวจีนไม่ถือว่า การพูดคุยกันในระหว่างกินข้าว เป็นเรื่องเสียมารยาท ตรงข้ามกลับมองเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศการกินที่ดี และเป็นโอกาสที่ทุกคนในครอบครัวจะได้พูดคุยบอกเล่าสาระทุกข์สุขดิบ และนำเรื่องราวต่างๆที่ตัวเองเจอะเจอมาเบ่าสู่กันฟังได้ จนถือเป็นวัฒนธรรมการกินของครอบครัวชาวจีนไป
Romain Rolland นักเขียนและนักวิจารณ์งานดนตรีชาวฝรั่งเศสในต้นศตวรรษที่ 20 มีวรรคทองของเขาว่า “ความสุขคือกลิ่นหอมอย่างหนึ่งของจิตวิญญาณ”
ครอบครัวชาวจีนก็คงอบอวลด้วยกลิ่นหอมอันเป็นความสุขที่ได้จากการกินกงสีด้วยมื้ออาหารธรรมดาๆในแต่ละวัน เพราะมื้อกงสี คือ มื้อแห่งความสุข
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน