จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย: โรม บุนนาค
บรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งในการขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ และเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับประเทศที่มีระบอบกษัตริย์มาแต่โบราณกาล รูปแบบการประกอบพิธีในประเทศที่อยู่ย่านเดียวกันก็คล้ายๆกัน เหมือนมาจากแหล่งวัฒนธรรมเดียวกัน จะแตกต่างกันไปบ้างตามคติความเชื่อของแต่ละประเทศ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า พระราชพิธีนี้ ตะวันออกและตะวันตกต่างกันอย่างมาก
คำว่า บรมราชาภิเษก มาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก ซึ่ง อภิเษก แปลว่า รดน้ำ
ส่วนทางตะวันตก การขึ้นครองราชย์จะใช้คำว่า CORONATION ซึ่งมาจากคำว่า โคโรนา หมายถึงมงกุฎแห่งชัยชนะ ความสำคัญของพิธีจึงอยู่ที่การสวมมงกุฎ ไม่มีการรดน้ำ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของตะวันออก แม้จะมีการสวมมงกุฎ แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนที่สำคัญ แม้จะมีพระมหาพิชัยมงกุฎเป็น ๑ ใน ๕ ของ “เบญจราชกกุธภัณฑ์” ที่ต้องถวายในพิธีบรมราชาภิเษกก็ตาม แต่เมื่อทรงรับการถวายมาแล้ว ก็จะวางไว้ข้างพระองค์ ไม่ได้ทรงรับมาสวม ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเปิดประเทศต้อนรับชาติตะวันตก มีทูตานุทูตของประเทศในยุโรปมาร่วมในพระราชพิธีหลายประเทศ จึงทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ไม่ได้วางไว้อย่างแต่ก่อน แต่ความสำคัญยังอยู่ที่น้ำเช่นเดิม
น้ำที่ใช้ในพิธีเรียกว่า น้ำมูรธาภิเษก มาจากคำว่า มูรธา + อภิเษก ซึ่งมูรธาแปลว่า พระเศียร น้ำมูรธาภิเษกจึงหมายถึงน้ำรดพระเศียรนั่นเอง
น้ำที่เป็นมงคลยิ่งนี้ จึงต้องนำมาจาก แหล่งที่มีความหมายเป็นมงคล ทั้งยังรวบรวมมาจากหลายแห่งด้วย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากน้ำในสระเกศ สระแก้ว สระคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เนิ่นนานมาจนไม่ทราบว่าเหตุใดจึงใช้น้ำในสระทั้ง ๔ นี้เป็นน้ำสำคัญในพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปทอดพระเนตรและทรงมีพระราชหัตถ์เลขาไว้ว่า
“...แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…”
ตามตำราโบราณของพราหมณ์ น้ำมุรธาภิเษกจะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมทิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งแม่น้ำทั้ง ๕ ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่ซึ่งศาสนาพราหมณ์และฮินดูถือว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร แม้ไทยจะรับวัฒนธรรมราชาภิเษกมาจากอินเดียก็ตาม แต่การนำน้ำปัญจมหานทีมาใช้จึงเป็นเรื่องพ้นวิสัย เพราะตามธรรมเนียมแต่เดิม กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องทำพิธีราชาภิเษกภายใน ๗ วัน หรืออย่างช้าภายในเดือนเศษ และต้องทำพิธีบรมราชาภิเษกก่อนที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์พระองค์ก่อน
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นอกจากจะใช้น้ำจากแหล่งเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังนำน้ำจากแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” อนุโลมตามตำราพราหมณ์ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป โดยตักมาจากแม่น้ำ ๕ สายในพระราชอาณาจักร ดังนี้
๑. น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี
๒. น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม
๓. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง
๔. น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี
๕. น้ำในแม่น้ำบางประกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก
โดยน้ำแต่ละแห่งจะตั้งพิธีเสก ณ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีต่อที่พระนคร
แหล่งน้ำมุรธาภิเษกในรัชกาลที่ ๑ นี้ ได้ใช้เป็นน้ำในพระราชพิธีในรัชกาลต่อๆมา จนสมัยรัชกาลที่ ๔พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงมูรธาภิเษก เพิ่มขึ้นอีกอย่าง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ก็ใช้น้ำเบญจสุทธิคงคา และน้ำ ๔ สระจากเมืองสุพรรณบุรี เป็นน้ำมูรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับที่เคยใช้ในรัชกาลก่อนๆ ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดียในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงได้นำน้ำปัญจมหานทีที่มีการบันทึกในตำราของพราหมณ์ กลับมายังประเทศสยามด้วย และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ จึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระทั้ง ๔ ของเมืองสุพรรณบุรี
ในรัชกาลที่ ๖ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงใช้น้ำมูรธาภิเษกและน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ นอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานที และน้ำทั้ง ๔ สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นๆและแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล มาตั้งทำพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักของมหานครโบราณ ๗ แห่ง ได้แก่
๑.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ ทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท โดยใช้น้ำสรงรอยพระพุทธบาท ทำพิธีเสกน้ำด้วย โดยถือว่าพระพุทธบาทสระบุรี เป็นปูชนียสานสำคัญในมณฑลที่เป็นที่ตั้งของเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา
๒. น้ำที่ทะเลแก้วและสระแก้ว เมืองพิษณุโลก และน้ำจากสระสองห้อง ทำพิธีที่พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นปูชยสถานสำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
๓. น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังโพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ทำพิธีในวิหารวัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญมาแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้าสมัยกรุงสุโขทัย
๔. น้ำในแม่น้ำนครชัยศรี ที่ตำบลบางแก้ว น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ ทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดี
๕. น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ไปตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของนครศรีธรรมราช
๖. น้ำที่บ่อทิพย์ นครลำพูน ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่
๗. น้ำที่บ่อวัดพระธาตุพนม ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองโคตรบูรณ์ในสมัยโบราณ
นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก ๑๐ มณฑล คือ
๑. วัดบรมธาตุ และวัดธรรมามูล เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์
๒. วัดโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี
๓. วัดพระนารายณ์มหาราช เมืองโคราช มณฑลนครราชสีมา
๔. วัดศรีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
๕. วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี
๖. วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร
๗. วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี
๘. วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต
๙. วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์
๑๐. วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี
รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษก ๑๗ แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อมา
สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม ๑๘ แห่ง ซึ่งสถานที่ตั้งทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ได้ใช้สถานที่เดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ ๖ เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่ พระลานชัย เมืองร้อยเอ็ด
ในรัชกาลที่ ๙ ได้นำน้ำตามมณฑลต่างๆ ๑๘ แห่ง เช่นเดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกจากมณฑลมาเป็นจังหวัดตามระบบการปกครองใหม่ และเปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาตักน้ำบ่อแก้วและทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดน่านแทน
ในรัชกาลที่ ๑๐ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน ๑๐๗ แห่งตามโบราณราชประเพณี และทำพิธีพร้อมกันในวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ โดยตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด ๗๖ แห่ง ในวันที่ ๘ เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ ๙ เมษายน
จากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด มาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร (จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ในวันที่ ๑๘ เมษายน
ในวันที่ ๑๙ เมษายน จึงแห่เชิญน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด รวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ ๔ สระในจังหวัดสุพรรณบุรี จากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลนี้ จึงมี ๑๐๘ แห่ง จากสถานที่ทำน้ำอภิเษก ๗๖ จังหวัด รวมกับน้ำจากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร อีกแห่ง ก็จะเป็น ๗๗ จังหวัดครบถ้วนในพระราชอาณาจักร
การนำน้ำมาจากแหล่งต่างๆทั่วทุกมณฑลในประเทศ อาจมีความหมายถึงการใช้น้ำเป็นสื่อถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์อย่างพร้อมเพรียงทั่วพระราชอาณาจักร
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน