จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย ธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงนี้หากผู้อ่านติดตามข่าวเศรษฐกิจ จะเห็นคนพูดถึงปรากฏการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น หรือที่เรียกว่า “inverted yield curve” ที่เกิดขึ้นกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดนักวิเคราะห์และนักลงทุนจึงให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ inverted yield curve
Inverted yield curve คืออะไร ?
ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า yield curve คือ เส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (yield) กับอายุคงเหลือของพันธบัตร (maturity) ในภาวะปกติพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะยาวกว่า จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากการลงทุนในระยะยาวมีความเสี่ยงโดยรวมมากกว่า จากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า เช่น ความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี inverted yield curve อาจเกิดขึ้นได้ในบางช่วงเวลา ในวงการตลาดการเงิน นักลงทุนมักจะติดตามเหตุการณ์นี้ โดยดูส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และอายุ 2 ปี (2Y-10Y spread) โดยหากมีค่าติดลบแสดงว่า เกิด inverted yield curve ขึ้น
เหตุใดจึงต้องจับตามองภาวะดังกล่าว ?
เนื่องจากที่ผ่านมา inverted yield curve มักเกิดก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลง หรือเศรษฐกิจถดถอย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นมาก และสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และส่งผลให้ yield ของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ หากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรขาขึ้นแล้ว หรือมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย นักลงทุนจะคาดการณ์ว่าในระยะต่อไป ธนาคารกลางจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะย้ายการลงทุนไปเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว
เพื่อล็อกผลตอบแทนสูงไว้ให้นานที่สุด ก่อนที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการที่นักลงทุนเน้นลงทุนในพันธบัตรระยะยาวจะกดดันให้ yield พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลง จนทำให้ yield พันธบัตรระยะยาวน้อยกว่าระยะสั้น จนเกิด inverted yield curve ได้
Inverted yield curve จึงเป็นสัญญาณเตือนจากมุมมองของนักลงทุนที่ชี้ว่า เศรษฐกิจอาจหดตัวได้ในอนาคต โดยในอดีตที่ผ่านมา inverted yield curve สามารถพยากรณ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หลายครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของสหรัฐ โดยหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา พบว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 1 ถึง 2 ปี หลังจากเกิด inverted yield curve
อย่างไรก็ดี inverted yield curve เคยให้ค่าเตือนที่ผิดพลาดเช่นกัน (false signal) เช่น ในปี 1982 และ 1998 ที่แม้จะเกิด inverted yield curve แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยตามมาในช่วงนั้น ดังนั้นแม้ว่าในปัจจุบัน ค่า 2Y-10Y spread ของพันธบัตรสหรัฐ ยังเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 0.2 และมีโอกาสที่จะเกิด inverted yield curve ขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ที่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จึงส่งผลให้ความต้องการล็อกผลตอบแทนในระยะยาวลดลง
โดยประสบการณ์ในอดีตสะท้อนว่า ความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นปี 2563 หรือ 2564 แต่เราจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐประกอบด้วยว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐต่างบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังสามารถขยายตัวได้ เพียงแต่ในอัตราที่ชะลอลง จึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่คลี่คลายขึ้นที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไปปรับดีขึ้นได้
โดยสรุปแล้ว inverted yield curve เป็นสัญญาณที่ต้องจับตามอง แต่ภาวะดังกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้เศรษฐกิจถดถอยเสมอไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ประกอบด้วย
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน