จากประชาชาติธุรกิจ
หนึ่งในเสียงบ่นของผู้บริโภคที่รับชมทีวีดิจิทัล หนีไม่พ้นเรื่องการมีรายการ “ทีวีช็อปปิ้ง” เกลื่อนจอ ปัญหานี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดในรายงานวิเคราะห์พฤติกรรมการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเองของ กสทช. ได้มีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์ “การให้บริการทีวีช็อปปิ้ง : เครื่องมือในการแข่งขันของผู้ประกอบการจริงหรือ ??” โดย “กรรณิการ์ สุวรรณมณี” เศรษฐกรปฏิบัติการระดับต้น สำนักงาน กสทช. โดยได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อกฎหมายในการกำกับดูแล “ทีวีช็อปปิ้ง” ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่ง “Ofcom” The Office of Communications หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งสหราชอาณาจักร ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการออกอากาศโฆษณาทางโทรทัศน์ “COSTA” (Code on the Scheduling of Television Advertising)
ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนิยาม การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง คือ “การจำกัดช่วงเวลาโฆษณา” ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และประกาศ กสทช. อาทิ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการ หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการโดยการออกอากาศ television advertising และ teleshopping ในช่องบริการธุรกิจ ในส่วนของ กสทช. หากเป็นกิจการที่ใช้ “คลื่น” ให้หารายได้จากโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาที และเฉลี่ยต่อวันไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที
หาก “ไม่ใช้คลื่น” ให้โฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที และเฉลี่ยต่อวันต้องไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที
ส่วน Ofcom ให้ออกอากาศเนื้อหากลุ่มนี้ได้ ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาที ถ้าเป็น television advertising ไม่เกิน 9 นาที
แต่ทั้ง กสทช. และ Ofcom ยังไม่มีกำหนดการกำกับ teleshopping windows ในช่องบริการธุรกิจ แต่ในช่องสาธารณะ Ofcom อนุญาตเฉพาะเวลา 24.00 น. ถึง 06.00 น.
ส่วน “กสทช.” ไม่อนุญาตให้ช่องสาธารณะหารายได้ด้วยการโฆษณา ยกเว้น “กรมประชาสัมพันธ์”โฆษณาได้ไม่เกินละ 8 นาทีต่อชั่วโมง และเฉลี่ยวันละ 6 นาทีต่อชั่วโมง ส่วน “ททบ.5” โฆษณาได้ไม่เกินละ 10 นาทีต่อชั่วโมง และเฉลี่ยวันละ 8 นาทีต่อชั่วโมง
ด้าน “Ofcom” ให้เฉลี่ยวันละไม่เกิน 7 นาทีต่อชั่วโมง แต่ช่วง 18.00 น. ถึง 23.00 น. เฉลี่ยไม่เกิน 8 นาทีต่อชั่วโมงการที่กฎหมายไทยยังไม่มีการจำกัด
ช่วงเวลาออกอากาศของรายการทีวีช็อปปิ้งที่ชัดเจน ส่งผลให้มีระยะเวลาในการออกอากาศเนื้อหากลุ่มนี้มากขึ้น แม้จะไม่ขัดกับประกาศ กสทช. ที่กำกับการแข่งขันโดยตรง แต่ช่องที่มีทีวีช็อปปิ้งย่อมมีแนวโน้มที่จะหารายได้และกำไรได้มากกว่า แต่ก็อาจกระทบกับผู้ประกอบการไปพร้อมกัน ด้วยต้องลดเวลารายการข่าวสารสาระ ทำให้ผู้บริโภคเบื่อหน่ายจนเปลี่ยนไปรับชมช่องรายการอื่นแทน ก็จะย้อนมาที่ “เรตติ้ง” และรายได้ของช่องที่มีทีวีช็อปปิ้งมาก
ดังนั้น การตัดสินใจเพิ่มเวลาการออกอากาศทีวีช็อปปิ้ง ผู้ประกอบการควรพิจารณาทั้งผลบวกและลบ ทั้งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องใช้บริบทของกฎหมายในการออกข้อกำหนดเพื่อกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน