จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ผู้สันทัดกรณีและผู้ที่ติดตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของโลกมาตลอดปี 2019 ลงความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกตลอดปีที่ผ่านมาตกอยู่ในภาวะอีนุงตุงนังจากสารพัดปัจจัยและสารพัดเหตุการณ์ในเชิงลบ
คำถามที่ค้างคาอยู่ในใจทุกคนในยามนี้จึงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ถึงปีหน้าฟ้าใหม่ สภาพที่ว่านั้นจะกระเตื้่องขึ้นหรือย่ำแย่ลง มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกจะสามารถโงหัว ฟื้นตัวจากสภาพเมาหมัดของปีที่ผ่านมา
คำตอบอย่างง่ายที่อ้างอิงกันในเวลานี้ก็คือ โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะพลิกฟื้นขึ้นมายืนอยู่บนเส้นทางเติบโตแข็งแกร่งอย่างที่ทุกคนอยากเห็นนั้น มีโอกาสน้อยยิ่งกว่าน้อย
ตัวเลขการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าจากสารพัดองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีหน้าทั้งปี เศรษฐกิจโลกจะโตกว่าที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
องค์การความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ยืนยันเอาไว้ในรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนที่แล้วว่า การค้าระหว่างประเทศที่อ่อนแอลง การลงทุนที่หดหายไปเกือบหมดในช่วง 2 ปีหลังมานี้ และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งโลกขยายตัวเพียง 2.9%
นั่นเป็นระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008-2009 ปีแห่งวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐอเมริกาเรื่อยมา
ในการมองภาพที่กว้างออกไปมากกว่านั้น นักวิชาการของโออีซีดีเชื่อว่า นโยบายในเชิงรุกที่บรรดาธนาคารกลางของประเทศทั้งหลายประกาศใช้ออกมา จะถูกสกัด เตะถ่วง ถูกชะลอจากรัฐบาล ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่อีก 2 ด้าน พร้อม ๆ กันในปีหน้า
หนึ่ง คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ภาวะโลกร้อน อีกหนึ่ง คือ การไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมมนุษย์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค อย่างชนิดพลิกโฉม
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์สถานการณ์ในเชิงบวกมากกว่าเล็กน้อย ทำนายว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% แม้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างทั่วถึง ในประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 90% ของโลกก็ตามที
การเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คาดการณ์ได้ยากที่สุด สำหรับทิศทางในอนาคตของภาวะเศรษฐกิจโลก
ปีหน้าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ จะชี้ชะตาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม ประชานิยมของตน ในต้นเดือน พ.ย.
ในขณะที่ในปีที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งในอังกฤษ ส่งผลให้ บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีเสียงสนับสนุนจากสภาสามัญอยู่ในมือสูงมาก จน “เบร็กซิต” หรือไม่ ไม่ใช่ข้อกังขาอีกต่อไป
ปัญหาอยู่ที่จะเป็น “ฮาร์ดเบร็กซิต” หรือ “ซอฟต์เบร็กซิต” เท่านั้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกทั้งสิ้น ตัวอย่าง เช่น ในกรณีของทรัมป์นั้น ลูโดวิช ซูบราน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำอลิอันซ์ ยักษ์ใหญ่วงการประกันภัยของเยอรมนี เชื่อว่า หากทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ก็จะ “เพิ่มเดิมพันในสงครามการค้ากับจีน ขึ้นอีกเป็น 2 เท่า” เป็นต้น
นักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีทางเศรษฐศาสตร์จึงมองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2020 นี้ ไม่น่าจะมีวิกฤตการณ์ในเชิงระบบเกิดขึ้น แต่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาซึ่งส่งผลกระทบใหญ่โตและลุกลามออกไปทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาของระบบเหมือนวิกฤตการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา
แต่เป็นปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆที่สามารถส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง ซ้ำเติมเข้ากับภาวะชะลอตัวที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว เช่น ปัจจัยทางการเมือง เป็นต้น
พ้นจากเรื่องการเมือง เงื่อนปมสำคัญยังเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ไม่หยุดรอใคร การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลก็ดี การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคอิเล็กทริกโมบิลิตี้ ที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ไม่ใช่พลังงานสกปรกจากฟอสซิลก็ดี ล้วนดาหน้าเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในทุก ๆ อุตสาหกรรม
การผูกขาดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการกระจายความมั่งคั่งอย่างรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างไร มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในปี 2019 ที่ผ่านมา
ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง ไปจนถึงในประเทศชิลี
หากไม่ถูกหยิบมาพินิจพิเคราะห์ มาคำนึงถึงในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเมื่อใด ความเสี่ยงก็มาเยือนเมื่อนั้่น !
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน